ทำไม่ดีก็ยังไม่ได้...ผลที่ได้เลยยังไม่ดี

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในครั้งนี้ ดูเหมือนจะไม่ถูกอกถูกใจคนจำนวนมาก เริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดวิธีเลือกที่หลายคนติดตามแล้วรู้สึกสับสน เข้าใจยาก ไม่ค่อยจะเข้าใจวิธีการจากเริ่มต้นไปจนถึงได้ผู้ที่ได้รับเลือกเป็น สว. จำนวน 200 คน แต่ในเมื่อวุฒิสภาเป็นส่วนหนึ่งของระบอบการเมืองไทย แม้ว่าจะไม่ค่อยจะพอใจวิธีการเลือกที่ได้รับรู้ ก็พยายามจะติดตามกระบวนการเลือก สว.ตั้งแต่เริ่มต้นรับสมัคร

ก่อนจะมีการสมัคร ก็มีกลุ่มการเมืองบางกลุ่มตระเวนเชิญชวนให้คนมาสมัครรับเลือกเป็น สว. แต่ฟังดูเนื้อหาแล้ว ดูเหมือนว่าเขาไม่ได้ชวนคนมาสมัครเพื่อที่จะได้เป็น สว. แต่เชิญคนให้มาลงสมัครกันเยอะๆ เพื่อมาช่วยลงคะแนนให้คนที่เขาตั้งใจอยากจะให้เป็น เขาพูดว่าด้วยเงินเพียง 2,500 บาท (ค่าสมัคร) เพื่อไปช่วยกันเลือกคนที่เขาตั้งใจจะให้เป็น สว.ในสังกัดกลุ่มการเมืองของเขา ฟังการพูดจาแบบนี้ เราก็เริ่มรู้สึกว่า ที่เราไม่พอใจวิธีการเลือก สว.ในครั้งนี้ เราน่าจะคิดถูก เพราะการเชิญชวนคนมาลงสมัครเพื่อมาช่วยกันเลือกคนบางคนให้ได้เป็น สว. มันไม่น่าจะเป็นเจตนาของการเลือก สว.ที่ประชาชนต้องการ

เมื่อถึงวันประกาศรับสมัครคนที่ต้องการสมัครให้ได้รับเรื่องเป็น สว. หลายคนก็ติดตามดูการมาสมัคร และคุณสมบัติผู้สมัคร ก็พบว่าหลายคนมาด้วยกัน มาพร้อมกันเป็นคณะ และเมื่อดูคุณสมบัติของผู้มาสมัครบางคนที่มาสมัครในกลุ่มอาชีพใดอาชีพหนึ่ง หลายคนตั้งคำถามว่า “คนนี้เหรอ ใช่เหรอ เป็นคนในกลุ่มอาชีพนี้จริงเหรอ และมีคุณสมบัติที่จะเป็น สว.ได้จริงหรือ ถ้าหากได้รับเลือกเข้าไปจริงๆ จะทำหน้าที่ของการเป็น สว.ตามเจตนารมณ์ของการมี สว.จริงหรือ

ในการเลือกรอบแรก คนเก่ง คนดัง ในสายอาชีพต่างๆ มีผ่านเข้ามามากพอสมควร แต่ก็มีข้อสงสัยที่มีคนที่สมัครจำนวนหนึ่งไม่ลงคะแนนให้ตนเองในรอบที่กติกาให้เลือกตัวเองได้ ทำให้มีคนที่ได้คะแนนศูนย์อยู่หลายคน ประชาชนที่ติดตามการเลือก สว. ก็ตั้งคำถามว่าทำไมไม่เลือกตัวเอง เมื่อสมัครเข้ามารับเลือกเป็น สว.แล้วทำไมไม่เลือกตัวเอง แสดงว่าที่มาสมัครนั้นไม่ได้ต้องการที่จะเป็น สว. แต่เข้ามาเพื่อมาลงคะแนนให้ใครบางคนตามโผที่ตกลงกันไว้หรือเปล่า เรื่องนี้ทาง กกต.ก็บอกว่าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าในรอบที่ลงคะแนนให้ตัวเองได้ ผู้สมัครจะต้องลงคะแนนให้ตัวเอง ดังนั้นปรากฏการณ์อันน่ากังขานี้ ก็ไม่ได้ทำให้กระบวนการเลือก สว.ต้องสะดุดแต่อย่างใด สามารถดำเนินการต่อไปได้

แม้จะมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าเลือก สว.ครั้งนี้น่าจะขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการที่ กกต.กำหนดนั้นไม่ขัดต่อกฎหมายอย่างใด กกต.ก็สามารถดำเนินงานต่อได้ พอกระบวนการผ่านเข้ามารอบที่ลึกขึ้น ปรากฏว่าคนเก่ง คนดี คนดังหลายคนที่ประชาชนรู้จัก และเคยเห็นผลงานเป็นเชิงประจักษ์ร่วงไปหลายคน ประชาชนที่ติดตามการเลือก สว.ครั้งนี้อย่างใกล้ชิดก็มีข้อกังขา พวกเขาสงสัยว่าน่าจะมีการฮั้วหรือการจัดตั้ง เมื่อมีข้อกังขาเช่นนี้ ผู้บริหารของ กกต.ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า การจะเอาผิดกับคนที่ฮั้วหรือจัดตั้งนั้นทำได้ยาก เพราะคนที่ทำนั้นมีเงิน มีอำนาจ จนทำให้ผู้บริหาร กกต.คนนี้โดนทัวร์ลง ผู้คนจำนวนมากบอกว่า ถ้าไม่มีปัญญาจะแก้ไขปัญหานี้ได้ ก็ให้ออกไป จึงมีการกลับลำว่าไม่ใช่จะไม่ทำ แต่กำลังรวบรวมหลักฐานอยู่

ในช่วงของการเลือก ก่อนถึงช่วงสุดท้ายที่จะได้รายชื่อผู้ชนะ 200 คน ก็มีข่าวเรื่องการฮั้วหรือการจัดตั้งเกิดขึ้น มีโผหลุดออกมา ไม่รู้โผจริงหรือโผเท็จ และมีคนพูดว่าฝ่ายประชาธิปไตย ถ้าหากไม่หักหลังกันก็จะชนะ ก็ทำให้หลายคนสงสัยว่า จะต้องเป็นพวกของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มเท่านั้นหรือที่เป็นประชาธิปไตย แล้วคนอื่นที่สมัครเข้ามา ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือ จะผูกขาดความเป็นประชาธิปไตยไว้กลุ่มเดียวเท่านั้นหรือ และก่อนจะถึงช่วงสุดท้ายก็มีวาทกรรมว่าฝ่ายประชาธิปไตยถ้าไม่หักหลังกัน ก็จะเป็นผู้ชนะ ทำให้ประชาชนอ่านระหว่างบรรทัดได้ว่า ก่อนหน้านี้น่าจะมีการตกลงอะไรบางอย่าง และในเวลาที่เข้าใกล้รอบสุดท้ายน่าจะมีคนที่จะไม่ทำตามข้อตกลง จึงมีการใช้คำว่า “หักหลัง” ยิ่งทำให้ประชาชนมั่นใจว่าในกระบวนการเลือก สว. ครั้งนี้น่าจะมีการฮั้วหรือการจัดตั้งอย่างแน่นอน แล้วแบบนี้ เราย่อมสงสัยความโปร่งใสของกระบวนการ

เพียง 1 วันก่อนการลงคะแนนรอบสุดท้าย มีการประชุมของกลุ่มผู้สมัครประมาณ 300 คนที่เมืองทองธานี เป็นการประชุมลับ ผู้เข้าประชุมถูกยึดมือถือไว้ก่อน ห้ามไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าว คนที่มาประชุมมีการใส่สายรัดข้อมือสีที่ต่างกัน ทำให้หลายคนสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่จะเป็นข้อตกลงว่าใครที่ควรจะได้รับเลือก และใครที่มีหน้าที่ลงคะแนนเลือก (การสันนิษฐานจะถูกหรือผิด ไม่ทราบได้ เพราะเป็นการประชุมลับ) หลายคนมองว่าเป็นการประชุมเพื่อฮั้วกัน หรือไม่ ก็มีคนมาสร้างวาทกรรมให้คำนิยามเรื่องฮั้วผิดๆ ว่า ไม่มีการจ่ายตังค์แต่อย่างใด จะเรียกว่าฮั้วได้อย่างไร เป็นการพูดที่ผิดชัดเจนมาก การฮั้วนั้นไม่จำเป็นต้องมีการจ่ายเงิน แต่เป็นการตกลงที่จะร่วมมือกันให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายบางประการ (ส่วนใหญ่เป้าหมายที่ต้องการ จะเป็นไปในทางลบ ผิดกติกา ผิดกฎหมาย)

จากการติดตามพฤติการณ์ของนักการเมืองบางกลุ่ม บางพรรค หลายคนกังขาความถูกต้อง รู้สึกว่าพวกเขากำลังทำไม่ดี แต่กฎหมายก็ทำอะไรเขาไม่ได้ จนมีการวิเคราะห์กันว่า สว.รอบนี้น่าจะเป็น แดง 50% และเป็นส้ม 50% แต่เมื่อผลออกมาปรากฏว่าน้ำเงินนำลิ่ว ส้มและแดงได้น้อยมาก จนแกนนำส้มออกมาพูดแบบขี้แพ้ชวนตีว่า ถ้าหากได้ สว.แบบนี้จะมี สว.ไปทำไม เห็นได้ชัดว่าตั้งแต่ต้น พวกเขาทำสิ่งที่ไม่ดีหลายอย่าง สร้างความกังขาให้ประชาชน แต่ผลที่ออกมาพวกเขาก็ไม่ได้ดีดังใจหวัง ก็อย่างว่าแหละนะ ในเมื่อเริ่มต้นยังทำไม่ได้ แล้วจะให้ผลที่ได้มันดีได้อย่างไร อย่าฟาดหัวฟาดหางไปเลยนะ คนเขาจะว่าเอาได้ว่าเป็นพวกขี้แพ้ชวนตี จะต้องให้พวกของตัวเองชนะเท่านั้นใช่ไหม จึงจะบอกได้ว่าเป็น สว.ที่ดีของประชาชน นี่หรือกลุ่มประชาธิปไตย ทำไมจึงมีความคิดผูกขาดประชาธิปไตยไว้กับพวกของตัวเองเท่านั้น...น่าสมเพชนะคะ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เด็กฝึกงาน...ไม่ผ่านโปร

ฉากทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยหลังจากรู้ผลของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นภาพที่สร้างความกังวลให้กับคนไทยจำนวนมากที่ไม่ได้เลือกพรรคส้มหรือพรรคแดง

'ความเป็นไทย' กับกรณีน้ำท่วมภาคเหนือ-ภาคใต้

ถึงแม้จะก่อเกิด ถือกำเนิด ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี...แต่ด้วยเหตุเพราะไปเติบโตที่ภาคใต้ ไม่ว่าเริ่มตั้งแต่อำเภอทุ่งสง จังหวัดหน่ะคอนซี้ทำหมะร่าด ไปจนอำเภอกันตัง

ได้ฤกษ์ 'นายพล' ล็อต 2

ผ่านเดดไลน์ตามคำสั่ง ผบ.ต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ทุกหน่วยส่งบัญชีข้อมูลผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น

'ดร.เสรี' กรีดเหวอะ! ใครมีลูกสาวเก่งพอที่จะเป็นนายกฯ ต้องบอกลูกให้มีผัว 9 คนอยู่ใน 9 ภาค

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสารโพสต์เฟซบุ๊กว่า ใครมีลูกสาวที่เก่งพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ต้องบอกลูกนะคะ

ช่างกล้า...ช่างมั่น รับประกันด้วยตำแหน่ง

ในขณะที่ประชาชนผู้รักชาติ รักแผ่นดิน มีความเป็นห่วงเป็นใยว่าการเจรจาแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรในท้องทะเลใต้เกาะกูดตามที่มีการลงนามความเข้าใจร่วม (MOU) 44