'หมอธีระ' เผย Omicron XBB.1.5 ระบาดแล้ว 38 ประเทศ ย้ำเป็นสายพันธุ์ที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุดที่เคยมีมา แนะคนไทยเรียนรู้จากประสบการณ์ป้องกันดูแลตัวเองให้ดีที่สุด
12 ม.ค.2566 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 12 มกราคม 2566 ว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 328,963 คน ตายเพิ่ม 1,034 คน รวมแล้วติดไป 669,635,094 คน เสียชีวิตรวม 6,718,899 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 94.87 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 82.78
...อัพเดตเรื่อง Omicron XBB.1.5
เมื่อคืนนี้ 11 มกราคม 2566 องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่ข้อมูลประเมินความเสี่ยงของการระบาดจาก XBB.1.5 ล่าสุดมีรายงานการตรวจพบทั่วโลก 38 ประเทศ นับตั้งแต่ 22 ตุลาคม 2565 ถึง 11 มกราคม 2566
ประเทศที่ส่งรายงานการตรวจพบมากสามอันดับแรกคือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก
อัตราการขยายตัวของการระบาดในสหรัฐอเมริกานั้นสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากสัปดาห์ละ 1% (ณ สัปดาห์ที่ 47) เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 8% (ณ สัปดาห์ที่ 50) ภายในสามสัปดาห์ และมีการแพร่ระบาดมากแถบตะวันออกเฉียงเหนือ
สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 นี้ เป็นลูกหลานในตระกูล XBB ซึ่งข้อมูลปัจจุบันชี้ชัดว่าดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุดในทุกสายพันธุ์ของโควิด-19 ที่เคยมีมา โดย XBB.1.5 นั้นดื้อเทียบเท่ากับสายพันธุ์ XBB.1 ในแง่ความรุนแรงของโรคนั้น ยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าจะรุนแรงกว่า Omicron สายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ที่ระบาดอยู่หรือไม่ องค์การอนามัยโลกประเมินว่า สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 นี้มีแนวโน้มที่จะระบาดมากขึ้นทั่วโลกได้ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวัง ติดตามอย่างใกล้ชิด
ในขณะเดียวกัน Wenseleers T จากเบลเยี่ยม และ Gerstung M จากเยอรมนี ได้ทำการประเมินสมรรถนะการขยายตัวของการระบาดจาก XBB.1.5 ในทวีปต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบกัน พบว่าปัจจุบัน XBB.1.5 มีอัตราการขยายตัวของการระบาดมากในทวีปอเมริกาเหนือ และยุโรป แต่ทวีปอื่นๆ ก็ยังพบการเพิ่มขึ้นในบางประเทศ ยังไม่มากนัก
...สำหรับคนไทยเรา ควรระลึก วิเคราะห์ และเรียนรู้จากบทเรียนในรอบสองปีกว่าที่ผ่านมาที่เกิดการติดเชื้อ ป่วย และเกิดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจำนวนมาก สัจธรรมที่เห็นคือ การจะปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตได้ จำเป็นต้องมีความรู้เท่าทันสถานการณ์ รับรู้รับทราบข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องและทันต่อเวลา เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ทำในสิ่งที่ควรทำ และควรหาทางช่วยกันจัดการ ป้องกันไม่ให้"รากเหง้าสาเหตุ"ของความสูญเสียในอดีต กลับมาทำให้เกิดปัญหาในอนาคต
สำคัญที่สุดคือ ความมีสติ ใส่ใจสุขภาพ ป้องกันตัวสม่ำเสมอ ไม่ประมาท ระมัดระวังกิจกรรมและสถานที่เสี่ยง แออัด คลุกคลีใกล้ชิดเป็นเวลานาน ระบายอากาศไม่ดี การไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนดจะช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID ได้ หัวใจสำคัญคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อลงไปได้มาก
อ้างอิง:
XBB.1.5 rapid risk assessment. WHO. 11 January 2023.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน
จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!
อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม
'หมอยง' แนะแนวทางแก้ไขหลุดพ้นจากกับดักผลงานวิชาการ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
อ.ไชยันต์ยกตัวอย่างการอภัยโทษในต่างประเทศที่น่าสนใจ!
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์
'อดีตปธ.กมธ.คมนาคม' บี้ถอดบทเรียนบัสมรณะ เร่งสร้างจิตสำนึกคนขับ-เข้มใช้กม.
'อดีตปธ.กมธ.คมนาคม' ชี้รายงานWHO ไทยครองอันดับ 1 อาเซียน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และอันดับ 9 ของโลก สาเหตุหลักคนขับรถประมาท แนะรัฐบาลถอดบทเรียนโศกนาฏกรรมบัสมรณะ