
เป็นคดีตัวอย่าง...
ตัวอย่างที่ว่าคือ "ความรู้สึก" กับ "กฎหมาย" ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน
การขึ้นศาล ใช้ความรู้สึกไปว่าในศาลไม่ได้
รู้สึกอย่างนั้น อย่างนี้ ไม่ได้
ต้องเป็นข้อกฎหมาย
ข้อกฎหมายว่าอย่างไร ศาลท่านจะพิพากษาคดีไปตามนั้น
จะพิพากษาเอาตามความรู้สึกมิได้
ก็เข้าใจถึงความรู้สึกอย่างสุดซึ้งครับ สำหรับคดีที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก "พิรงรอง รามสูต" กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ๒ ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ นั้น ได้เกิดความไม่สบายใจในหมู่คนทำงานปกป้องสิทธิของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง
แต่อยากให้อ่านคำพิพากษาให้ละเอียด
อย่าใช้ความรู้สึก
มาเรียนรู้แง่มุมของกฎหมายที่ปรากฏในคำพิพากษา ย้ำนะครับ คำพิพากษาของศาลจะต้องอ้างอิงข้อกฎหมาย มิใช่ความรู้สึก
เรียนรู้เพื่อให้เกิดความรู้ว่า ถูกผิดขึ้นกับกติกาบ้านเมืองกำหนดไว้ว่าอย่างไร
รวมถึงการกระทำที่ไม่มีข้อกฎหมายกำหนด ถือเป็นความผิดหรือไม่
และสำคัญที่สุด สามารถใช้ความรู้สึกไปเป็นข้อต่อสู้ในศาลได้หรือไม่
แล้วค่อยมาคิดต่อครับว่าจะย้ายค่ายหรือไม่
ไม่รักทรูแล้วไปเอไอเอสดีกว่า
หรือบางคนรู้สึกว่าเจ็บจากเอไอเอสขอไปทรูดีกว่า
อยู่ที่ความคิดของแต่ละคนแล้วล่ะครับ
มีอยู่แค่ ๒ ค่ายให้เลือก!
ไปอ่านบางตอนของคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อท ๑๔๗, ๗๑/๒๕๖๖ ระหว่างบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำเลย เรื่อง เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
"...ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์เป็นผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน True ID มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ จนถึงปัจจุบัน โดยแอปพลิเคชัน True ID เป็นการให้บริการประเภทผ่านอินเทอร์เน็ตสาธารณะหรือโอทีที และเป็นการให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตสาธารณะของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วไป ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ไม่เคยกำหนดให้ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มดังกล่าวต้องขอรับใบอนุญาตแต่อย่างใด..."
หมายถึงยังไม่มีกฎหมายมาควบคุมแพลตฟอร์มนี้
"...ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๑๖ ก.พ.๖๖ จำเลยทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม โดยมีวาระที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการตรวจสอบการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านการให้บริการกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และแอปพลิเคชัน True ID โดยในที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับลักษณะหรือพฤติการณ์ในการให้บริการของ True ID แต่ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ประกอบกับที่ประชุมเห็นว่า ปัจจุบันมีผู้ให้บริการในลักษณะโอทีที เช่นเดียวกับ True ID จำนวนมาก ซึ่งไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตและไม่ได้รับการกำกับดูแลจาก กสทช. การนำเอาประเด็นลักษณะของการให้บริการของ True ID มาพิจารณาเพียงรายเดียวอาจส่งผลต่อการพิจารณาในประเด็นต่างๆ ในอนาคตได้..."
หมายความว่าผู้ให้บริการที่ถูกมองว่ามีปัญหามิได้มี True ID เพียงเจ้าเดียว แต่มีจำนวนมาก
"...อีกทั้งก่อนที่จำเลยจะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. มีข้อมูลระบุว่า บริการ True ID ของโจทก์เป็นบริการโอทีที และยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายในการกำกับดูแลการประกอบกิจการดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจงข้อเท็จจริงของสำนักงาน กสทช.ที่ยื่นต่อศาลในคดีนี้ว่า กสทช.ยังไม่ได้มีการประกาศกำหนดนิยามของคำว่าโอทีทีไว้เป็นการเฉพาะ..."
แสดงว่า กสทช.ได้รับรู้ถึงช่องโหว่ของกฎหมายก่อนหน้านี้แล้ว
"...ต่อมาวันที่ ๒ มี.ค.๖๖ มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ ๔/๒๕๖๖ ซึ่งจำเลยได้ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม จำเลยได้มีการต่อว่าและตำหนิฝ่ายเลขานุการที่มีการจัดทำหนังสือ โดยไม่ได้ระบุหรือเจาะจงถึงการให้บริการ True ID ของโจทก์ และในรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๖ ไม่ได้มีมติให้สำนักงาน กสทช.จะต้องมีหนังสือแจ้งไปยังผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์โดยระบุเจาะจงถึงบริการ True ID ของโจทก์ แต่ตามบันทึกรายงานการประชุมกลับมีการระบุว่าที่ประชุมมีมติรับรองรายงานการประชุม และเห็นควรมีหนังสือแจ้งผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทั้งที่ในความเป็นจริง การประชุมคณะอนุกรรมการ ครั้งที่ ๔/๒๕๖๖ ไม่ได้มีมติดังกล่าวแต่อย่างใด อันเป็นการทำเอกสารรายงานการประชุมอันเป็นเท็จ..."
ถือเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะมีการใช้เอกสารเท็จ
"...อีกทั้งก่อนจบการประชุมของคณะอนุกรรมการ จำเลยให้เตรียมความพร้อมที่จะล้มหรือระงับการให้บริการแอปพลิเคชัน True ID ของโจทก์ โดยใช้คำพูดว่า "ต้องเตรียมตัว จะล้มยักษ์" และจำเลยก็ยอมรับว่า คำว่า "ยักษ์" หมายถึงโจทก์ ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการสื่อความหมายชัดเจนว่าประสงค์ให้กิจการของโจทก์ได้รับความเสียหาย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เจตนามุ่งประสงค์กลั่นแกล้งโจทก์ และใช้อำนาจหน้าที่ของตนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะภายหลังจากมีหนังสือดังกล่าวแจ้งไปยังผู้ประกอบการรวม ๑๒๗ รายแล้ว มีผู้ประกอบกิจการหลายรายได้ชะลอหรือขยายระยะเวลาเข้าทำนิติกรรมกับโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ จำคุก ๒ ปี..."
เพราะในโซเชียลวิจารณ์ศาลกันเยอะ จึงอยากให้อ่านรายละเอียดกันก่อน ไม่งั้นจะมีแต่การใช้ความรู้สึกและอารมณ์มาตัดสินว่าถูกหรือผิด
เราเรียกร้องธรรมาภิบาลจากบริษัทเอกชน ว่าไม่ควรมุ่งไปที่ผลประกอบการเกินควร ต้องคืนกำไรให้สังคมบ้าง
ในบทผู้บริโภค หรือองค์กรภาคเอกชน เราสามารถใช้ความรู้สึกตัดสินเรื่องนี้ได้อย่างล้านเปอร์เซ็นต์ แต่หากตัดสินบนพื้นฐานของกฎหมายได้ ยิ่งดีเข้าไปใหญ่
เพราะจะรู้วิธีในการงัดข้อกับบริษัทเอกชน
แต่ในบทเจ้าหน้าที่รัฐ หากไม่มีอำนาจเพราะไม่มีกฎหมายกำหนด จะไปใช้ความรู้สึกตัดสินไม่ได้
เอกชนไม่ว่ายักษ์ใหญ่หรือยักษ์เล็กต่างก็อยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายเดียวกัน จะเจาะจงเล่นงานใครเป็นการเฉพาะไม่ได้
จึงเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับนักสู้เพื่อประชาชน
เปิดหน้าชกแล้วคิดว่าจะชนะนั้นยากครับ
กติกามีอย่างไร ควรทำไปตามนั้น
หากเห็นว่ามีช่องโหว่ ก็ควรอุดช่องโหว่ก่อนแล้วค่อยจัดการ รายไหนก็รายนั้น จบทุกราย
ให้กำลังใจคนที่ปกป้องสิทธิของประชาชนครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดังแต่ท่อล้อไม่หมุน
ผ่านไปแล้วครับ... การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลรอบนี้ ไม่มีอะไรน่าประหลาดใจ โดยเฉพาะเสียงโหวต
สอบตกยกชั้น
จบแล้ว... อภิปรายไม่ไว้วางใจสองวัน ผ่านไปอย่างเงียบๆ
วันแรก...ว่าแล้วเชียว
เป็นไงครับ ซักฟอกนายกฯ วันแรก... อินเนอร์มาเต็ม กี้กี้ๆๆๆ
อภิปรายลูก ซักฟอกพ่อ
เริ่มแล้วครับ... มหกรรมจับนายกรัฐมนตรีขึ้นเขียง ฟังจากฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคส้ม อภิปราย ๒ วัน มีไฮไลต์ทั้ง ๒ วัน
สอยนั่งร้าน 'แพทองธาร'
จับตาอย่ากะพริบ! ซักฟอกครั้งนี้มีตัวละครลับ ไม่ใช่พรรคส้ม
ตายคา 'กาสิโน'
สงสัยต้องถอนคำพูด... ที่บอกว่าฝ่ายค้านอ่อนหัด! วันนี้ต้องยกนิ้วให้ "นิ้วโป้ง" ครับ ต้องยกให้ "ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ" สส.พรรคส้ม