
ประเทศไทยถือว่ามีซอฟต์พาวเวอร์อยู่หลายแขนง ไม่ใช่เพียงแค่อาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้เองเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดค้นโซลูชัน วิธีการ และแผนงานที่จะหยิบซอฟต์พาวเวอร์นั้นๆ ขึ้นมาพัฒนาจนสามารถจะใช้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ดึงดูดการท่องเที่ยว ดึงดูดการลงทุน และสร้างเม็ดเงินที่พ่วงมาด้วยอีกมากมาย ทำให้กลายเป็นหนึ่งในหัวรถจักรที่จะพัฒนาการเติบโตของเศรษฐกิจได้ แต่การจะหยิบยกประเด็นอะไรขึ้นมาพัฒนาออกมาเป็นแนวทาง จำเป็นต้องมีการวางแผน วิเคราะห์ ติดตาม รวมถึงลงแรงลงใจในการเดินหน้าสิ่งนั้นด้วยเช่นกัน
แต่เพราะความหลากหลายของซอฟต์พาวเวอร์ในประเทศไทยเอง ทำให้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองเห็นเป็นโอกาส จึงได้จัดตั้ง “สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์” หรือ Creative Industry and Soft Power Institute (CISPI) ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเชื่อมโยงภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวเนื่องในการสร้างระบบนิเวศ (Enabling Ecosystem) ของอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้วยซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ซึ่งจะรวมถึงวัฒนธรรม (Culture) ประเพณีที่ตกทอด (Heritage) และภูมิปัญญา (Wisdom) ของไทย
เพื่อผลักดันให้เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ (New Growth Engine) ที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ สู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ที่เพิ่มคุณค่าและมูลค่าด้วยอัตลักษณ์ไทย ตลอดจนส่งเสริมเรื่องการสร้างแบรนด์ของสินค้าไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกระยะยาว โดย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยว่า ในแง่ของการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้วยซอฟต์พาวเวอร์ไทย ประเทศไทยถือว่ามีความโดดเด่นในเรื่องของวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ การผลิตที่ละเอียดลออ งดงาม ผ่านความคิดสร้างสรรค์ และไทยมีโอกาสในการสร้างอุตสาหกรรมการผลิตสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.46 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี
“เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากมายจากการเปลี่ยนแปลงระดับโลกที่สร้างความท้าทายในช่วงเวลาที่ผ่านมา เช่น สงครามการค้า ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี การก่อจารกรรมทางไซเบอร์ เป็นต้น อีกทั้งความท้าทายเหล่านี้มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยปี 2568 ในหลายๆ ด้าน ทั้งปัจจัยด้านบวกและลบ โดย ส.อ.ท.ตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมที่จะกลายเป็นดาวเด่นในปีนี้และอนาคต ซึ่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ขับเคลื่อนด้วยนโยบาย Soft Power ถือเป็นหนึ่งในนั้น เพราะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ที่ถือว่าเป็นแรงส่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญ” นายเกรียงไกรกล่าว
ทางด้าน นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธาน CISPI กล่าวว่า ภารกิจของสถาบันคือ การผลักดันเอกลักษณ์ไทย รวมทั้งสร้างระบบนิเวศแห่งความร่วมมือ โดยในระยะเริ่มต้น สถาบันได้กำหนด 6 กลุ่มงานนำร่องในการพัฒนา ได้แก่ 1.อาหาร เป้าหมายคือ อาหารไทยสู่ Top 10 โลก โดยใช้ “THAI SELECT” ของกระทรวงพาณิชย์เป็น Umbrella Brand รับรองมาตรฐานรสชาติอาหารไทย ตั้งแต่ระดับปลายน้ำจนถึงต้นน้ำของซัพพลายเชน 2.แฟชั่น เป้าหมายคือ การสร้างแบรนด์แฟชั่นไทย สู่ Top 10 โลก โดยพัฒนาร่วมกับผู้ออกแบบและซัพพลายเชน ตลอดจนส่งเสริมการทำนวัตกรรมในอุตสาหกรรมแฟชั่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการออกแบบ
3.อัญมณี มีหมุดหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอัญมณีและเครื่องประดับ 4.เกม มีเป้าหมายทดแทนเกมนำเข้าด้วยเกมไทยในสัดส่วน 10% ของยอดนำเข้า ซึ่งประเมินมูลค่าได้ถึงเกือบ 4 หมื่นล้านบาท 5.ความเป็นอยู่ที่ดี (Wellness) มีเป้าหมายเพื่อนำเสน่ห์แห่ง Wellness ของไทยให้เป็นแบรนด์ที่สร้างความประทับใจและพึงพอใจทั่วโลก และ 6.ซอฟต์พาวเวอร์ภูมิภาค ด้วยการสร้างโมเดลผ่านการสร้างสื่อเข้าถึงง่าย ทั้งทางรายการโทรทัศน์และช่องทางออนไลน์ เป็นรายจังหวัดสู่สาธารณะในวงกว้าง การแนะนำ Soft Power ของจังหวัดในรูปแบบคนท้องถิ่น รวมทั้งการแนะนำผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของจังหวัดและกำหนดแบรนด์.
ณัฐวัฒน์ หาญกล้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับตา‘AI agent’พลิกโฉมธุรกิจ!
ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) กำลังเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในยุคปัจจุบันในทุกแวดวง โดยเฉพาะแวดวงธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ด้วยเพราะ AI ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีฟังก์ชันที่สามารถทำงานได้เสมือนมนุษย์
โอกาสของความยั่งยืน
ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเรื่องพลังงานสะอาดเป็นเทรนด์ที่ทุกคนจะต้องดำเนินงานตาม ไม่ใช่เพียงกระแสที่มาแล้วก็ไป แต่เป็นโครงสร้างที่ชัดเจนและเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมองว่าเป็นหนึ่งในหนทางสำคัญในการจะดูแลรักษาโลกใบนี้ให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างต่อเนื่อง
ลดค่าไฟลดค่าครองชีพ
ในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนอย่างมาก หลังรัฐบาลทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก เศรษฐกิจไทยซึ่งไม่สู้ดีอยู่แล้ว ก็ทำให้เกิดอาฟเตอร์ช็อกเข้าไปอีก
ขับรถเร็วแชมป์อุบัติเหตุ
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่มีประชาชนจำนวนมากใช้รถใช้ถนนในการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว ทำให้มีปริมาณการจราจรหนาแน่นในเส้นทาง กระทรวงคมนาคม
Aftershock...สะเทือนท่องเที่ยวไทย
เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 8.2 ริกเตอร์ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมียนมา ในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งแรงสั่นสะเทือนรุนแรงมายังหลายพื้นที่ในไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร
เทรนด์ความงามต้องจับตามอง
ในปัจจุบันผู้คนมีมุมมองความงามที่เปลี่ยนไป ไม่ยึดติดกับบิวตี้สแตนดาร์ดเดิมๆ เปิดรับความงามที่หลากหลายในแบบที่แต่ละคนมั่นใจ และไม่ได้มองว่าความงามเป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอก แต่สะท้อนถึงตัวตน