สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

โปแลนด์เป็นเพื่อนบ้านทางตะวันตกของยูเครน และทันทีที่รัสเซียส่งทหารเข้าไปในยูเครนเมื่อกว่า 2 ปีก่อน ผู้คนที่ต้องการจะหนีสงครามและความวุ่นวายก็เห็นโปแลนด์เป็นเส้นทางการหลบลี้หนีภัย

อีกทั้งฝ่ายตะวันตกที่ต้องการจะช่วยเหลือยูเครนก็ใช้โปแลนด์เป็น “ทางผ่าน” ไม่ว่าจะเป็นการส่งอาวุธ การเดินทางเข้าออก และการเชื่อมต่อกับภารกิจด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจทั้งหลายทั้งปวง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศ กองทัพ และสภากาชาดไทยได้ส่งความช่วยเหลือชุดแรกเข้าไปในดินแดนพม่า ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

เรียกเส้นทางนั้นว่า “ระเบียงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม”

โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของอาเซียน ที่จะปูทางไปสู่การหาทางสงบศึก ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยากลำบากและเต็มไปด้วยขวากหนามอีกมากมาย

แต่สำหรับไทยที่มีพรมแดนติดกับพม่ากว่า 2,400  กิโลเมตร และได้รับผลกระทบหนักที่สุดจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องทำอะไรหลายอย่างเพื่อทำให้สถานการณ์ฝั่งตรงข้ามกับเรามีความปกติที่สุดเท่าที่จะทำได้

การส่งความช่วยเหลือชุดแรกข้ามไปฝั่งพม่าของสภากาชาดไทย ที่ทำงานร่วมกับกองทัพและกระทรวงการต่างประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะชายแดนบริเวณนั้นมีความซับซ้อน แม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันก็ไม่ได้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีเรื่องระหองระแหงกันอย่างต่อเนื่อง

ทำให้เจ้าหน้าที่ฝั่งไทยที่มีความคุ้นเคยและมีการติดต่อกันเป็นประจำต้องทำหน้าที่เป็น “ผู้ไกล่เกลี่ย" ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และทหารของรัฐบาลเป็นประจำ

จึงหนีไม่พ้นที่การส่งความช่วยเหลือเข้าไปให้กาชาดพม่าเป็นผู้ประสานนั้น จะถูกมองจากบางกลุ่มว่าอาจทำให้ความช่วยเหลือเพื่อการอุปโภคและบริโภคนั้นตกไปอยู่ในมือของฝ่ายกองทัพพม่า

ซึ่งก็อาจถูกกล่าวหาได้ว่า ไทยเราไปสนับสนุนฝ่ายปราบปรามประชาชนไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

รัฐบาลไทยจึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้กลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาในกรณีนี้

แต่ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศและกองทัพไทยก็มีเหตุผลที่จะเดินหน้ากับโครงการนี้ เพราะหากไม่ทำอะไรเลย ชาวพม่าทั้งฝ่ายรัฐบาลทหารและฝ่ายต่อต้านก็จะหนีเข้ามาในไทยมากขึ้น

กลายเป็นภาระหนักอึ้งที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีทางออกในอนาคตอันใกล้นี้แต่อย่างใด

อาจารย์สุรชาติจึงเสนอให้ไทยเร่งแสดงบทบาท 2 อย่าง คือ 1.ตั้งสถานีมนุษยธรรม เป็นผู้นำการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างจริงจัง ในฐานะเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่สุดและมีบทบาทสำคัญที่สุด กับ

2.เป็น Peace Broker คือเป็นผู้นำเปิดเวทีสันติภาพเพื่อยุติสงครามกลางเมืองในพม่า

เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ แต่เป็นเรื่องที่ทำให้สำเร็จทั้งสองเป้าหมายได้ยากยิ่ง

แม้เป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งก็ยังถือว่าเป็นความท้าทายหนักหน่วง ที่ไม่อาจมองเห็นความสำเร็จในเร็ววันได้เลย

ในความเห็นของอาจารย์สุรชาติ ถ้าไทยทำสำเร็จจะช่วยฟื้นภาพลักษณ์ และงานการทูตไทยที่ซบเซาตกต่ำมานานในเวทีโลกให้กลับมาโดดเด่น

นำไปสู่การขยายบทบาทด้านอื่นๆ มากขึ้นในอนาคต

ยิ่งการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกลุ่มต่อต้านขยับมาใกล้ชายแดนไทยมากขึ้น ในพื้นที่ของชาวกะเหรี่ยงและกะเรนนี (ตรงข้ามจังหวัดตากและแม่ฮ่องสอนตามลำดับ)  ความเสี่ยงของไทยเราก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อีกด้านหนึ่ง สำนักข่าว “อิศรา” รายงานว่า พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของสงครามในพม่ายังถูกจับตาไปที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะตอนเหนือของรัฐฉานและรัฐภาคเหนือของพม่า คือ รัฐคะฉิ่น และรัฐชิน

โดยเฉพาะพื้นที่ของกลุ่ม Brotherhood Alliance หรือ “สามพันธมิตรภาคเหนือ” ที่เปิดปฏิบัติการ 1027 ไปเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566              

และสามารถยึดเมืองสำคัญได้หลายเมือง หนึ่งในนั้นคือ “เล่าก์ก่าย”

รายงานนี้อ้างถึง รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทำวิจัยภาคสนามในพม่ามาอย่างต่อเนื่อง

โดยให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมากลุ่มสามพันธมิตรภาคเหนือ มีการทำข้อตกลงที่เรียกว่า Haigeng Agreement (ข้อตกลงไห่เก็ง-เป็นข้อตกลงหยุดยิง) โดยมีจีนเป็นตัวกลางหลักในการประสานให้กองทัพ และกลุ่มสามพันธมิตรภราดรภาพได้พูดคุยเจรจากัน

แม้บางฝ่ายจะมองว่าข้อตกลงนี้มีอายุขัยเพียงสั้นๆ ก็ตาม แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ สาระหลักของข้อตกลงเรื่องพื้นที่ที่ถูกยึดครองโดยกลุ่มสามพันธมิตรภราดรภาพ ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของสามพันธมิตรต่อไป

โดยทหารพม่าต้องไม่ส่งกำลังเข้าไปในพื้นที่ครอบครอง

เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการเปิดด่านเพิ่มเติมในเขตพื้นที่ควบคุมของโกกั้งกับชายแดนจีน

โดยเฉพาะด่านที่มีชื่อว่า “ชินฉ่วยเหอ" (Chinshwehaw Border) ที่เมืองเล่าก์ก่าย

โดยกองกำลังโกกั้ง หรือ MNDAA ได้เฉลิมฉลองการเข้าควบคุมพื้นที่เดิมของตนเองด้วย

สำหรับกลุ่มสามพันธมิตรภราดรภาพ ประกอบด้วย  กองกำลังโกกั้ง หรือ MNDAA กองทัพปลดปล่อยชนชาติตะอาง หรือ TNLA และกองทัพอาระกัน หรือ AA

อาจารย์ฐิติวุฒิอธิบายต่อว่า พื้นที่สู้รบทางภาคเหนือที่มีการขยายเพิ่มเติม คือเขตอิทธิพลของกองทัพอาระกัน ซึ่งสามารถควบคุมพื้นที่ยุทธศาสตร์ได้มากขึ้น

โดยเป็นการประสานความร่วมมือกับกองทัพ KIA  หรือกองทัพเอกราชคะฉิ่น ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานในพื้นที่ของรัฐคะฉิ่น (อยู่ติดกับตอนเหนือของรัฐฉาน ติดชายแดนจีน) และอาระกัน จะกลายเป็นเขตควบคุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารได้เกิน 80%

นอกจากนั้น หากนับรวมพื้นที่ในรัฐชินด้วยแล้ว กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติชิน หรือ CNF ที่ควบคุมพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของพม่า จะกลายเป็นเขตสุญญากาศอำนาจอธิปไตยเหมือนกับพื้นที่บริเวณชายแดนจีน (รัฐฉานตอนเหนือ และคะฉิ่น)

ด้านชายแดนพม่าที่ติดกับอินเดียก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ต้องให้ความสนใจ

อาจารย์ฐิติวุฒิบอกว่า รัฐบาลอินเดียได้เริ่มสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตระดับท้องถิ่นกับกลุ่มกองกำลังในรัฐชินและอาระกัน

ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงท่าทีของอินเดียที่สำคัญมาก เพราะในอดีตอินเดียมีการรักษาความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเท่านั้น

แต่วันนี้อินเดียได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบ ทั้งจำนวนของผู้หลบหนีภัยสงคราม และความรุนแรงตามแนวชายแดน ทำให้อินเดียมีการปรับท่าทีและนโยบาย

ยิ่งเมื่อฝ่ายต่อต้านมีความได้เปรียบ สามารถควบคุมพื้นที่ยุทธศาสตร์ชายแดนได้เกือบทั้งหมด การตัดสินใจของรัฐบาลอินเดียในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่เท่าทัน จากการอ่านยุทธศาสตร์และประเมินแนวโน้มสถานการณ์ได้อย่างชัดเจน

ซึ่งก็เป็นไปตามแนวทางเดียวกับของจีน ที่มีการปรับนโยบายให้สามารถคบกับทุกฝ่ายที่เป็นคู่กรณีในพม่าได้...เพื่อผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก

นักวิเคราะห์คงจะตั้งคำถามถึงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทยในประเด็นนี้

เราจะเป็น Peace Broker คือ “คนกลางเพื่อสันติภาพ” และปกป้องผลประโยชน์ของเราในแนวทางเดียวกับอาเซียนได้อย่างไร?

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร