อาเซียนไม่โดดเดี่ยว มีจีนกับญี่ปุ่นอยู่ในกลุ่ม ช่วยให้สมาชิกผ่านพ้นมรสุมได้ดียิ่งขึ้น และน่าจะเห็นความร่วมมือที่แน่นแฟ้นและเป็นรูปธรรมตามมา
พฤษภาคม 2025 แถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 28 (Joint Statement of the 28th ASEAN+3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting) ประกาศจุดยืนและท่าทีต่อกำแพงภาษีทรัมป์ 2.0 อาเซียนแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน โดยร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มีสาระสำคัญพร้อมการวิเคราะห์ ดังนี้
ภาพ: แถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 28
เครดิตภาพ: https://asean.org/wp-content/uploads/2025/05/Final-Draft-of-Joint-Statement_28th-AFMGM3-clean_20250504.pdf
ต่อต้านลัทธิคุ้มครองทางการค้า:
แถลงการณ์ร่วมฯ เริ่มต้นด้วยการบรรยายว่าเศรษฐกิจภูมิภาคดำเนินด้วยดี เงินเฟ้อลดลง การบริโภคภายในแข็งแกร่ง ส่งออกโดยรวมเข้มแข็ง ฟื้นตัวจากโรคระบาดโควิด-19 จีดีพีรวมปี 2025 น่าจะอยู่ที่ 4% อาจต่ำกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย ที่อยู่ 4.2-4.3% สามารถปรับตัวเข้ากับบริบทที่เปลี่ยนแปลง แต่มองอนาคตว่าไม่แน่นอน
“ลัทธิคุ้มครองทางการค้า" (trade protectionism) คือต้นเหตุสำคัญของความไม่แน่นอนในอนาคต นำสู่การแบ่งแยกทางเศรษฐกิจ ทำให้การค้าการลงทุน การไหลของทุนเปลี่ยนไป เศรษฐกิจชะลอตัว
ยึดมั่นพหุภาคีนิยม:
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว อาเซียน+3 เรียกร้องให้ภูมิภาคเป็นเอกภาพและร่วมมือกันเผชิญหน้าความไม่แน่นอนนี้ ปรับตัวรับมือสถานการณ์ในวันข้างหน้า โดยยึดความยืดหยุ่นรับมือเหตุการณ์เฉพาะหน้า รวมทั้งความอ่อนไหวของระบบการเงินโลก แต่ละประเทศต้องมีมาตรการรับมือ
ระเบียบโลกกำลังเปลี่ยนแปลง ไม่ชัดว่าผลปลายทางเป็นอย่างไร อาเซียน+3 ยืนยันยึดมั่นพหุภาคีนิยม (multilateralism) ที่ตั้งบนกติกา ไม่เลือกปฏิบัติ แต่เปิดเสรี ยุติธรรม รวมทุกประเทศเข้ามา ยึดความเท่าเทียม เป็นระบบการค้าพหุภาคีที่โปร่งใส มีองค์การการค้าโลกเป็นแกนหลัก ยึดมั่นความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่อาเซียน+3 เป็นสมาชิก
วิเคราะห์: รัฐบาลสหรัฐพูดพร่ำเสมอว่า ขอให้นานาชาติยึดนโยบายสร้างระเบียบการค้าที่ตั้งอยู่บนกติกา แต่กลับละเมิดแนวทางทุนนิยมการค้าเสรี ละเมิดหลักองค์การการค้าโลก การถอยห่างจากการค้าเสรีนี้ไม่ได้เริ่มในทรัมป์ 2.0 ในสมัยไบเดนก็ถอยห่างเช่นกัน รัฐบาลไบเดนถือนโยบายการค้าหลายอย่างที่สอดคล้องกับทรัมป์สมัยแรก
รัฐบาลสหรัฐมักพูดว่าต้องการสร้าง “ระเบียบการค้าที่ตั้งอยู่บนกติกา” จึงมีคำถามว่าคืออย่างไรกันแน่ เห็นชัดว่ารัฐบาลสหรัฐกำลังใช้พลังเศรษฐกิจเพื่อเป้าหมายการเมืองระหว่างประเทศ เจาะจงเล่นงานบางประเทศที่ถูกตีตราว่าเป็นปรปักษ์ และพร้อมฉีกกติกาการค้าที่ตนร่างขึ้น
ด้วยเหตุนี้นานาชาติกับเอกชนทั่วโลกจึงตีตราว่า รัฐบาลสหรัฐไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครต นี่คือ American decline ที่แท้จริง
ความร่วมมือทางการคลัง:
ประการแรก ร่วมความเข้าใจสถานการณ์โลก
บทบาทพื้นฐานคือ ส่งเสริมการอภิปราย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในเรื่องการคลัง แนวทางการบริหารจัดการด้านการคลัง
ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาความยั่งยืนทางการคลัง และรับมือสังคมคนสูงวัย ตั้งเป้าเพิ่มความร่วมมือด้านนี้มากขึ้น
อาเซียน+3 สร้างกลไกความร่วมมือบางอย่าง เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์โลกที่เกี่ยวข้อง ได้บทสรุปร่วมกัน เป็นประโยชน์ต่อสมาชิก สามารถร่วมกันจัดการปัญหาทันท่วงที แถลงการณ์ร่วมฯ ที่ต่อต้านลัทธิคุ้มครองทางการค้าฉบับนี้คือผลงานของกลไก
วิเคราะห์: ถ้ายึดแถลงการณ์ร่วมฯ ความร่วมมืออาเซียน+3 เน้นหารือ แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ เป็นไปได้หรือไม่หากสถานการณ์กดดันมากกว่านี้ความร่วมมือจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น เป็นอีกทางเลือกให้กับสมาชิกที่อยู่ในเอเชียแปซิฟิก และอาจทำภายใต้กรอบ RCEP ที่มีอยู่แล้ว
เป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากกลุ่มบริกส์ (BRICS) ที่ถูกวิพากษ์ว่าเป็นปรปักษ์กับสหรัฐอย่างชัดเจน เช่น ตั้งใจลดใช้ดอลลาร์ นโยบายสร้างสกุลเงินตนเอง มีระบบชำระเงินของตนเองที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นตามลำดับ
มกราคม 2025 ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศห้ามเลิกใช้ดอลลาร์ในการค้าโลก ประเทศใดขัดขืนจะเจอกำแพงภาษี 100%
กรอบความร่วมมือทางการคลังอาเซียน+3 ในอนาคตคงไม่เข้มข้นเท่า BRICS เป็นแนวทางแบบอาเซียนที่เน้นความยืดหยุ่น ไม่บังคับ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรง เป็นอีกช่องทางหนึ่งในยามที่ระเบียบโลกกำลังเปลี่ยน อนาคตไม่แน่นอน รัฐบาลสหรัฐพยายามสร้างระเบียบโลกใหม่ตามความต้องการของตน
ประการที่ 2 CMIM
ปฏิบัติตามข้อตกลง Chiang Mai Initiative Multilateralisation (CMIM) หรือข้อตกลงพหุภาคีว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ภายใต้กรอบอาเซียน+3 เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งความร่วมมือทางการเงินระดับภูมิภาค
ให้ความสำคัญต่อกลไกการเงินเร่งด่วน (Rapid Financing Facility: RFF) โดยรวมสกุลเงินที่สามารถใช้ได้อย่างเสรีและมีคุณสมบัติเหมาะสมให้เป็นสกุลเงินหลักภายใต้ CMIM (กลไกนี้ไม่สร้างสกุลเงินใหม่ เน้นให้ความสำคัญกับบางสกุล) เป้าหมายดั้งเดิมคือ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิก ที่ประสบปัญหาด้านดุลการชำระเงิน หรือขาดแคลนสภาพคล่องในระยะสั้น เป็นกลไกเสริมจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
ที่มาของ CMIM คือ วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตการณ์ทางการเงินเอเชีย ปี 1997-1998 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อหลายประเทศในภูมิภาค รัฐบาลในสมัยนั้นนึกถึงกลไกช่วยเหลือทางการเงินนอกเหนือจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่มีอยู่เดิม กล่าวได้ว่า CMIM คือความช่วยเหลือระดับภูมิภาคนั่นเอง ดึงความช่วยเหลือจากจีนกับญี่ปุ่นที่ฐานะการคลังเข้มแข็งกว่า มีประสิทธิภาพสูงกว่า
ประการที่ 3 โครงการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย
โครงการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) เป้าหมายหลักคือ พัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชีย ให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แทนการพึ่งพาการระดมทุนด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพียงอย่างเดียว โครงการนี้คืบหน้าตามลำดับ ในอนาคตน่าจะมีบทบาทมากขึ้น ทำให้จีนกับญี่ปุ่นมีบทบาทต่อตลาดพันธบัตรเอเชียนี้
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป:
ยุทธศาสตร์ทรัมป์ 2.0 สร้างความปั่นป่วน ความไม่แน่นอนต่อสถานการณ์โลก ASEAN+3 ช่วยให้อาเซียนไม่โดดเดี่ยว อย่างน้อยมีมหาอำนาจเศรษฐกิจจีนกับญี่ปุ่นอยู่ในกลุ่ม น่าจะช่วยให้อาเซียนผ่านพ้นมรสุมครั้งนี้ได้ดียิ่งขึ้น และน่าจะเห็นความร่วมมือที่แน่นแฟ้นและเป็นรูปธรรมตามมาอีกมาก
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าจีนกับญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญ อาจถูกตีความว่าอาเซียนเอนเอียงเข้าหาจีนมากขึ้น มีจุดยืนต่อต้านลัทธิคุ้มครองทางการค้าร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศมีบริบทของตัวเอง มีความท้าทายของตัวเอง บางประเทศใกล้ชิดสหรัฐมากกว่า นโยบายระดับประเทศจึงไม่ตรงกันเสียทีเดียว การเป็นสมาชิกอาเซียนไม่ใช่คำตอบแก้ทุกปัญหาเบ็ดเสร็จ รัฐบาลต้องยกระดับความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างสังคมที่เป็นธรรม พัฒนาศักยภาพแรงงานและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทักษะ เหล่านี้เป็นบางประเด็นที่ต้องทำอย่างจริงจัง ถ้าตัวเองไม่แก้ไข สุดท้ายก็ต้องรับผลที่ตนทำไว้ พึ่งหวังประเทศอื่นอย่างเดียวไม่ได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชาตินิยมกับคลั่งชาติต่างกันอย่างไร
ชาตินิยมเป็นรากฐานการอยู่ร่วมกัน ประเทศไม่ได้ให้ทุกอย่างดังหวัง แต่ดีกว่าคนสิ้นชาติ ไม่เหลือประเทศกับคนรักให้ปกป้อง พวกคลั่งชาติจะรุกรานผู้อื่น
โครงการนิวเคลียร์อิหร่านกับสหรัฐ2025 (3)
ในมุมอิสราเอล เป้าหมายสุดท้ายต้องล้มระบอบอิหร่านให้จงได้ ถ้าอยากจะเข้าใจการเจรจา ต้องเข้าใจเป้าหมายของกันและกัน
America First ในอีกมุมมอง (2)
แต่แล้วการเป็นสมาชิกนาโต พันธมิตรใกล้ชิดกลับไม่ปลอดภัยอีกต่อไป เมื่อสหรัฐต้องการครอบครองกรีนแลนด์ หวังให้แคนาดาสิ้นชาติ
America First ในอีกมุมมอง (1)
ถ้าสหรัฐไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ นโยบายใดๆ จะเป็นเพียงแค่บรรเทาอาการ โรคร้ายกระจายทั่วร่าง กัดกินจนถึงกระดูก ทำลายแม้กระทั่งจิตวิญญาณรากฐานอเมริกันชน ต่อให้รีเซตระเบียบโลกก็ช่วยไม่ได้
สหรัฐกระชับอำนาจโลกด้วยกำแพงภาษี
ฉากใหญ่ที่สำคัญกว่าคือ รัฐบาลสหรัฐกำลังจัดระเบียบโลกใหม่ โดยใช้การค้าระหว่างประเทศเป็นตัวเปิดหน้า เงื่อนไขของสหรัฐกับจีนกำลังสู้กัน นานาชาติกำลังปรับตัว
ตรรกะวิบัติของกำแพงภาษีทรัมป์2.0
นักวิชาการหลายคนชี้ว่า หลักกำแพงภาษีทรัมป์ไม่ถูกต้อง ตรรกะวิบัติชัดเจน สร้างผลเสียมากกว่าผลดี ประเทศต่างๆ ต้องคิดให้ดีว่าควรเพิ่มการค้ากับใครดี