ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่

อิทธิพลทางการเมืองของพวกนายทุนคนรวยเป็นต้นตอปัญหา เป็นความท้าทายของสังคมที่ต้องร่วมกันแก้ไข ลำพังการปกครองไม่ชี้ว่าจะลดหรือสร้างความเหลื่อมล้ำ

มกราคม 2025 Pew Research Center เสนอผลสำรวจความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ในหัวข้อ Economic Inequality Seen as Major Challenge Around the World เก็บข้อมูลจาก 36 ประเทศในทุกทวีป พบว่าผู้คนส่วนใหญ่ทั่วโลกเห็นว่าความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ อิทธิพลทางการเมืองของพวกนายทุนคนรวยเป็นต้นตอปัญหา เป็นความท้าทายของสังคมที่ต้องร่วมกันแก้ไข

ภาพ: 60% ชี้ว่าอิทธิพลทางการเมืองของพวกนายทุนเป็นสาเหตุสำคัญ

เครดิตภาพ: https://www.pewresearch.org/wp-content/uploads/sites/20/2025/01/pg_2025.01.09_inequality_report.pdf

โดยสรุป ผู้ตอบแบบสอบถาม 54% เห็นว่าความเหลื่อมล้ำคนรวยคนจนเป็นปัญหาใหญ่มาก (a very big problem) 60% ชี้ว่าอิทธิพลทางการเมืองของพวกนายทุนคนรวยเป็นต้นตอปัญหานี้ คนที่มีแนวคิดสังคมนิยม (ฝ่ายซ้าย) มักจะมองว่านายทุนคือตัวการ ส่วนคนอเมริกันมีมุมมองหลากหลายกว่า

หลายคนวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อยากเห็นการปฏิรูปเศรษฐกิจ

54% เห็นว่าลูกหลานของเขาเมื่อโตขึ้นจะมีปัญหาทางการเงินยิ่งกว่าตัวเขาในขณะนี้ ความคิดนี้แรงมากในประเทศที่มีรายได้สูง เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันทั้งเยาวชนกับคนสูงวัยในหลายประเทศมีมุมมองแง่ลบเรื่องนี้ตรงกัน แต่มีบางประเทศที่มองแง่บวกมากกว่าแง่ลบ เช่น บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย บางประเทศคิดว่าอนาคตลูกหลานจะดีขึ้น เช่น อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี และเม็กซิโก (มักเป็นประเทศที่ปัจจุบันแย่อยู่แล้ว)

เศรษฐกิจช่วงโรคระบาดโควิด-19 ย่ำแย่มาก แต่ผู้ตอบแบบสอบถามในหลายประเทศคิดว่าตอนนี้แย่กว่าอีก มักเป็นพวกที่คิดว่าลูกหลานของเขาจะอยู่ในสภาพย่ำแย่กว่าเขาในตอนนี้

33 ใน 36 ประเทศชี้ว่า หากจะแก้ปัญหาต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางต้องการมากที่สุด 6 ใน 10 ของชาติยุโรปเห็นว่าต้องปฏิรูป 66% ของคนอเมริกันคิดว่าต้องปฏิรูป

มุมมองต้นเหตุความไม่เท่าเทียม:

เมื่อถามว่าความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจมาจากอะไร 31 ใน 36 ประเทศชี้ว่าเกี่ยวข้องกับการเมือง 8 ใน 10 คนกล่าวว่าคนรวยมีอิทธิพลต่อการเมืองมากเกินไป โดย 60% เห็นว่าสองเรื่องนี้เกี่ยวข้องกันมาก (a great deal) ปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ระบบการศึกษาที่ทำให้คนเหลื่อมล้ำ บางคนเอ่ยถึงเกิดในครอบครัวแตกต่าง บางคนเอ่ยเรื่องหุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์ที่แย่งงานมนุษย์

อีกประเด็นที่หลายคนเอ่ยถึงคือเรื่องเชื้อสาย เป็นชนกลุ่มน้อย 6 ใน 10 พูดถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ ผู้หญิงได้เงินเดือนกับโอกาสน้อยกว่าชาย บางประเทศเรื่องศาสนานิกายเป็นปัญหาใหญ่

วิเคราะห์: บางแหล่งอธิบายว่าระบบทุนนิยมที่เน้นการแข่งขันเสรีทำให้ทรัพยากรกระจุกตัวและผลกำไรส่วนใหญ่อยู่กับพวกนายทุน ที่ตรงกับรายงานนี้คือ นโยบายภาครัฐเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ กระจายรายได้ที่ขาดประสิทธิภาพ เช่น นโยบายภาษีที่ไม่เป็นธรรม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มักอยู่ในเมืองใหญ่ ความยากจนทำให้การเข้าถึงที่ดิน ทุน เทคโนโลยี และโอกาสทางธุรกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน

คุณภาพการศึกษาแตกต่างกัน ส่งผลต่อทักษะ ความรู้ และโอกาสในการทำงาน การทุจริตคอร์รัปชัน การผูกขาด การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ขยายความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจเช่นกัน

มุมมองจากประเทศรายได้ปานกลางกับรายสูง:

คนในประเทศรายได้ปานกลางมีมุมมองต่ออนาคตในแง่บวกมากกว่าพวกประเทศรายได้สูง เพียง 26% ของกลุ่มหลังที่คิดว่าลูกหลานของเขาจะมีฐานะการเงินดีกว่าตัวเอง

วิเคราะห์: เรื่องนี้มาจากมุมมองของประเทศพัฒนาแล้ว มีคำอธิบายว่า

1) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติกำลังเข้ามาแทนที่งานหลายประเภท ประเทศที่พัฒนาแล้วจะใช้ของพวกนี้มาก คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น เสี่ยงตกงาน ต้องพัฒนาทักษะต่อเนื่องเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลง

รายงาน Future of Jobs Report 2025 จาก World Economic Forum (WEF) ระบุว่า คนต้องมีความรู้ทักษะการใช้งาน AI ความต้องการในงาน Big data กับความปลอดภัยทางไซเบอร์ งานในอนาคตต้องการคนที่รู้จริงเก่งจริง สามารถทำงานเป็นทีม คนที่จะก้าวหน้าคือพวกที่ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีล่าสุด

2) ค่าครองชีพสูงขึ้น ตั้งแต่ราคาที่พักอาศัย ค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ สูงขึ้นต่อเนื่องในประเทศรายได้สูง คนรุ่นใหม่มีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นและยากที่จะเก็บออม มีข้อสรุปชัดเจนว่านับวันรายได้โตไม่ทันรายจ่าย การผ่อนบ้านเป็นภาระหนักมากขึ้นทุกที (อย่างไรก็ตาม บางประเทศราคาบ้านและที่ดินในบางพื้นที่ลดลงเนื่องจากขาดคนอยู่อาศัย)

3) ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีแนวโน้มกว้างขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะผู้ที่เกิดในครอบครัวฐานะปานกลางหรือยากจนขาดโอกาสเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสต่างๆ

4) การเปลี่ยนแปลงทางสังคม โครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนไป เช่น มีลูกน้อยลง การหย่าร้างสูง ทำให้คนรุ่นใหม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวน้อยลง ค่านิยม ทัศนคติ และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป อาจทำให้คนรุ่นใหม่คาดหวังต่างจากคนรุ่นก่อน มองว่าความสำเร็จในชีวิตไม่ขึ้นกับฐานะการงานเพียงอย่างเดียว

5) ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ วิกฤตเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และปัจจัยภายนอกอื่นๆ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และทำให้คนรุ่นใหม่ขาดความมั่นคงในหน้าที่การงาน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาสิ่งแวดล้อม

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป:

ประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ มีงานวิจัยจำนวนมาก ตอกย้ำข้อสรุปเดิมและขยายความลงลึกมากขึ้น งานศึกษาของ Pew Research Center ที่ตีพิมพ์เมื่อต้นปี 2025 ตอกย้ำสภาพปัญหา ย้ำว่าต้นเหตุสำคัญคืออำนาจการเมืองกระจุกตัวอยู่ในมือของนายทุนหรือพวกคนรวย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยหรืออำนาจนิยม ข้อสรุปนี้ไม่ใช่แปลกของใหม่

เป็นคำอธิบายว่าทำไมรัฐบาล นักการเมืองเอ่ยถึงความเหลื่อมล้ำ พยายามแก้ไข แต่ยิ่งแก้ยิ่งเหลื่อมล้ำ ทั้งในฝั่งที่เรียกว่าพวกประชาธิปไตยกับฝ่ายอำนาจนิยม ดังนั้นควรตระหนักว่าลำพังการปกครองไม่ชี้ว่าจะลดหรือสร้างความเหลื่อมล้ำ

คำถามที่ตามมาคือ การปกครองที่ดีเป็นอย่างไร ลำพังมีประชาธิปไตย มีสินค้าบริการมากมาย คือสิ่งที่ประชาชนต้องการเท่านั้นหรือไม่ หรือว่าความคิดความเข้าใจของประชาชนถูกครอบงำให้คิดเข้าใจอย่างผิดๆ

อีกด้านคือ คนสามารถเท่าเทียมกันได้แค่ไหน ความเท่าเทียมแท้เป็นอย่างไร คนขยันกับคนเกียจคร้านควรได้รับค่าตอบแทนเท่ากันหรือ งานที่แรงงานชายทำได้ดีควรรับค่าแรงเท่ากับหญิงในงานเดียวกันแต่ประสิทธิผลต่ำกว่าหรือไม่ บางคนเลือกใช้ชีวิตแบบไม่ขอทำงานหนัก อยากมีเวลาส่วนตัวมากๆ คนแต่ละประเภทควรได้รับสิ่งต่างๆ อย่างเท่าเทียมหรือ

ความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาใหญ่และใหญ่ขึ้นทุกที ประวัติศาสตร์สอนว่าถึงจุดหนึ่งหลายอาณาจักรหลายประเทศเกิดจลาจลวุ่นวาย ล้มล้างอำนาจเดิม

ถ้ามองในมุมบวก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาจช่วยแก้ปัญหา เมื่อหุ่นยนต์รุ่นเก่าสร้างหุ่นยนต์รุ่นใหม่ ระบบอัตโนมัติผลิตปัจจัย 4 ได้มากเกินพอ แรงงานมนุษย์ไม่สำคัญอีกต่อไป

คำเตือนของประธานาธิบดีไบเดน:

มกราคม 2025 ในถ้อยแถลงอำลาตำแหน่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “ทุกวันนี้ คณาธิปไตย (oligarchy) กำลังก่อตัวในอเมริกา เป็นกลุ่มคนร่ำรวย มีอำนาจและอิทธิพลมหาศาล สิ่งนี้คุกคามประชาธิปไตย สิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพของเรา” คำพูดทำนองนี้ย้อนฟังได้ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีดไวต์ ไอเซนฮาวร์ (Dwight Eisenhower) เมื่อปี 1961 ที่เตือนให้ระวังกลุ่มอุตสาหกรรมทหาร

สหรัฐไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีปัญหาคณาธิปไตย หลายประเทศย่ำแย่กว่ามาก คณาธิปไตยครองเมืองง่ายในประเทศที่ขาดการตรวจสอบทางการเมืองอย่างจริงจัง พลเมืองไม่สนใจการเมือง เป็นประชาธิปไตยหรือสังคมนิยมแต่เปลือก

คำสารภาพของประธานาธิบดีไบเดนสะท้อนงานวิจัยความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สิ่งแอบแฝงที่มากับภาษีทรัมป์2.0 (1)

ลัทธิล่าอาณานิคมยุคใหม่ (neocolonialism) ชาติมหาอำนาจจะต่อต้านโลกหลายขั้ว ต่อต้านการแข่งขันเสรี และจะบีบให้ประเทศอื่นๆ ยอมรับข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์แก่ตน

แผน100วันล้มระบอบอิหร่าน2025

มาจากแผนระยะยาวที่ตั้งใจว่าวันหนึ่งจะต้องล้มระบอบอิหร่านให้จงได้ รัฐบาลทรัมป์มาแล้วก็ไปแต่ความตั้งใจล้มอิหร่านจะอยู่ต่อไป

เจ้าพ่อทรัมป์ (Trump the Godfather)

ทรัมป์ไม่ได้ทำงานคนเดียว ต้องรวมสมาชิกรัฐสภารีพับลิกัน รวมทั้งคนอเมริกันหลายล้านคนที่สนับสนุนอย่างแข็งขัน เป็นพวกอำนาจนิยม