ถึงเวลายืนด้วยขาตัวเอง

ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครน ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันเป็นหลัก จึงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงเกินกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์แล้ว ขณะที่ราคาตลาดจรของก๊าซธรรมชาติเหลว (สปอต แอลเอ็นจี) ก็ปรับตัวแพงขึ้นอยู่ที่ 35 เหรียญฯ ต่อล้านบีทียู

ซึ่งก๊าซธรรมชาติก็เป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าของไทย โดยคาดว่าภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปีนับจากนี้ ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) จะต้องปรับขึ้นอย่างแน่นอนจากผลของราคาก๊าซเฉลี่ยโดยรวมที่แพงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ซ้ำเติมปัญหาราคาน้ำมันที่แพงที่มีอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับต้นทุนด้านพลังงานที่แพงขึ้น ก็เพราะประเทศไทยไม่ได้มีการเปิดให้เอกชนมาลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมค้นหาแหล่งใหม่ๆ มาตั้งแต่ปี 2550 เป็นระยะเวลานานถึง 15 ปี ทำให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทยลดน้อยลงอย่างน่าวิตก จากที่ประเทศไทยเคยมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่ใช้ได้อีก 16-17 ปี แต่มาถึงวันนี้ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่ใช้ได้เหลืออีกเพียงไม่ถึง 7 ปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าเข้าขั้นวิกฤต

ด้วยเหตุนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) จึงเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 24 จำนวน 3 แปลงในทะเลอ่าวไทย ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน และทำให้ประเทศไทยยืนได้ด้วยขาของตัวเอง

โดย ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการออกประกาศเชิญชวนให้ยื่นขอสิทธิ ซึ่งกรมฯ คาดหวังว่าพื้นที่แปลงสำรวจและผลิตดังกล่าวจะเข้ามาช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ปัจจุบันจะเริ่มมีปริมาณน้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าการเปิดให้ยื่นขอสิทธิครั้งนี้จะมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท ทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ และทดแทนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้

สอดคล้องกับความเห็นของ คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่กล่าวว่า สถานการณ์ด้านพลังงานของไทยในปัจจุบันมีความน่าเป็นห่วง เพราะพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบ รวมทั้งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแอลเอ็นจี ซึ่งหากเป็นราคาตามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระยะยาวจะอยู่ที่ราว 10 เหรียญฯ ต่อล้านบีทียู แต่ถ้าเป็นราคาแอลเอ็นจีในตลาดจร ราคาขณะนี้จะอยู่ที่ประมาณ 35 เหรียญฯ ต่อล้านบีทียู

 “หากเราต้องซื้อแอลเอ็นจี สปอต ในราคา 35 เหรียญฯ ต่อล้านบีทียู เราก็จะต้องเสียเงินนำเข้าแอลเอ็นจีแพงขึ้นถึงปีละ 1.6 แสนล้านบาท”

สำหรับ ศักยภาพการค้นพบปิโตรเลียมในประเทศไทยทั้งบนบกและในอ่าวไทย ยังถือว่ามีศักยภาพพอสมควรในการพบและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม อันจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศได้ ถึงแม้จะไม่ได้มีแหล่งผลิตขนาดใหญ่เหมือนประเทศตะวันออกกลางที่สามารถผลิตปิโตรเลียมได้ในปริมาณมากก็ตาม แต่ก็จะช่วยให้เราไม่ต้องนำเข้าปิโตรเลียมในราคาแพงได้จำนวนหนึ่ง รวมทั้งจะมีรายได้ในรูปภาษีและค่าภาคหลวงจากการผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ไม่ต้องเสียเงินตราให้กับต่างประเทศในการนำเข้าพลังงานเหมือนทุกวันนี้.

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดินให้สุดทำอย่างจริงจัง

ปัจจุบันพบปัญหาถังก๊าซหุงต้มในท้องตลาดเสื่อมสภาพและหมดอายุตกค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการลักลอบนำถังก๊าซหุงต้มมาเติมในสถานีบริการ LPG เป็นระยะ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว

ดันสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลโลก

หลังจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทย จับมือจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567”

เน้นเชิงรับมากกว่าเชิงรุก

ก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas) หรือก๊าซ LPG ด้วยคุณสมบัติพิเศษของมันก็คือ การที่มีสารโพรเพนและบิวเทนอยู่ในตัว ซึ่งสารสองนี้เป็นสารที่ติดไฟง่าย

เจาะลึกพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวไทย

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีผลการวิจัยของมินเทล (Mintel) พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้นในการหาแรงบันดาลใจด้านการท่องเที่ยว และแบ่งปันประสบการณ์ท่องเที่ยวของตนเอง

วิกฤตเลวร้ายกว่าต้มยำกุ้ง?

ตกเป็นประเด็นอีกครั้ง สำหรับเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจของไทย เพราะล่าสุด 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรีได้มาพูดย้ำว่า ประเทศไทยตอนนี้มันยากกว่าสมัยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะมีความซับซ้อนและยากมากกว่า และมองว่าการแก้ไขมันต้องมีการเปลี่ยน เพราะโลกมันเปลี่ยนไม่เหมือนเดิม

จับชีพจร“ท่องเที่ยวไทย”เริ่มฟื้นตัว

“ท่องเที่ยว” ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนและกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักๆ ที่สร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศตลอดช่วงที่ผ่านมา