หนุน“SME”เร่งลงทุนเทคโนโลยี

ปี 2568 เศรษฐกิจไทยยังเติบโตภายใต้ปัจจัยท้าทายทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งหลายปัจจัยกดดันการเติบโตของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ “เอสเอ็มอี” ที่การเติบโตถูกกดดันมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ที่ผ่านมาอาจได้เห็นภาพผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี บาดเจ็บล้มตายไปพอสมควร ส่วนหนึ่งสะท้อนจากสถานการณ์หนี้ในกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังเป็นประเด็นน่าจับตามอง

ทั้งนี้ ธนาคารโลก (World Bank) ได้ออกมาประเมินแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 อยู่ที่ 2.9% ด้วยปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของการลงทุนที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

ซึ่งมาจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้างก็ตาม โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ภายในกลางปี 2568 ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเงินอุดหนุน (ดิจิทัลวอลเล็ต)

ขณะที่ปี 2569 World Bank คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ราว 2.7% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตแตะระดับศักยภาพได้ภายในปี 2571

ทั้งนี้ World Bank ชี้ว่า การปรับโครงสร้างด้านความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ถือเป็นกุญแจสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งคาดการณ์นี้ชี้ว่า หากรัฐบาลไม่มีการปฏิรูปนโยบายอย่างเร่งด่วน อัตราการเติบโตของประเทศจะชะลอลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าอัตราการเติบโตมีศักยภาพจะลดลงประมาณ 0.5% จากค่าเฉลี่ยที่ 3.2% ในช่วงปี 2554-2564 เหลือเพียง 2.7% ในช่วงปี 2565-2573 ด้วยอัตราการเติบโตในระดับนี้ ประเทศไทยอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย “การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ภายในปี 2580 ได้”

ดังนั้น การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทย สามารถดึงดูดการลงทุนและยกระดับเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่เน้นนวัตกรรมและผลิตผลมากขึ้น โดย World Bank มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ เพิ่มการแข่งขันในตลาดภายในประเทศ ผ่านการดำเนินนโยบายที่ช่วยลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะในภาคบริการ ปรับปรุงกรอบการกำกับดูแล และเพิ่มความยืดหยุ่นของตลาดแรงงาน รวมถึง สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต

โดยบทบาทของนวัตกรรมท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัป เพราะการที่ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายด้านรายได้และยกระดับมาตรฐานการครองชีพได้นั้น จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือในการเพิ่มผลิตภาพของภาคเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้มากขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นเร็วขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่ช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาจะกว้างขึ้น รวมถึงเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญสำหรับธุรกิจในประเทศไทย การปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคการผลิตที่สะอาดและยั่งยืนมากขึ้น ดังนั้นธุรกิจต่างๆ ของไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่เช่นนั้นอาจเสี่ยงต่อการถูกตัดออกจากห่วงโซ่มูลค่าโลก

World Bank มองว่า การดำเนินมาตรการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป แม้จะเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ถือเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีผลิตภัณฑ์ บริการ และวิธีการดำเนินงานใหม่ๆ ที่ไม่เพียงแต่ช่วยรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังต้องตอบสนองต่อความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น การดูแลประชากรสูงอายุ การให้บริการสุขภาพ การศึกษา โลจิสติกส์และการเดินทาง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยที่ลงทุนในนวัตกรรมและการยกระดับเทคโนโลยียังมีไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันจำนวนผู้ประกอบการที่พยายามบุกเบิกตลาดยังคงมีน้อย โดยเฉพาะในภาคดิจิทัล ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มผลิตภาพและขับเคลื่อนนวัตกรรม.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขับรถเร็วแชมป์อุบัติเหตุ

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่มีประชาชนจำนวนมากใช้รถใช้ถนนในการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว ทำให้มีปริมาณการจราจรหนาแน่นในเส้นทาง กระทรวงคมนาคม

Aftershock...สะเทือนท่องเที่ยวไทย

เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 8.2 ริกเตอร์ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมียนมา ในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งแรงสั่นสะเทือนรุนแรงมายังหลายพื้นที่ในไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร

เทรนด์ความงามต้องจับตามอง

ในปัจจุบันผู้คนมีมุมมองความงามที่เปลี่ยนไป ไม่ยึดติดกับบิวตี้สแตนดาร์ดเดิมๆ เปิดรับความงามที่หลากหลายในแบบที่แต่ละคนมั่นใจ และไม่ได้มองว่าความงามเป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอก แต่สะท้อนถึงตัวตน

ห่วงศก.ซบกระทบ“จำนำทะเบียนรถ”

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ “หนี้ครัวเรือนไทย” แม้จะมีการชะลอตัวลงบ้างแล้วแต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง โดยจากข้อมูลของ “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์” ที่ระบุว่า ภาวะหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 3/2567

นวัตกรรมดัน‘เศรษฐกิจใหม่’

ท่ามกลางกระแสของการลงทุนที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ตกขบวนการลงทุน มุมมองใหม่ๆ เข้ามากยิ่งขึ้น รวมถึงแนวทางการในเทคโนโลยี

อย่าฉวยโอกาสยามวิกฤต

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ริกเตอร์ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อเวลา 13.20 น.ของวันที่ 28 มี.ค. ได้ส่งผลให้แรงสะเทือนถึงประเทศไทยหลายพื้นที่ ได้สร้างความเสียหายรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร