แพง! คุมไม่อยู่

ในช่วงเทศกาลแห่งความสุข ปีใหม่ 2565 กลับกลายเป็นความทุกข์ เพราะราคาสินค้า ของกินของใช้กลับแพงหูฉี่ โดยเฉพาะราคาเนื้อหมูที่พุ่งไม่หยุด จากเดิมราคาหมูเนื้อแดงขายอยู่ที่ 70-180 บาทต่อกิโลกรัม ขณะนี้ปรับเพิ่มขึ้นทะลุ 200 บาทไปแล้ว มาอยู่ที่ 220-230 บาทต่อกิโลกรัม  

แม้ว่าที่ผ่านมานั้น ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะออกมาระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดูแลแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพงตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง ตั้งแต่ภาระเกษตรกรฟาร์มสุกร พ่อค้าคนกลาง ผู้ขายหมูหน้าเขียง ประชาชนผู้บริโภค รวมไปถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร เพื่อลดผลกระทบราคาหมูแพงในขณะนี้ โดยไม่ให้เสียกลไกตลาด

ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์เองก็เดินหน้าดำเนินตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ขยายการดำเนินการโครงการพาณิชย์ลดราคา (หมูเนื้อแดง) พร้อมให้พาณิชย์จังหวัดติดตามสถานการณ์การจำหน่ายอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงเข้มงวดผู้ขายในตลาดปิดป้ายแสดงราคา และขอความร่วมมือทางห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ช่วยตรึงราคาจำหน่ายหมูเนื้อแดงออกไปอีกระยะหนึ่ง

โดยมอบให้กรมการค้าภายในเข้าไปดูแล ควบคุม และขอความร่วมมือกับร้านค้าโมเดิร์นเทรด หรือห้างสรรพสินค้าให้ตรึงราคาไว้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถควบคุมได้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2565 ราคาหมูในห้างสรรพสินค้าบางแห่งราคาพุ่งไปถึง 230 บาทแล้ว โดยเฉลี่ยจะพบว่าราคาเนื้อหัวไหล่ สะโพก ขายในราคาเฉลี่ย 160 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาตลาดสดปรับสูงไปถึง 180-190 บาทต่อกิโลกรัม, ราคาซี่โครงหมู 160-180 บาทต่อกิโลกรัม หมูสามชั้นมีราคาขยับขึ้นไปสูงถึง  232 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าราคาที่กรมการค้าภายในขอความร่วมมือให้จำหน่าย 150 บาทต่อกิโลกรัมไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าต้นตอปัญหาราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวสูงขึ้น มาจากต้นทุนประกอบการที่เพิ่มขึ้น ทั้งราคาอาหารสัตว์ ยารักษาโรค และโรคระบาดหมูส่งผลให้หมูในระบบมีปริมาณลดลง ราคาหมูขายปลีกหน้าเขียงมีราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกันการที่ภาคบริการ การท่องเที่ยว ร้านอาหารกลับมาเปิดบริการได้มากขึ้น ทำให้ความต้องการบริโภคหมูโดยรวมกลับมาเพิ่มมากขึ้น

ซึ่ง พงษ์สุธี สุขศิริ พาณิชย์จังหวัดนครปฐม เองก็ออกมายอมรับว่าปริมาณสุกรในพื้นที่มีจำนวนลดลงอย่างมาก ทำให้ราคาหมูหน้าฟาร์มขยับสูง ประกอบกับราคาวัตถุดิบ อาหารสัตว์ ยาสัตว์ราคาแพงขึ้นอีก ทำให้ต้นทุนสูงถึง 10 บาทต่อกิโลกรัม  ซึ่งขณะนี้กรมการค้าภายในให้พาณิชย์จังหวัดหาเนื้อหมูชำแหละป้อนตลาดราคาต่ำ 150 บาทต่อกิโลกรัม วันละ 800 กิโลกรัม เพื่อช่วยผู้บริโภค แต่กลับมีปัญหาว่า จะหาเนื้อหมูมาขายให้ในราคาต่ำกว่า 150/กก.ได้หรือไม่

เช่นเดียวกับที่ สมควร ปิยะพงษ์เดชา ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม ระบุว่า จำนวนหมูที่ลดลงมีสาเหตุมาจากหมูติดโรค ทำให้หมูหายไปจากระบบกว่าครึ่ง และปัญหาวัตถุดิบสูง ทำให้ฟาร์มขนาดเล็กหยุดเลี้ยงจำนวนหนึ่ง ปัญหานี้ต้องใช้เวลา 3-6 เดือน ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจให้ผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรปรับระบบการเลี้ยงใหม่ให้เข้ากับระบบการเลี้ยงของปศุสัตว์ และยอมรับความจริง ปัญหาจะได้รับการแก้ไขกลับมาได้เร็ว เพราะการเลี้ยงแบบธรรมชาติเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว

ดังนั้นปัญหาเหล่านี้หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการพิกบอร์ด (Pig Board) ต้องเร่งหาแนวทางช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกร ตั้งแต่ต้นทุนการผลิตสุกร สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนหมู เพื่อลดอัตราการสูญเสียหมูเลี้ยงจากโรคระบาด รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งปลอดดอกเบี้ยและดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจูงใจให้ผู้เลี้ยงหมูกลับมาเพิ่มปริมาณสุกรกลับเข้ามาสู่ระบบโดยเร็ว เพื่อให้ ประชาชนคนไทยจะได้สามารถบริโภคหมูที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสม

และที่สำคัญต้องเร่งดำเนินการและยอมรับความจริง อย่าปกปิดสาเหตุต้นตอที่แท้จริงว่ามีสาเหตุจากอะไร  อย่าเอาแต่เอาใจนาย ปล่อยให้ประชาชนแบกรับความเดือดร้อนตามยถากรรมจนทนไม่ไหวลุกลามใหญ่โต จากที่พอจะควบคุมแก้ไขปัญหาได้ กลายเป็นควบคุมไม่ได้ ไปมากกว่านี้ สร้างความเสียหายใหญ่มากมายจนแก้ไขไม่ได้.  

บุญช่วย ค้ายาดี 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

เร่งกระตุ้นอสังหาฯ

อสังหาริมทรัพย์เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่ยาว ตั้งแต่ภาคการผลิตต่างๆ เช่น เหล็ก ซีเมนต์ การท่องเที่ยว ตลอดจนการเงิน หากภาพรวมอสังหาฯ ดีย่อมส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมใกล้เคียง แต่หากลบก็กระทบธุรกิจอื่นๆ ได้เช่นกัน แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกที่ผลักดันให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แต่ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และภาวะหนี้ครัวเรือนที่บั่นทอนกำลังซื้อในประเทศ ส่งผลกับภาคอสังหาฯ อย่างเห็นได้ชัด

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี