ตรรกะวิบัติของกำแพงภาษีทรัมป์2.0

นักวิชาการหลายคนชี้ว่า หลักกำแพงภาษีทรัมป์ไม่ถูกต้อง ตรรกะวิบัติชัดเจน สร้างผลเสียมากกว่าผลดี ประเทศต่างๆ ต้องคิดให้ดีว่าควรเพิ่มการค้ากับใครดี

นโยบายกำแพงภาษีไม่ใช่เรื่องใหม่ ทรัมป์สมัยแรกเคยใช้กับบางประเทศแล้ว ขึ้นภาษีสินค้าจีน 20-30% เพื่อลดขาดดุลการค้า ปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ตั้งแต่ครั้งนั้นถูกตีความว่าเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

ภาพ: ตรรกะวิบัติของกำแพงภาษีทรัมป์ 2.0

เครดิตภาพ: ภาพจากปัญญาประดิษฐ์

3 ใน 4 ยอมรับแล้วว่าสินค้าแพงขึ้น:

เมษายน 2025 Gallup รายงานผลสำรวจพบว่า ชาวอเมริกัน 53% คิดว่าสภาพการเงินของตนแย่ลง แย่สุดนับจากปี 2001 เป็นต้นมา เป็นผลจากการขึ้นภาษีศุลกากรหลายสิบประเทศ 58% คิดว่าตลาดหุ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้ายังคงย่ำแย่ 48% คิดว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่น่าดีดังคาด เงินเฟ้อพุ่ง งานดีๆ หายาก

ในรายละเอียด พวกรีพับลิกันมองสภาพการเงินของตนดีขึ้นเมื่อทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ส่วนใหญ่ยังมองอนาคตในแง่ดี ส่วนพวกเดโมแครตมองแง่ลบ หลายคนตื่นตระหนกจากนโยบายของทรัมป์ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

 ไม่ว่าทรัมป์ 2.0 จะชี้แจงอย่างไร ย้ำผลดีในระยะยาว หลายภาคส่วนสะท้อนผลลบออกมาแล้ว โดยเฉพาะด้านจิตวิทยา

ตรรกะวิบัติของกำแพงภาษีทรัมป์ 2.0:

นักวิเคราะห์ได้รวบรวมเหตุผลที่ชี้ว่านโยบายกำแพงภาษีทรัมป์ 2.0 นั้นไม่ชอบธรรม ไม่สมเหตุผล ดังนี้

ประการแรก ขึ้นภาษีสินค้าที่ไม่มีหรือผลิตไม่ได้

ไม่มีประเทศใดปลูกหมดทุกอย่าง ล้วนต้องนำเข้าผลผลิตเกษตรบางอย่าง จากประเทศอื่นที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกพืชชนิดนั้นมากกว่า สินค้าเกษตรหลายอย่างที่สหรัฐไม่ปลูก เช่น กล้วยหอม กาแฟ พวกนี้มาจากการนำเข้าเท่านั้น

ทำนองเดียวกับแร่ธาตุหลายชนิดที่จำต้องนำเข้า

การเก็บภาษีสินค้าพวกนี้มีแต่สร้างภาระแก่อุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าและต่อผู้บริโภค ยิ่งภาษีสูงเท่าใด สุดท้ายคนอเมริกันต้องควักเงินจ่าย

ถ้าผลิตเพื่อส่งขายเท่ากับรัฐเพิ่มต้นทุนให้กับสินค้า

ประการที่ 2 ไม่ควรผลิตสินค้าแรงงานราคาถูก

นโยบายที่จะผลิตสินค้าทุกอย่างเป็นแนวทางที่ผิดพลาด สินค้าบางอย่างใช้แรงงานราคาถูก ไม่เหมาะกับประเทศที่ค่าแรงสูง นี่คือเหตุผลสหรัฐเลิกผลิตสินค้าจำพวกตุ๊กตา เสื้อผ้า รองเท้า

 ในมุมเอกชน รัฐบาลทรัมป์มาแล้วก็ไป ไม่มีหลักประกันว่ารัฐบาลชุดหน้าจะยังคงส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตสินค้าราคาถูก ใช้แรงงานมาก การลงทุนกว่าจะคืนทุนต้องใช้เวลาหลายปี เอกชนจึงเห็นว่าไม่ควรเสี่ยง ดังนั้นไม่ว่าจะตั้งกำแพงภาษีกี่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ไม่จูงใจ

ประการที่ 3 โดนโต้กลับ

รัฐบาลสหรัฐย้ำเหตุต้องขึ้นภาษี ในทำนองเดียวกันประเทศอื่นมีเหตุผลต้องตอบโต้เช่นกัน รัฐบาลสหรัฐทำเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ เพื่อคนอเมริกัน รัฐบาลประเทศอื่นต้องทำเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ เพื่อคนของเขาเช่นกัน

ผลคือหลายประเทศโต้กลับด้วยกำแพงภาษี และเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ บัดนี้หลายประเทศแสดงออกชัดเจนว่ารัฐบาลสหรัฐไม่น่าเชื่อถือ นี่คือ American decline ที่แท้จริง

ประการที่ 4 ไม่เพิ่มการจ้างงานมากอย่างที่คิด

ประธานาธิบดีทรัมป์มักพูดว่าต่างชาติแย่งงาน ตนกำลังนำงานนับแสนตำแหน่งกลับคืน ผู้เชี่ยวชาญให้คำตอบว่าหากนำการผลิตพวกนั้นกลับมา เมื่อคำนวณต้นทุนแรงงาน บริษัทจะต้องผลิตโดยใช้เครื่องจักรเกือบทั้งหมด ผลคือไม่ต้องการแรงงานจำนวนมาก อีกทั้งมีคำถามว่าแรงงานที่มีทักษะสูงขนาดนั้นมีมากพอหรือไม่

ประการที่ 5 ทำให้เศรษฐกิจโตช้าและอาจถดถอย

นักเศรษฐศาสตร์คำนวณแล้วว่าการเก็บภาษีจำนวนมากช่วยลดขาดดุลการค้า แต่สินค้าแพงทำให้การจับจ่ายซื้อของลดลง และเนื่องจากจีดีพีสหรัฐขึ้นกับการบริโภคภายในเป็นหลัก จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐโดยรวม ทำให้โตช้าและอาจถดถอย

ประการที่ 6 ภาษีตอบโต้ไม่ควรตั้งบนฐานการขาดดุล

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ อัตราภาษีตอบโต้หรืออัตราภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) ไม่ควรตั้งบนฐานการขาดดุลการค้า แต่ให้ตั้งบนผลิตภัณฑ์ (คิดเป็นรายตัว) ดังนั้นการตั้งกำแพงภาษีหลายสิบประเทศเท่ากัน 10% จึงผิดหลักการชัดเจน

และควรคำนวณโดยใช้ข้อมูลย้อนหลังหลายปี (ทรัมป์ใช้ปีเดียว) เพื่อได้ค่าเฉลี่ยที่เหมาะสม เนื่องจากตัวเลขขาดดุลแต่ละปีมักขึ้นๆ ลงๆ

ประการที่ 7 นักลงทุนนานาชาติไม่เชื่อถือ

การขึ้นกำแพงภาษีฝ่ายเดียวละเมิดกติกาการค้าเสรีของ WTO และฉีกข้อตกลงการค้าอื่นๆ ที่ทำกับหลายประเทศ ไม่เพียงทำลายความน่าเชื่อระหว่างรัฐ ยังทำให้นักลงทุนนานาชาติไม่เชื่อถือสหรัฐอีกต่อไป ใครจะประกันได้ว่าในอนาคตรัฐบาลสหรัฐจะทำอะไรอีก ข้อตกลงใดๆ ที่ทำไว้ถูกฉีกทิ้งได้เสมอ

เอกชนอ่อนไหวต่อกำไรขาดทุน การจะตัดสินใจลงทุนต้องคิดรอบคอบ สหรัฐกลายเป็นความเสี่ยงภัยที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ หากจะทำการค้าด้วยต้องเตรียมตัวล่วงหน้าว่าสามารถรับความเสี่ยง ปรับลดสัดส่วนลงทุนหรือทำการค้าแต่น้อย พร้อมรับความเสียหายส่วนนี้

ประการที่ 8 ควรทำการค้ากับใครดี... สหรัฐหรือจีน

ตอนนี้ที่การค้าระหว่างสหรัฐ-จีนส่อว่าจะลดลงอย่างมาก สหรัฐต้องการนำเข้าสินค้ามากมายแทนสินค้าจีน ในแง่หนึ่งเป็นโอกาสที่ดีแก่ประเทศที่หวังเพิ่มการส่งออก แต่ในอีกด้านต้องตระหนักว่า จุดยืนสหรัฐคือห้ามใครเกินดุล เมื่อเกินดุลสหรัฐจะเรียกร้องบางอย่าง อาจเป็นการขึ้นภาษีหรืออื่นๆ ดังนั้นหากจะค้าขายเพิ่มเติม ต้องคำนึงผลที่ตามมา สุดท้ายรัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องคิดให้ดีว่าควรเพิ่มการค้ากับใครดี

เพราะเชื่อทรัมป์แบบไม่ลืมหูลืมตา:

คนที่ติดตามสถานการณ์โลกจะรู้ว่าตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง สถาบันเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนัก ล้วนเตือนว่านโยบายกำแพงภาษีจะสร้างความเสียหายต่อสหรัฐและโลก แต่ทรัมป์ยืนยันว่านโยบายของเขาถูกต้อง จึงเดินหน้าท่ามกลางเสียงคัดค้านทั้งจากในและต่างประเทศ

 ในอีกด้านต้องยอมรับว่า ทรัมป์มีผู้สนับสนุนอย่างเหนียวแน่นหลายล้านคน พวก MAGA กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์มองฝ่ายตรงข้ามพูดผิดหมด ประสงค์ร้ายต่อทรัมป์ จึงรับฟังแต่ทรัมป์เท่านั้น รับสื่อข้างเดียว ล่าสุดพวกที่สนับสนุนทรัมป์อย่างเข้มแข็งยังคงเชียร์รัฐบาลอย่างเหนียวแน่น คิดแบบทรัมป์ว่าที่สุดแล้วจะกลายเป็นผลดี ทำกำไรแก่ประเทศนับแสนล้านดอลลาร์

ในเวลาไม่ถึง 100 วันของประธานาธิบดีคนใหม่ คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่ลงคะแนนให้ทรัมป์ผิดหวังอย่างรุนแรง บัดนี้คนอเมริกันหลายรัฐประท้วงรัฐบาลเป็นประจำทุกสัปดาห์ สาเหตุสำคัญมาจากตรรกะวิบัติของกำแพงภาษีทรัมป์ 2.0 นั่นเอง

เหตุการณ์นี้คงช่วยให้คนอเมริกันฉลาดขึ้น ไม่ฟังความข้างเดียว ไม่สนับสนุนแบบไม่ลืมหูลืมตา รู้จักแยกแยะว่าในแต่ละเรื่องผู้นำประเทศพูดจริงหรือพูดเท็จ หลักการที่ตนยึดถือเหมาะสมหรือไม่ ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ถูกต้องมากน้อยเพียงใด

รวมความแล้ว นักวิชาการหลายคนชี้ว่าหลักกำแพงภาษีทรัมป์ไม่ถูกต้อง ตรรกะวิบัติชัดเจน สร้างผลเสียมากกว่าผลดี ในมุมมองที่กว้างขึ้นควรพิจารณามากกว่าหลักเศรษฐศาสตร์ มีประเด็นที่ไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจการค้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาตินิยมกับคลั่งชาติต่างกันอย่างไร

ชาตินิยมเป็นรากฐานการอยู่ร่วมกัน ประเทศไม่ได้ให้ทุกอย่างดังหวัง แต่ดีกว่าคนสิ้นชาติ ไม่เหลือประเทศกับคนรักให้ปกป้อง พวกคลั่งชาติจะรุกรานผู้อื่น

America First ในอีกมุมมอง (2)

แต่แล้วการเป็นสมาชิกนาโต พันธมิตรใกล้ชิดกลับไม่ปลอดภัยอีกต่อไป เมื่อสหรัฐต้องการครอบครองกรีนแลนด์ หวังให้แคนาดาสิ้นชาติ

America First ในอีกมุมมอง (1)

ถ้าสหรัฐไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ นโยบายใดๆ จะเป็นเพียงแค่บรรเทาอาการ โรคร้ายกระจายทั่วร่าง กัดกินจนถึงกระดูก ทำลายแม้กระทั่งจิตวิญญาณรากฐานอเมริกันชน ต่อให้รีเซตระเบียบโลกก็ช่วยไม่ได้

สหรัฐกระชับอำนาจโลกด้วยกำแพงภาษี

ฉากใหญ่ที่สำคัญกว่าคือ รัฐบาลสหรัฐกำลังจัดระเบียบโลกใหม่ โดยใช้การค้าระหว่างประเทศเป็นตัวเปิดหน้า เงื่อนไขของสหรัฐกับจีนกำลังสู้กัน นานาชาติกำลังปรับตัว

อาเซียน+3ผนึกกำลังต้านลัทธิคุ้มครองทางการค้า

อาเซียนไม่โดดเดี่ยว มีจีนกับญี่ปุ่นอยู่ในกลุ่ม ช่วยให้สมาชิกผ่านพ้นมรสุมได้ดียิ่งขึ้น และน่าจะเห็นความร่วมมือที่แน่นแฟ้นและเป็นรูปธรรมตามมา