วิกฤตพม่าทำให้อาเซียน แตกทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน

เสียงย้อนแย้งในอาเซียนพรั่งพรูออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อคัดค้านการที่นายกฯ ฮุน เซน แห่งกัมพูชา ไปจับมือออกแถลงการณ์กับ มิน อ่อง หล่าย แห่งเมียนมา

ล่าสุดนายกรัฐมนตรีหลี่เสียนหลุงของสิงคโปร์ ออกมายืนยันว่า ผู้นำของเมียนมาจะมาร่วมประชุมกับอาเซียนไม่ได้ ตราบที่ยังไม่ว่า “ความคืบหน้าที่มีนัยสำคัญ” (significant progress) ในการดำเนินตามฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียน

ตามมาด้วยความเห็นของรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ เทียวโดโร ล็อกซิน ที่บอกว่าการแก้วิกฤตของพม่าจะต้องมี อองซาน ซูจี ร่วมอยู่ด้วยจึงจะประสบความสำเร็จ

เขาบอกว่าแม้เธอจะตกเป็นผู้ต้องหาคดีต่างๆ แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับการที่เธอจะต้องมีส่วนร่วมในการหาทางออกให้ประเทศชาติ ถ้า อองซาน ซูจี ไม่ได้รับเชิญเข้ามาร่วม กระบวนการสันติภาพของเมียนมาก็ล้มเหลวตั้งแต่ต้น

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ไซฟุดดิน อับดุลเลาะห์ ก็ออกมาตอกย้ำว่าการไปเยือนเมียนมาของนายกฯ ฮุน เซน “ไม่เป็นประโยชน์ต่ออาเซียน

ผมเชื่อว่าอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์และฟิลิปปินส์ รวมถึงบรูไนมีจุดยืนเรื่องนี้เหมือนกัน

จะมีแต่เวียดนามและ สปป.ลาว กระมังที่จะโอนเอียงไปทางกัมพูชา

ถึงวันนี้หรือไทยเรามีแนวทางชัดเจนอย่างไรไม่ปราฏชัดแจ้ง

หรืออาจจะกำลังพยายามทำหน้าที่เป็น “กาวใจ” เพื่อประคองไม่ให้อาเซียนแตกกันกรณีนี้จนเยียวยาไม่ได้

เมื่อสัปดาห์ก่อนมีแขกจากสหประชาชาติมาเยือน ไทยก็ต้องแสดงจุดยืนร่วมกันเรื่องพม่า

อ่านคำแถลงข่าวจากการเยือนคราวนั้นก็อาจทำให้เข้าใจได้บ้างว่าไทยมีจุดยืนเป็นทางการอย่างไร

ข่าวของกระทรวงต่างประเทศบอกว่า

เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๕ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนางโนลีน เฮย์เซอร์ (Ms.Noeleen Heyzer) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา (Special Envoy of the Secretary-General of the United Nations on Myanmar)

ทั้ง 2 ฝ่ายได้แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมียนมา

รวมถึงการสู้รบบริเวณใกล้ชายแดนไทย-เมียนมา ตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค.๒๕๖๔ เป็นต้นมา ที่ส่งผลให้ชาวเมียนมาต้องหนีภัยเข้ามาในฝั่งไทย และเห็นพ้องกันถึงความสำคัญของการหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้ความสงบ เสถียรภาพ และความเป็นปกติสุขกลับคืนสู่เมียนมาโดยเร็ว

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับสหประชาชาติและอาเซียนในการแสวงหาทางออกอย่างสันติสำหรับสถานการณ์ในเมียนมา

โดยเฉพาะการผลักดันให้มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามฉันทามติ ๕ ข้อของอาเซียน และสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน

ไทยยังคงจะให้ความช่วยเหลือและดูแลผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาที่ข้ามฝั่งมาไทยตามหลักมนุษยธรรม พันธกรณีระหว่างประเทศ และประสบการณ์ที่ยาวนานของไทย และพร้อมสนับสนุนการส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในเมียนมา

นางเฮย์เซอร์ชื่นชมบทบาทของไทยในการประสานความร่วมมือระหว่างฝ่ายต่างๆ โดยได้แสดงความพร้อมที่จะช่วยเชื่อมต่อความพยายามดังกล่าวกับสหประชาชาติและประชาคมระหว่างประเทศ

นางเฮย์เซอร์ (ชาวสิงคโปร์) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมาแทนนางคริสทีเนอร์ เชรเนอร์ เบอร์เกนเนอร์ (Christine Schraner Burgener)

โดยเข้ารับหน้าที่ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ธ.ค.๒๕๖๔ และเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Executive Secretary of UNESCAP) ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๗

แต่ถ้าอ่านระหว่างบรรทัดก็จะเห็นได้ว่าไทยเรายังใช้แนวทาง “เหวี่ยงแห” ทางการทูตพอสมควร โดยหวังว่าจะทำให้ทุกฝ่ายมองไทยเป็นมิตร เช่น สาระบางตอนของแถลงการณ์นี้ที่ว่าไทยร่วมผลักดันให้มีการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน

ขณะเดียวกันก็สนับสนุนแนวทางของนายกฯ ฮุน เซน ซึ่งเป็นประธานอาเซียนด้วย

ทั้งๆ ที่ผู้นำอาเซียนบางประเทศออกมาบอกแล้วว่า ที่ ฮุน เซน ทำเรื่องนี้อยู่นั้นไม่ได้สอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันเราก็บอกว่ายังมีการสู้รบกันอยู่ตรงบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาอันมีผลทำให้มีผู้ลี้ภัยข้ามมาไทย

นั่นย่อมแปลว่า คำว่า “หยุดยิง” ในแถลงการณ์ของฮุน เซน-มิน อ่อง หล่าย นั้นไม่มีความหมายในทางปฏิบัติแต่ประการใดเลย

นายกฯ สิงคโปร์บอกว่า “การตัดสินใจใดๆ ของผู้นำอาเซียน (ที่ไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมามาร่วมประชุมอาเซียน) นั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงใหม่”

หลี่เสียนหลุงตั้งข้อสังเกตว่า

“ไม่กี่วันหลังจากที่นายกฯ ฮุน เซน ไปเยือนเมียนมา ก็มีการโจมตีโดยทหารเมียนมาต่อฝ่ายต่อต้านทางการเมือง และมีคำสั่งจำคุก อองซาน ซูจี เพิ่มขึ้นอีก...”

ถ้าผู้นำอาเซียนไม่จับเข่าคุยกันให้เกิดความชัดเจนว่าจะเดินหน้ากรณีเมียนมาต่อไปอย่างไรจึงจะไม่ทำให้อาเซียนถูกมองว่า “ไร้น้ำยา” จริงๆ เห็นทีวิกฤตเมียนมาจะกลายเป็นวิกฤตของอาเซียนเองเสียแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร