เว้นวรรครัฐประหาร (ตอนที่ ๑๘): การยุบสภาผู้แทนราษฎรวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

 

การยุบสภาผู้แทนราษฎรวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ นับเป็นการยุบสภาฯครั้งที่ ๑๒ และเป็นการยุบสภาฯที่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากการยุบสภาฯ ๑๑ ครั้งก่อนหน้า และในความเห็นของผู้เขียน การยุบสภาฯครั้งที่ ๑๒  ถือเป็นการยุบสภาฯที่ผิดหลักการการยุบสภาฯตามแบบแผนการปกครองระบบรัฐสภาที่มีสหราชอาณาจักรเป็นต้นแบบ

ถ้าพิจารณาสาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๕๔๙ รวมทั้งสิ้น ๑๑ ครั้ง  จะพบว่า มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่มีสาเหตุของการยุบสภาแตกต่างไปจากสาเหตุของการยุบสภาครั้งอื่นๆทั้งหมดในประเทศไทย

การยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ว่านี้คือ การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ ในสมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี เหตุผลในการยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ผิดแผกแตกต่างไปจากกรอบเหตุผลในการยุบสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดของอังกฤษ รวมทั้งเหตุผลของการยุบสภาในระดับทั่วไปที่ นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการยุบสภาโดยเฉพาะอย่าง Markesinis ได้ทำการศึกษาไว้ (ผู้สนใจโปรดดู B. S. Markesinis, The Theory and Practice of Dissolution of Parliament (Cambridge: Cambridge University Press, 1972)  และรวมทั้งหลักการและเหตุผลของการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่นำเสนอล่าสุดในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยสถาบันนานาชาติเพื่อประชาธิปไตยและการช่วยเหลือส่งเสริมการเลือกตั้ง (IDEA, International Institute for Democracy and Electoral Assistance)  ที่ผู้เขียนได้เคยนำเสนอไปแล้ว

จากที่ผู้เขียนได้ประมวลสาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๑๐ ครั้ง จะพบว่า มีสาเหตุหลักในการยุบสภาดังนี้คือ

๑. ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภา 

๒. ความขัดแย้งภายในรัฐบาล 

๓. สภาครบวาระ  

๔. สภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับวุฒิสภา 

๕. เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลหลังจากเกิดวิกฤตทางการเมือง   

แต่ในการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙  สาเหตุของการยุบสภาที่ประกาศไว้ในพระราชกฤษฎีการคือ

“โดยที่นายกรัฐมนตรีได้นําความกราบบังคมทูลฯ ว่า ตามที่ประธานสภาผู้ แทนราษฎร ได้นําความกราบบังคมทูล ฯ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ขอให้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมติเห็นชอบข้างมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกสภาผู้ แทนราษฎร ที่ลงคะแนนโดยเปิดเผยในสภาผู้แทนราษฎร และได้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นบริหารราชการ แผ่นดินแล้วนั้น ต่อมาได้ เกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมืองขึ้น ซึ่งแม้ระยะแรก จะอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่เมื่อนานวันเข้า การชุมนุมเรียกร้องได้ขยายตัวไปในทางที่กว้างขวาง และอาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและอาจมีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองจุดชนวนให้เกิด ความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนลุกลามถึงขั้นก่อการจลาจลวุ่นวายสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ครั้นใช้อํานาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้าควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดหรือแม้แต่รัฐบาลได้พยายามดําเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหา (เน้นโดยผู้เขียน) และความคิดเห็นพื้นฐานที่แตกต่างกันทั้งระหว่าง กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาล และระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่เห็นด้วย และประสงค์จะเคลื่อนไหวบ้างจนอาจเกิดการปะทะกันได้ สภาพเช่นว่านี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ของประเทศ การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐสภา และความสงบเรียบร้อย ของสังคม โดยเฉพาะในขณะนี้ ซึ่งควรจะสร้างความสามัคคีปรองดอง การดูแลรักษาสภาพของ บ้านเมืองที่สงบร่มเย็นน่าอยู่อาศัยน่าลงทุน และการเผยแพร่ความวิจิตรอลังการ ตลอดจนความดีงาม ตามแบบฉบับของไทยให้เป็นที่ประจักษ์  เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความคิดเห็นในสังคมที่หลากหลาย และยังคงแตกต่างกันจนกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงเช่นนี้ ครั้นจะดําเนินการเพื่อตรวจสอบความประสงค์อันแท้ จริงของประชาชนโดยประการอื่น เพื่อให้ทุกฝ่ายหยั่งทราบ แล้วยอมรับให้เป็นไปตามกลไกในระบอบประชาธิปไตยก็ทําได้ยาก ทางออกในระบอบประชาธิปไตย ที่เคยปฏิบัติมาในนานาประเทศ และแม้แต่ในประเทศไทย คือการคืนอํานาจการตัดสินใจทางการเมือง กลับไปสู่ประชาชนด้วยการยุบสภาผู้ แทนราษฎร เพื่อจัดให้ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั่วไปขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป”  (พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๑๒๓ ตอน ๒๐ ก (๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙): ๑-๒)

ข้อความที่ว่า “แม้แต่รัฐบาลได้พยายามดําเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหา...”  นั้นไม่เป็นความจริง

เพราะในความเป็นจริง  จะพบว่ามิได้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาเกิดขึ้นแต่อย่างใด !

และการขอเปิดอภิปรายในลักษณะดังกล่าวนี้ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๒ และ ๒๑๓  ความว่า (๒๑๒)  “ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดําเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายและนโยบายที่ได้แถลงไว้ตามมาตรา ๒๑๑ และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตนรวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี” และ (๒๑๓) “ในกรณีที่มีปัญหาสําคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควร จะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐ สภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้รัฐสภาจะลงมติใน ปัญหาที่อภิปรายมิได้”  นั่นคือ  การขอเปิดอภิปรายในลักษณะดังกล่าวเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี  ซึ่งถ้าทักษิณต้องการให้มีการเปิดอภิปรายดังกล่าวจริง     การอภิปรายดังกล่าวก็ย่อมเกิดขึ้นได้ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับตัดสินใจยุบสภาทั้งๆ ที่ยังมีกลไกตามระบอบรัฐสภาที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งฝ่ายค้านก็มีเสียงไม่พอที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา ๑๘๕ และ ๑๘๖ ที่ระบุให้ใช้คะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า ๑ ใน ๕ (คือ ๑๐๐ คน) หากจะอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล และจะต้องใช้เสียงไม่ต่ำกว่า ๒ ใน ๕ (๒๐๐ คน) หากจะอภิปรายฯนายกรัฐมนตรี  ซึ่งฝ่ายค้านได้ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเรียกร้องขอเสียงในสภาผู้แทนราษฎรในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แต่ไม่สำเร็จ

ดังนั้น การยุบสภาครั้งนี้จึงไม่เข้าข่ายรัฐบาลขัดแย้งกับสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด เพราะในขณะนั้น ยังมิได้มีการเปิดประชุมสมัยสามัญสภาผู้แทนราษฎร   อีกทั้งรัฐบาลมิได้มีความขัดแย้งภายในรัฐบาลแต่อย่างใดด้วย เพราะรัฐบาลมาจากพรรคไทยรักไทยที่ได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภา อีกทั้งยังได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งทั่วไปมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของประเทศไทยด้วย

ขณะเดียวกัน สภาผู้แทนราษฎรยังไม่ครบวาระ เพราะขณะนั้นเพิ่งมีอายุเพียงหนึ่งปีกว่า เพราะสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ 

ขณะเดียวกันก็มิได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นแต่อย่างใด

แต่สาเหตุที่ “เกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมืองขึ้น” ที่ขยายตัวรุนแรงและอาจจะบานปลายได้นั้น มีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัวของตัวนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของครอบครัวโดยไม่เสียภาษี มิได้เป็นสาเหตุที่เกิดจากความขัดแย้งในเรื่องนโยบายสาธารณะแต่อย่างใด 

อาจจะมีบางคนคิดเทียบเคียงการยุบสภาวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ กับกรณีการยุบสภาของอังกฤษในปี ค.ศ. ๑๙๗๔  แต่ผู้เขียนพบว่า แม้ว่าในกรณีการยุบสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษในปี ค.ศ. ๑๙๗๔ ในสมัยนายเอ็ดเวิร์ด ฮีธ (Edward Heath) เป็นนายกรัฐมนตรี จะมีความสับสนวุ่นวายที่เกิดจากการประท้วงและการชุมนุมของกรรมกรเหมืองแร่ จนทำให้นายฮีธต้องยุบสภา  แต่สาเหตุก็มิได้มาจากปัญหาเรื่องส่วนตัวของตัวนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งในเรื่องการกำหนดนโยบายสาธารณะ (ผู้สนใจโปรดดู Dominic Sandbrook, State of Emergency – The Way We Were: Britain 1970-1974)

ความเห็นของนักวิชาการต่อกรณีการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ พบว่า นักวิชาการคนแรกและคนเดียวที่ออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณะว่าการยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนั้น นายกรัฐมนตรีไม่มีเหตุผลอันควรในการยุบสภา นักวิชาการผู้นี้คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

อาจารย์บวรศักดิ์ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ไว้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยกล่าวว่า

“ตอนยุบสภานั้น นายกฯ ให้ผมเตรียมร่างพระราชกฤษฎีกาเข้าไปกับเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ไปหาที่กระทรวงการต่างประเทศ ผมก็ยกมือไหว้ท่านหนึ่งครั้ง ตอนยื่นพระราชกฤษฎีกาส่งให้ท่าน ผมขอท่านว่าขอแสดงความเห็นหน่อยได้ไหม ท่านก็บอกว่าได้ ว่ามาเลย ผมก็บอกว่า ท่านนายกฯครับ มันไม่มีเหตุที่จะยุบสภา แต่ท่านก็ตัดบทโดยให้เหตุผลว่า ผมรับผิดชอบเอง” 

แต่ในบทสัมภาษณ์นั้น อาจารย์บวรศักดิ์ ไม่ได้อธิบายขยายความให้เหตุผลว่า    ทำไมท่านถึงมีความเห็นว่า “ไม่มีเหตุผลที่จะยุบสภา” 

ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้ขอสัมภาษณ์ท่านเพื่อให้ท่านได้อธิบายขยายความถึงการยุบสภา พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึงเป็นการยุบสภาที่ไม่มีเหตุผล  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 9)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 8)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า