นพ.ธีระเผยผลวิจัยสเปนชี้ PM2.5 สัมพันธ์กับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน!

หมอธีระอัปเดตข้อมูลโควิด19 ถึงอึ้งผลวิจัยแดนกระทิงดุบอก PM2.5 สัมพันธ์กับระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน เผย WHO ยังบอกไวรัสโควิดยังกลายพันธุ์ต่อเนื่องไม่นิ่ง!

06 เม.ย.2566 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด19 ประจำวันที่ 6 เมษายน 2566 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 57,674 คน ตายเพิ่ม 194 คน รวมแล้วติดไป 684,340,314 คน เสียชีวิตรวม 6,834,080 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 85.94 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 87.62

...อัปเดตความรู้โควิด-19

1.PM2.5 สัมพันธ์กับระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน

งานวิจัยน่าสนใจโดย Kogevinas M และทีมงานจากประเทศสเปน เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสาร Environmental Health Perspectives เมื่อวานนี้ 5 เมษายน 2566 ศึกษาพบว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะทางอากาศ และระดับ PM2.5 สูง จะมีระดับภูมิคุ้มกันแอนติบอดี้ชนิด IgM ณ 1 เดือนหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่ำกว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่น อย่างไรก็ตาม ผลดังกล่าวพบในกลุ่มที่ไม่เคยมีการติดเชื้อมาก่อน หากเกิดการติดเชื้อมาก่อน ระดับแอนติบอดี้จะไม่แตกต่างกัน

2.วิวัฒนาการของไวรัสโควิด-19

Markov PV และคณะจากสหราชอาณาจักร เผยแพร่บทความทบทวนความรู้ทางวิชาการที่ดีมาก ในวารสาร Nature Review Microbiology ถือเป็น Must Read ของบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่สนใจเรื่องโควิด-19 โดยนำเสนอวิวัฒนาการของไวรัสโรคโควิด-19 ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิมไปจนถึง Omicron

ทั้งนี้การระบาดที่หนักหน่วงมากในรอบหลายปีที่ผ่านมานั้น มาจากปัจจัยหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสมรรถนะของตัวไวรัสเองที่แพร่ได้ง่ายขึ้น, ระยะเวลาที่คนติดเชื้อสายพันธุ์นั้นๆ จะสามารถแพร่ไปให้คนอื่นรอบข้างได้, การที่คนติดเชื้อสามารถเริ่มแพร่เชื้อแก่ผู้อื่นได้เร็วขึ้น, และการที่ไวรัสมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่มากขึ้น ปัจจัยข้างต้นเป็นตัวอธิบายปรากฏการณ์ที่เราเผชิญมา ทั้งในเรื่องจำนวนคนที่ติดเชื้อมากมาย ทั้งติดใหม่ และติดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตลอดจนความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทั้งการเสียชีวิต และผลกระทบระยะยาวจาก Long COVID

...องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า ปัญหาในปัจจุบันคือ ไวรัสโควิด-19 นั้นยังคงกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยที่เรายังไม่สามารถทำนายหรือคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของมันได้ แตกต่างจากไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ดังนั้นจึงควรดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ปรับสภาพแวดล้อมให้มีการระบายอากาศที่ดีกว่าเดิม ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ที่เที่ยว ที่กินดื่ม ระมัดระวังการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่นนอกบ้านโดยไม่ป้องกันตัว ควรเลี่ยงการแชร์ของกินของใช้กัน การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

อ้างอิง
1. Kogevinas M et al. Long-Term Exposure to Air Pollution and COVID-19 Vaccine Antibody Response in a General Population Cohort (COVICAT Study, Catalonia). Environmental Health Perspectives. 5 April 2023.
2. Markov PV et al. The evolution of SARS-CoV-2. Nature Reviews Microbiology. 5 April 2023.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นิสิตเก่าจุฬาฯ' ตามบี้ 'วิทยานิพนธ์ณัฐพล' อุทธรณ์คำสั่ง ให้จุฬาฯเปิดเผยมติสอบสวน

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก