วิกฤต“ค่าครองชีพ”พุ่งพรวด

กลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตาเป็นอย่างมาก สำหรับ “ปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น” สะท้อนจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการที่ต่างขยับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2565 อาทิ เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อเป็ด เนื้อวัว ไข่ไก่ กุ้งขาวแวนนาไม ไปจนถึงค่าไฟฟ้าที่เตรียมจะปรับขึ้นในเดือน ม.ค.-เม.ย.2565 เพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์ต่อหน่วย หรือขึ้นเกือบ 5% หลังมีการตรึงค่าไฟฟ้ามานานกว่า 2 ปี โดยเหตุผลที่ปรับขึ้นค่าไฟฟ้านั้นมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ทั้งน้ำมัน ก๊าซแอลเอ็นจี ปรับเพิ่มขึ้นทั้งหมด เป็นต้น ซึ่งราคาสินค้าที่ปรับขึ้นทั้งหมดได้ถูกส่งผ่านมาถึงประชาชนให้ต้องแบกรับสถานการณ์ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงาน เร่งติดตามและหารือกับผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เพื่อตรึงราคาสินค้า ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน

โดยรัฐบาลชี้แจงถึงปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้นเป็นผลมาจากกลไกราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ต้นทุนสินค้าและค่าขนส่ง ซึ่งรัฐบาลเองไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว ได้วางมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว เร่งติดตามหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งจะขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการและภาคเอกชน เพื่อตรึงราคาสินค้าบางส่วนที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพ

ด้านกระทรวงพาณิชย์เอง ก็ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกติดตามและรายงานสถานการณ์ราคาสินค้า ค่าครองชีพและราคาโภคภัณฑ์ที่เป็นต้นทุนการผลิตทั้งหมดซึ่งจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต โดยพบว่าหลายประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อาทิ สหรัฐ ที่ในเดือน ธ.ค.2564 ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นถึง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการปรับเพิ่มสูงที่สุดในรอบเกือบ 40 ปีเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีแคนาดา เคนยา ชิลี อิสราเอล และไต้หวัน เป็นต้น ที่ราคาสินค้ามีการปรับขึ้นเช่นเดียวกับประเทศไทย

ขณะที่ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้ออกบทวิเคราะห์เรื่อง ความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นกดดันดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือน ธ.ค.2564 ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากครัวเรือนยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของราคาอาหารและเครื่องดื่ม ขณะเดียวกันในช่วงเทศกาลที่ผ่านมา ครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายพิเศษที่เพิ่มขึ้น กดดันดัชนี KR-ECI ให้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องด้วย

สถานการณ์ราคาสินค้าที่สูงขึ้นสร้างความวิตกกังวลให้กับภาคครัวเรือนอย่างมาก แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะยังมีมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากภาครัฐ เช่น มาตรการคนละครึ่ง มาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ก็ตาม

ส่วนตลาดแรงงานยังเผชิญความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีมาตรการเข้มงวดในการควบคุมการระบาด แต่สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มที่

ทั้งนี้ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองว่า ในระยะข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีแนวโน้มได้รับปัจจัยกดดันจากสถานการณ์ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเข้ามาฉุดรั้งการฟื้นตัวของการบริโภค ขณะที่การกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ภาคการท่องเที่ยว ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากการระบาดของโอมิครอน

ดังนั้น การเร่งสร้างความเชื่อมั่นจากภาครัฐเกี่ยวกับการจัดการควบคุมโรค และมาตรการบรรเทาค่าครองชีพอย่างตรงจุด รวมถึงมาตรการตรึงราคาสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของครัวเรือน จึงมีความจำเป็นอย่างมากในการเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามต่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการในการรับมือปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างไรในระยะต่อไป เพื่อไม่ให้ผลกระทบถูกส่งผ่านไปถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศให้ชะลอตัวลงจากที่ควรจะเป็น จากความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชนในประเทศที่ถูกกดดันจากราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง.

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

อวดชาวโลกสีสันสงกรานต์2567

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี จะมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด และเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่กรุงเทพมหานครก็ได้จัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมเชิญชวนชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าร่วมงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” บริเวณถนนราชดำเนินกลางและท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 11–15 เมษายนนี้

เร่งกระตุ้นอสังหาฯ

อสังหาริมทรัพย์เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่ยาว ตั้งแต่ภาคการผลิตต่างๆ เช่น เหล็ก ซีเมนต์ การท่องเที่ยว ตลอดจนการเงิน หากภาพรวมอสังหาฯ ดีย่อมส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมใกล้เคียง แต่หากลบก็กระทบธุรกิจอื่นๆ ได้เช่นกัน แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกที่ผลักดันให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แต่ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และภาวะหนี้ครัวเรือนที่บั่นทอนกำลังซื้อในประเทศ ส่งผลกับภาคอสังหาฯ อย่างเห็นได้ชัด

Gen AI ความท้าทายยุคใหม่

การก้าวตามเทคโนโลยีใหม่อย่าง Generative AI ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่ากลัว โดยไม่มีใครรู้เลยว่าบริษัทที่ใช้แนวทาง "รอดูไปก่อน" จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในขณะที่ระบบดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้นของโควิด-19

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี