สธ. แจงยิบใช้สิทธิยูเซ็ปรักษาโควิด หลัง ครม.ตีกลับทบทวนแนวทาง

สธ. เผยยังใช้ UCEPโควิด19รักษาฟรีทุกที่ทั้งรัฐ-เอกชนได้ต่อไม่มีกำหนด​ ยังไม่รักษาตามสิทธิตัวเอง​ หลังครม.ตีกลับมอบสธ.ทบทวนแนวทาง

22 ก.พ.2565 - ที่กระทรวงสาธารณสุข​ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ​(สบส.)​ แถลงแนวทางการรักษาและเบิกจ่ายโควิด-19 ระบบ UCEP ว่าตามที่กระทรวงสาธารณสุข​เตรียมการดีเดย์ในวันที่ 1 มี.ค.2565 เพื่อปรับระบบการบริการให้ผู้ป่วยโควิด-19 ไปใช้การรักษา​ตามสิทธิสุขภาพของแต่ละบุคคล และเตรียมประกาศ UCEP โควิด-19 พลัส โดยให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) กำหนดเกณฑ์ผู้ป่วยโควิด19 กลุ่มอาการสีเหลืองและสีแดง เพื่อให้ใช้บริการได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิในสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนนั้นวันนี้​ (22 ก.พ.)​มีการนำเรื่องอัตราที่จะจ่ายค่าบริการให้สถานพยาบาลเข้าคณะรัฐมนตรีครม.เพื่อขอความเห็นชอบ โดยครม.มอบให้กระทรวง​สาธารณสุข​ทบทวนเรื่องกระบวนการและเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะกระบวนการติดต่อ การรักษา ช่องทางต่างๆ รวมถึงเรื่อง UCEP โควิด-19 พลัส ในอนาคตและการปรับระบบการรักษาที่บ้าน(Home Isolation:HI) ให้กระบวนการมีความคล่องตัว และการทำความเข้าใจกับประชาชน จึงยังไม่มีมติ ซึ่งกระทรวง​สาธารณสุข​ได้รับเรื่องนี้มาเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน กับสถานพยาบาลและทบทวนกระบวนการต่างๆ

นพ.ธเรศ กล่าวเพิ่มเติม​ว่า กรอบเวลาที่จะใช้ทบทวน ก็จะต้องนำเรื่องนี้เข้าคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อไป ส่วนเรื่องการประกาศยกเลิกกำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินกรณีการติดโควิด-19 ครม.ให้ สธ.ดำเนินการทบทวนให้สอดคล้องกัน โดยสรุป คือ ตอนนี้ระบบการดูแลยังเป็น UCEP โควิด-19 เหมือนเดิม ซึ่งต้องไปดูแลกระบวนการดูแลผู้ป่วยเพิ่มเติมขึ้น โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องมีการพัฒนาช่องทางการติดต่อเพื่อเข้าระบบ 1330 หรือการเข้า Line official ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และดูแลระบบการรับส่งผู้ป่วย

ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนหน้านี้ประกาศว่า โควิด19ออกจากโรคฉุกเฉิน มีการลงนามไปแล้ว นพ.ธเรศ กล่าวว่า ยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทางครม. จึงให้นำมาพิจารณาทบทวนอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องของภาคประชาชน จึงขอให้กระทรวง​สาธารณสุข​รับไปเพื่อทบทวนเรื่องการสื่อสาร และกระบวนการทั้งหมด ดังนั้น โควิด-19ยังเป็นโรคฉุกเฉิน รักษาฟรีได้ทุกที่ทุกสิทธิ์ รพ.เอกชนปฏิเสธไม่ได้ ส่วนคำถามถึงฮอสปิเทลว่าเหลือหรือไม่ ต้องเน้นย้ำว่าฮอสปิเทล เป็นกระบวนการหนึ่งที่ สบส. ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล เพื่อออกประกาศสถานพยาบาลชั่วคราว ในการปรับปรุงโรงแรมและทำงานร่วมกับโรงพยาบาล ขณะนี้ยังมีฮอสปิเทลที่ให้บริการถึง 200 แห่ง รวม 3.6 หมื่นเตียง ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.-ปริมณฑล ทั้งของภาครัฐและเอกชน ที่ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ซึ่งมีอัตราเข้าพัก 30%"

เมื่อถามถึงกรณี รพ.เอกชน ปฏิเสธการรับผู้ป่วย นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้กลไกของ UCEP โควิด19มีผลบังคับใช้อยู่ ดังนั้น ผู้ป่วยโควิด-19ถือเป็นโรคฉุกเฉิน สถานพยาบาลต้องให้การดูแลและไม่สามารถปฏิเสธได้ หากสถานพยาบาลไม่มีศักยภาพในการดูแลหรือไม่มีเตียง ต้องส่งต่อผู้ป่วย และย้ำว่าไม่สามารถเรียกเก็บเงินมัดจำได้ ซึ่งจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ซึ่งการรักษายึดหลักการตรวจด้วย ATK หากพบว่าเป็นบวก สามารถดูแลในสถานพยาบาล รวมถึง HI/CI ด้วย สบส.แจ้งไปยัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ให้ทบทวนเรื่องนี้กับบริษัทประกันแล้ว

ด้านนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยโควิด-19ตามสิทธิ จะไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนคำถามว่าหากในอนาคตมีการปรับระบบบริการฉุกเฉินจะมีผลให้ผู้ป่วยต้องกลับไปยังหน่วยบริการที่ลงทะเบียนหรือไม่ ในส่วนของผู้อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพ​ หรือบัตรทอง ขอย้ำว่า โควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่สามารถไปรับบริการในสถานพยาบาลได้ทุกที่ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่โควิด แต่ในโรคอื่นๆ หากประชาชนไปรับบริการในหน่วยบริการที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ แต่ก็สามารถไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ ตามนโยบายการยกระดับบัตรทอง ดังนั้น การดูแลไม่ว่าจะเป็นการรักษาที่บ้านหรือชุมชน( Home and Community Isolation ) การดูแลในโรงพยาบาล โรงแรม ระบบจะเข้าไปดูแลค่าใช้จ่าย

นพ.จเด็จ​ กล่าวอีกว่ากรณีที่ผู้ป่วยต้องการติดต่อกับสายด่วน 1330 ข้อมูลวันที่ 21 ก.พ.2565 มีโทรศัพท์เข้ามาสูงเป็นประวัติการณ์ 49,500 สายในรอบ 24 ชั่วโมง ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยในเดือน ส.ค.2564 สูงสุดอยู่ที่ 2-3 หมื่นสาย จึงมีปัญหาในเรื่องการโทรเข้ามา แต่ได้มีการเพิ่มเจ้าหน้าที่รับสายอีก 150 คน ตามที่ได้ตรวจสอบพบมีการรอสายทุกๆ วินาทีประมาณ 50 สาย ดังนั้น ขอแนะนำให้ประชาชนเพิ่มเพื่อนที่ไลน์บัญชีทางการของ สปสช.ที่ @nhso เพื่อลงทะเบียนและลดการรอสาย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รอลุ้นครม.เศรษฐา 2 พปชร.ยังส่ง 'ไผ่ ลิกค์' นั่งรมช. ภูมิใจไทยไม่ขยับ

ความเคลื่อนไหวในการปรับ ครม. “เศรษฐา 2” หลังเทศกาลสงกรานต์ นั้น ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า ในส่วนของ พรรคร่วมรัฐบาล โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.)

โควิดสงกรานต์พุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 849 ราย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 7 - 13 เมษายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 849 ราย