
“ภาคการส่งออก” ยังถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในปี 2568 กระทรวงพาณิชย์ ยังคงตั้งเป้าหมายการส่งออกว่าจะขยายตัวได้ 2-3% หลังจากที่มูลค่าการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค.-ก.พ.) ขยายตัวได้สูงถึง 13.8% ดังนั้นจึงทำให้คาดหวังได้ว่าการส่งออกในปีนี้จะโตได้เกินกว่าเป้าหมายอย่างแน่นอน
พร้อมทั้งได้ประเมินทิศทางการส่งออกของไทยในช่วงหลังจากนี้ด้วยว่า “จะมีทิศทางที่ดีขึ้น” เนื่องจากปีที่ผ่านมามีการลงทุนในประเทศสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะสินค้าประเภทแผงวงจรพิมพ์ (PCB) และจากข้อมูลคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้มียอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนด้วย เป็นเครื่องสะท้อนว่าแนวโน้มการส่งออกในปีนี้น่าจะดีกว่าปีก่อน
ขณะที่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ประเมินแนวโน้มมูลค่าส่งออกของไทยในปี 2568 จะขยายตัวได้ที่ 1.6% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 2% และต่ำกว่าเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลที่ตั้งไว้ราว 3-3.5% เนื่องจากมองว่าปัจจัยสนับสนุนการส่งออกไทยในไตรมาสแรก ส่วนมากเป็นปัจจัยชั่วคราว เช่น การส่งออกทองคำผสมโลหะไปอินเดีย ขณะที่แรงกดดันต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะไตรมาส 4
โดย SCB EIC ได้ประเมินว่าทิศทางการส่งออกไทยมีแนวโน้มชะลอลงมากในไตรมาส 2 และจะหดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง เป็นผลจากการใช้นโยบายกีดกันการค้า การลงทุน และการอพยพและการเคลื่อนย้ายแรงงานที่จะเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะการกีดกันจากสหรัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจและบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง รวมถึงผล Front load การเร่งผลิตและส่งออกช่วงปลายปีก่อน และต้นปีนี้จะทยอยหมดลง อานิสงส์วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้นเริ่มลดลง อีกทั้งยังมีปัจจัยจากฐานที่สูงจากช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะกดดันการส่งออกในครึ่งหลังของปี 2568 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกไทยขยายตัวมากถึง 7.5% ในไตรมาส 3/2567 และ 10.5% ในไตรมาส 4/2567 ซึ่งเทียบกับครึ่งแรกของปี 2567 ที่ขยายตัวได้ 1.9%
สำหรับมูลค่าการส่งออกในเดือน มี.ค.2568 นั้น SCB EIC ประเมินว่าจะยังคงขยายตัวได้ดี จากอานิสงส์วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในช่วงขาขึ้น แนวโน้มการเร่งสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าก่อนนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐ การส่งออกทองคำ รวมถึงทองคำในรูปแบบโลหะอื่นๆ ไปยังอินเดีย ก่อนรัฐบาลอินเดียจะเริ่มปรับปรุงเกณฑ์ช่องว่างการนำเข้าทองคำ รวมถึงปัจจัยฐานต่ำในเดือน มี.ค.2567 ที่หดตัวมากถึง -10.5% จะสนับสนุนการส่งออกในเดือน มี.ค.ปีนี้ได้
ขณะที่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ได้ออกบทวิเคราะห์โดยระบุว่า แม้การส่งออกในเดือน ก.พ.2568 จะขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ส่วนหนึ่งยังคงเป็นผลมาจากปัจจัยชั่วคราว เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐ และยังต้องจับตาการประกาศภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในเดือน เม.ย.นี้ด้วย โดยสินค้าไทยเสี่ยงต่อการถูกเรียกเก็บ เนื่องจากมีส่วนต่างภาษีและเกินดุลกับสหรัฐมาก เช่น HDD คอมพิวเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ ล้อ โซลาร์เซลล์ และเครื่องปรับอากาศ เป็นกลุ่ม TOP-6 ของสินค้าที่เกินดุลสหรัฐ ซึ่งหากมีการใช้มาตรการภาษีศุลกากรดังกล่าวตอบโต้ต่อไทยย่อมกระทบการส่งออกของไทยในภาพรวม
นอกจากนี้หากมองต่อไปข้างหน้า ประเมินว่า “สงครามการค้า” ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะกระทบต่อการส่งออกของไทยอีกด้วย โดยในช่วงสงครามการค้ารอบก่อน การส่งออกของไทยเร่งตัวขึ้นก่อนสหรัฐจะเริ่มใช้มาตรการภาษีกับจีน แต่หลังจากขึ้นภาษีในเดือน ก.ค.2561 แล้ว การส่งออกของไทยชะลอและหดตัวลง ดังนั้นการส่งออกที่เร่งตัวขณะนี้ “อาจเป็นปัจจัยชั่วคราว” แต่ในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงที่จะแผ่วลง โดยไทยเสี่ยงถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าโดยตรง ต่างจากรอบก่อนที่พุ่งเป้าเฉพาะจีน อีกทั้งยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากการแย่งตลาดของจีน ตลอดจนการกีดกันและตอบโต้ที่รุนแรงจะฉุดการค้าโลกให้อ่อนแรงลงอีกด้วย.
ครองขวัญ รอดหมวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับตา‘AI agent’พลิกโฉมธุรกิจ!
ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) กำลังเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในยุคปัจจุบันในทุกแวดวง โดยเฉพาะแวดวงธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ด้วยเพราะ AI ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีฟังก์ชันที่สามารถทำงานได้เสมือนมนุษย์
โอกาสของความยั่งยืน
ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเรื่องพลังงานสะอาดเป็นเทรนด์ที่ทุกคนจะต้องดำเนินงานตาม ไม่ใช่เพียงกระแสที่มาแล้วก็ไป แต่เป็นโครงสร้างที่ชัดเจนและเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมองว่าเป็นหนึ่งในหนทางสำคัญในการจะดูแลรักษาโลกใบนี้ให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างต่อเนื่อง
ลดค่าไฟลดค่าครองชีพ
ในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนอย่างมาก หลังรัฐบาลทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก เศรษฐกิจไทยซึ่งไม่สู้ดีอยู่แล้ว ก็ทำให้เกิดอาฟเตอร์ช็อกเข้าไปอีก
ขับรถเร็วแชมป์อุบัติเหตุ
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่มีประชาชนจำนวนมากใช้รถใช้ถนนในการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว ทำให้มีปริมาณการจราจรหนาแน่นในเส้นทาง กระทรวงคมนาคม
Aftershock...สะเทือนท่องเที่ยวไทย
เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 8.2 ริกเตอร์ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมียนมา ในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งแรงสั่นสะเทือนรุนแรงมายังหลายพื้นที่ในไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร
เทรนด์ความงามต้องจับตามอง
ในปัจจุบันผู้คนมีมุมมองความงามที่เปลี่ยนไป ไม่ยึดติดกับบิวตี้สแตนดาร์ดเดิมๆ เปิดรับความงามที่หลากหลายในแบบที่แต่ละคนมั่นใจ และไม่ได้มองว่าความงามเป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอก แต่สะท้อนถึงตัวตน