บีซีจีโมเดลสู่สังคมคาร์บอนตํ่า

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้เกิดแรงกระตุ้นของทั่วโลกต้องหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาสภาวะโลกร้อน และปรับตัวมุ่งสร้างความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม-การใช้ทรัพยากร โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ได้ตื่นตัวทุกมิติ ทั้งการจัดการแรงงาน การพัฒนาเทคโนโลยี-นวัตกรรม การผลิต-การบริการ การปรับฐานอุตสาหกรรม พลิกโฉมสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร นำนวัตกรรม เทคโนโลยี การสื่อสารยุคใหม่ การจัดการการผลิตการบริการ และระบบโลจิสติกส์เข้ามาใช้ 

เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ถนนทุกสายมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็เร่งเดินหน้า

อย่างกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็มีนโยบายมุ่งผลักดันเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) โดยนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ของรัฐบาล เพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดการเกิดของเสียโดยจัดการใช้ทรัพยากรภายในสถานประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ บีซีจีโมเดลไม่ใช่เพียงจะเป็นการดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเท่านั้น แต่ยังมีแนวทางที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศอีกด้วย ซึ่งหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เริ่มจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบันคือ การเข้ามาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวี ที่ตอนนี้มีหลายฝ่ายเริ่มเคลื่อนไหวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านค่ายรถยนต์หรือผู้บริโภคเองก็เริ่มให้ความสนใจเพิ่มขึ้นมาก จากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น และยังทำให้รถไฟฟ้า 100% นั้นเริ่มมีราคาถูกลงจนจับต้องได้ด้วย

ภาครัฐเองก็ให้การสนับสนุน ซึ่งเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ได้มีมติเห็นชอบแพ็กเกจช่วยเรื่องภาษีและเงินสนับสนุนเพื่อให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลง ซึ่งจะเป็นการจูงใจผู้บริโภคให้มาซื้อรถอีวีมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “30/30” ที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติตั้งไว้ คือในปี ค.ศ.2030 หรือปี พ.ศ.2573 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ โดยผลิตประเภทรถยนต์นั่งไฟฟ้าและรถกระบะไฟฟ้า 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 675,000 คัน

นอกจากนี้ ครม.ได้เห็นชอบใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 3,000 ล้านบาท ให้กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และเห็นชอบให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดหาแหล่งงบประมาณในปีงบประมาณ 2566-2568 วงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท จากแหล่งงบประมาณที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

พร้อมทั้งอนุมัติให้กรมสรรพสามิตคืนเงินสำหรับผู้รับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตลอดจนให้ออกประกาศกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์

ด้านภาคเอกชนนั้นมีหลายกลุ่มหลายบริษัทที่หันมาให้ความสำคัญและมุ่งดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถอีวีอย่าง บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC ดำเนินธุรกิจด้านนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. และบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ PTT ถือหุ้น 100% จับมือตั้งบริษัทร่วมทุน “NUOVO PLUS” เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน โดยมุ่งเป้าหมายกำลังการผลิตแบตเตอรี่ 5-10 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี ในปี 2573

ซึ่ง บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ปตท. และประธานกรรมการ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด ระบุว่า “ประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิต EV และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก ตามนโยบาย 30/30 ของรัฐบาล คือตั้งเป้าผลิตรถ ZEV ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต Powering Life with Future Energy and Beyond ของกลุ่ม ปตท. การจัดตั้งบริษัท NUOVO PLUS เพื่อดูแลทางด้านธุรกิจแบตเตอรี่

พร้อมกับย้ำว่า โดยความร่วมมือดังกล่าวนี้เป็นการนำศักยภาพด้านนวัตกรรม การตลาด และห่วงโซ่อุปทานของทั้งกลุ่มมารวมกัน เพื่อเร่งผลักดันการสร้าง EV Value Chain ของกลุ่ม ปตท.ให้คลอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยการผลิตแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้าถือเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในการสร้างนิเวศวิทยาทางธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศบนฐานของเทคโนโลยี นำพาประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนตํ่า เศรษฐกิจมูลค่าเพิ่ม และการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป.

บุญช่วย ค้ายาดี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

เร่งกระตุ้นอสังหาฯ

อสังหาริมทรัพย์เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่ยาว ตั้งแต่ภาคการผลิตต่างๆ เช่น เหล็ก ซีเมนต์ การท่องเที่ยว ตลอดจนการเงิน หากภาพรวมอสังหาฯ ดีย่อมส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมใกล้เคียง แต่หากลบก็กระทบธุรกิจอื่นๆ ได้เช่นกัน แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกที่ผลักดันให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แต่ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และภาวะหนี้ครัวเรือนที่บั่นทอนกำลังซื้อในประเทศ ส่งผลกับภาคอสังหาฯ อย่างเห็นได้ชัด

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี

ไทยจะเป็นฮับเอทานอล

ประเทศไทยหลังจากที่ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลชุดนี้ ก็ตั้งเป้าการทำงานที่หลากหลายและแปลกตามากขึ้น แน่นอนว่าหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล

เดินให้สุดทำอย่างจริงจัง

ปัจจุบันพบปัญหาถังก๊าซหุงต้มในท้องตลาดเสื่อมสภาพและหมดอายุตกค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการลักลอบนำถังก๊าซหุงต้มมาเติมในสถานีบริการ LPG เป็นระยะ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว