
หนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในประเทศไทยช่วงปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ คงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมที่เข้ามาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาให้เป็นไปตามเทรนด์ของโลก อย่างกลุ่มอุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board หรือ PCB) ที่เป็นหัวใจสำคัญ เป็นวัตถุดิบพื้นฐานของการพัฒนาอุปกรณ์ที่จะนำไปใช้กับระบบอัจฉริยะและ AI ถือเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนเกมในระดับโลก และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นฐานผลิตสำคัญของ PCB ในระดับโลก แนวโน้มอุตสาหกรรม PCB เติบโตอย่างรวดเร็ว
เพราะต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายและโอกาส จากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะระบบอัจฉริยะและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีระดับสูงในปัจจุบันล้วนต้องใช้ PCB เป็นพื้นฐานสำคัญในการรองรับแอปพลิเคชันใหม่ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะภายในบ้าน คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ ไปจนถึงดาต้าเซ็นเตอร์ นอกจากตลาดที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ว ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าและสงครามทางเทคโนโลยีที่รุนแรงมากขึ้น กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกระแสการลงทุน
เนื่องจากจีนและไต้หวันซึ่งเป็นฐานผลิตหลักสำหรับอุตสาหกรรม PCB ของโลก จำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงโดยกระจายฐานผลิตและขยายห่วงโซ่อุปทานไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการเป็นฐานผลิต PCB ในภูมิภาคนี้ ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐอย่างบีโอไอ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และคุณภาพของบุคลากร ทำให้ไทยมีโอกาสก้าวขึ้นสู่การเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรม PCB ในระดับโลก
ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะสนับสนุนการลงทุน PCB อย่างเต็มกำลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอเองก็เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญด้วยเช่นกัน โดยจากสถิติที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2566 ประเทศไทยมีลงทุนในอุตสาหกรรม PCB ซึ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยตั้งแต่เดือนม.ค.2566-ก.ย.2567 มีจำนวน 95 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 162,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงปี 2564-2565 ที่มีมูลค่าคำขอในกลุ่ม PCB เฉลี่ย 15,000 ล้านบาทต่อปี สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า PCB ในประเทศไทยมีทั้งการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตเดิมที่มีฐานการผลิตในไทยอยู่แล้ว อย่างเช่น Mektec (ญี่ปุ่น), Fujikura (ญี่ปุ่น), Hansol (เกาหลี), Delta Electronics (ไต้หวัน), Cal-comp Electronics (ไต้หวัน), KCE (ไทย) และมีผู้ผลิต PCB รายใหม่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตใหม่ในไทย โดยเฉพาะจากจีนและไต้หวัน เช่น กลุ่ม ZDT, Unimicron, Compeq, WUS, Gold Circuit, Chin Poon, Dynamic Electronics, Unitech, Multi-Fineline และ Well Tek เป็นต้น
ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยสามารถก้าวสู่ความเป็นผู้นำในการเป็นฐานการผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 4% เป็น 10% เมื่อโรงงานเหล่านี้เปิดการผลิตตามแผนที่วางไว้ โดยแนวโน้มอุตสาหกรรม PCB ทั่วโลกยังเติบโตสูง คาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรม PCB ทั่วโลกจะมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
นายนฤตม์กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้ามาลงทุนอย่างรวดเร็วของผู้ผลิต PCB ชั้นนำจำนวนมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยต้องเตรียมความพร้อม เมื่อโรงงานสร้างเสร็จและเริ่มผลิตได้ในช่วง 1-2 ปีจากนี้ ซึ่งสมาคมแผงวงจรพิมพ์ไทย (THPCA) คาดว่าจะมีความต้องการแรงงานอย่างน้อย 80,000 คนในช่วง 2 ปีข้างหน้า
จึงเป็นที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิดว่าอุตสาหกรรม PCB ในประเทศไทยที่กำลังได้รับความนิยมและโหมเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้จะส่งผลดีให้กับประเทศด้านใดบ้าง รวมถึงความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการเตรียมตัว และปรับตัวได้ทันท่วงทีมากน้อยเพียงใด?.
ณัฐวัฒน์ หาญกล้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดทีเด็ดความสำเร็จ
จากร้านขนมเล็กๆ ผลิตหลังร้านขายยาสู่แบรนด์ขนมไทยชั้นนำแบรนด์ “คุณเก๋ขนมหวาน” เริ่มต้นในปี 2540 และพลิกโอกาสครั้งสำคัญเมื่อได้ออกบูธในงาน Thaifex ปี 2549 จนนำไปสู่การวางจำหน่ายใน 7-Eleven เป็นครั้งแรกในปี 2551
ไทยทำรถไฟใช้เอง
หลังจากที่กระทรวงมีนโยบายผลักดันการขนส่งทางรางให้เป็นขนส่งหลักของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าขนส่งของประเทศถูกลง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project)
ล้อมคอกซ้ำซาก
ซ้ำซากครั้งแล้วครั้งเล่าสำหรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนนพระราม 2 นับแต่เกิดเหตุโครงเหล็กพังถล่มลงมาด้านล่างพร้อมกับคานปูนขนาดใหญ่ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 6 ราย และบาดเจ็บหลายราย เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุคานขวางระหว่างก่อสร้างถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย
หนุน“SME”เร่งลงทุนเทคโนโลยี
ปี 2568 เศรษฐกิจไทยยังเติบโตภายใต้ปัจจัยท้าทายทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งหลายปัจจัยกดดันการเติบโตของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ “เอสเอ็มอี” ที่การเติบโตถูกกดดันมาอย่างต่อเนื่อง
ดิจิทัลคอนเทนต์เทรนด์โลก
เดี๋ยวนี้มองไปทางไหนก็มีแต่สื่อดิจิทัลเต็มไปหมด ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้การนำเสนอสื่อก็เปลี่ยนตามไปด้วย สังคมดิจิทัลจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการนำเสนอสื่อ ขายของ ติดต่อสื่อสาร และอีกหลายๆ กิจกรรม ด้วยเหตุนี้เองกลุ่มผู้ประกอบการในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้ทันกับเทรนด์และความต้องการที่เปลี่ยนไป
ล้อมคอกจัดโซนนิ่งคุมรถสองชั้น
จากกรณีอุบัติเหตุรถโดยสารไม่ประจำทางหมายเลขทะเบียน 30-0040 บึงกาฬ บรรทุกเจ้าหน้าที่คณะดูงานเทศบาลพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ จำนวน 49 ราย (รวมคนขับรถ) ประสบอุบัติเหตุเสียหลักพลิกคว่ำตกข้างทางบน ทล.304 บริเวณตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี