มิน อ่องหล่ายกับคิม จองอึน: จุดเชื่อมด้านอาวุธร้ายแรงที่น่ากังวล

ข่าวกรองว่าด้วยการขยับมาใกล้ชิดระหว่างเกาหลีเหนือกับพม่าโดยเฉพาะด้านการพัฒนานิวเคลียร์ทำให้สหรัฐฯอ้างว่าต้องเข้ามาเกาะติดเรื่องนี้

ปี 2009 วอชิงตันเริ่มแสดงความกังวลออกมาอย่างเป็นทางการ

ปี 2011 รัฐมนตรีต่างประเทศฮิลลารี คลินตันในขณะนั้นได้ย้ำประเด็นนี้ในคำแถลงในที่สาธารณะว่าด้วยความพยายามของเมียนมาในการจัดหาเทคโนโลยีทางทหารจากเกาหลีเหนือระหว่างการเยือนของเธอในปี

แต่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเน้นย้ำว่าวอชิงตันกังวลเรื่องการขายขีปนาวุธเป็นหลัก

โฆษกกล่าวว่า "เราไม่เห็นสัญญาณของความพยายามทางนิวเคลียร์จำนวนมากในขณะนี้"

แต่ฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐฯกับประเทศตะวันตกอื่น ๆ เริ่มจะเจาะลึกในประเด็นนิวเคลียร์ใกล้ชิดมากขึ้น

ข้อกล่าวหาประปรายเกี่ยวกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์ในเมียนมาเกิดขึ้นโดยกลุ่มผู้ติดตามเรื่องนี้บางกลุ่มและองค์กรพัฒนาเอกชนตลอดช่วงทศวรรษ 2010

 สิ่งที่น่าสังเกตมากที่สุดคือ สื่อ “เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า” ในปี 2010 อ้างถึงเอกสารและภาพถ่ายจากไซเต็ง วิน ผู้แปรพักตร์กองทัพพม่า

มาพร้อมกับข้อกล่าวหาว่ามีการฝึกอบรมที่โยงกับรัสเซีย และการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ใกล้มัณฑะเลย์และมาเกว

แต่เมื่อมีการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมอิสระจากสถาบันวิทยาศาสตร์และความมั่นคงระหว่างประเทศ (ISIS) ก็ได้การตีความอีกทางหนึ่งว่า

มันอาจจะเป็นโรงงานปูนซีเมนต์

เรื่องนี้ก็กลายเป็นดราม่าขึ้น ๆ ลง ๆ มาตลอด

และท่ามกลางความสงสัยอย่างต่อเนื่องนี่แหละที่เกิดการเยือนเมียนมาของประธานาธิบดีบารัค โอบามาในปี 2012

ในจังหวะนั้น เมียนมาปฏิเสธข่าวเรื่องความร่วมมือทางทหารใดๆ กับเกาหลีเหนือ

สำทับด้วยคำประกาศอย่างเป็นทางการว่าได้ยกเลิกแผนการวิจัยนิวเคลียร์ของตนแล้ว

ต่อมาเมียนมาได้ลงนามในเงื่อนไขเพิ่มเติมของ IAEA แห่งสหประชาชาติในปีต่อมา

แต่ข่าวกรองอีกหลายกระแสก็ยังยืนยันว่า SPDC หรือสภาบริหารของกองทัพพม่าที่มีอำนาจบริหารประเทศอย่างเบ็ดเสร็จยังคงพยายามสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัสเซียในปี 2014 และอีกครั้งในปี 2015

เป็นที่ยอมรับว่าความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับเกาหลีเหนือยังคงดำเนินต่อไป

รวมถึงข้อตกลงอาวุธกับเกาหลีเหนือในปี 2013 เอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำพม่า คิม ซก ชอล ถูกย้ายกลับในปี 2016 หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศเอาชื่อนักการทูตเกาหลีเหนือคนนี้ขึ้นบัญชีดำคว่ำบาตร

ด้วยข้อกล่าวหาการค้าอาวุธกับเมียนมาผ่านบริษัท Korea Mining Development Trading Corporation (โคมิด)

ทำให้มีการตอกย้ำว่าการค้าอาวุธของเมียนมากับเกาหลีเหนือก็ยังเกิดขึ้นอย่างน้อยจนถึงปี 2016

ปีเดียวกันนนั้น เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในพม่า

รัฐบาลเผด็จการในเมียนมายอมให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยยอมให้มีการหวนคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยบางส่วน

ส่งผลให้อองซานซูจีและสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลขึ้น

ภายใต้พรรค NLD โครงการนิวเคลียร์ของเมียนมา และความกังวลระหว่างประเทศเกี่ยวกับความทะเยอทะยานดังกล่าวได้จางหายไป

เมียนมาลงนามในอนุสัญญาและพิธีสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมแทน

ตั้งแต่ปี 2017 เมียนมาได้มีส่วนร่วมในความพยายามคว่ำบาตรเกาหลีเหนือของสหประชาชาติ

แต่รายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติประจำปี 2018 ระบุว่าการค้าอาวุธระหว่างเมียนมาและเกาหลีเหนือยังคงมีอยู่ผ่าน KOMID แม้หลังจากปี 2017 ก็ตาม

หลังจากการรัฐประหารภายใต้การนำของมิน อ่องหล่ายในปี 2021 เกาหลีเหนือและรัฐบาลทหารเมียนมากลับมามีความสัมพันธ์อย่างเปิดเผยอีกครั้ง

ในเดือนกันยายน ปีที่แล้วนี่เอง Tin Maung Swe ได้รับมอบหมายให้เป็นเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำเกาหลีเหนือ

รายงานการใช้อาวุธเกาหลีเหนือโดยรัฐบาลทหารได้รับการยืนยันโดยสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วนี่เอง

นับตั้งแต่รัฐประหารครั้งล่าสุด จุดยืนของเมียนมาต่อการไม่แพร่ขยายการสร้างอาวุธร้ายแรงกลับถูกตั้งคำถามอีกครั้ง

เฉพาะในปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียว รัฐบาลทหารได้ดำเนินการเชิงรุกในความพยายามที่จะรักษาขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์โดยการติดต่อกับจีนและรัสเซีย

 รัฐบาลทหารของเมียนมายืนกรานเหมือนเช่นเคยว่า พม่ากำลังแสวงหาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อการใช้อย่างสันติเท่านั้น

ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลทหารพม่าได้สามารถสร้างศักยภาพในการแปรรูปซ้ำสำหรับการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมหรือไม่

รายงานส่วนใหญ่เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของเมียนมายังคงไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ

ด้วยเหตุนี้ การฟ้องร้องเมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวกับผู้ค้าอาวุธโดยครอบครองวัสดุนิวเคลียร์ในเมียนมาทำให้เกิดคำถามเพิ่มเติม

ที่น่าสังเกตก็คือ ชาวญี่ปุ่นรายนี้ถูกกล่าวหาว่าไม่ได้ทำงานให้กับรัฐบาลทหาร แต่ทำงานให้กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ไม่เปิดเผยชื่อ

รัฐฉานของเมียนมาเคยถูกเพ่งเล็งว่าเป็นแหล่งขุดแร่ยูเรเนียมในอดีต แต่กลุ่มกบฏในรัฐฉานปฏิเสธความเชื่อมโยงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมืองทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและความเปราะบางของรัฐในเมียนมา ความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพในการใช้วัสดุนิวเคลียร์เป็นเรื่องน่ากังวลยิ่ง

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าหรือฝ่ายชาติพันธุ์ติดอาวุธ

โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยที่ตั้งอยู่ประชิดติดกัน

ไม่ว่าจะเกิดภัยคุกคามด้านใดเกี่ยวกับเพื่อนบ้านเราก็ย่อมจะมีผลกระทบโดยตรงต่อไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมียวดี: สงคราม, ทุนสีเทา, กาสิโน, มาเฟียและยาเสพติด

สงครามในเมียวดีตรงข้ามแม่สอดของจังหวัดตากของไทยซับซ้อนกว่าเพียงแค่การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างฝ่ายกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร