ทส. เลื่อนเวทีรับฟังกำหนดเขตอุทยานถ้ำผาไท จ.ลำปาง อ้างข้อมูลไม่ชัดเจน

ปลัด ทส.สั่งเลื่อนเวทีรับฟังความเห็นกำหนดเขตพื้นที่ อท.ถ้ำผาไทออกไปไม่มีกำหนด หัวหน้า อท.อ้างข้อกังวลของพื้นที่ ชาวบ้านข้องใจไม่เรียบร้อยแต่ทำไมเร่งรีบเปิดเวทีรับฟัง เชื่อลักไก่แต่ถูกจับได้

7 ก.ย.2566 - ความคืบหน้ากรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) ประกาศจะเปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน ในการกำหนดเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) จังหวัดลำปาง เพื่อเตรียมการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยมีพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 448,933.43 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 5 อำเภอ 13 ตำบล ของจังหวัดลำปาง ตั้งแต่วันที่ 5-9 กันยายนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทได้มีหนังสือถึงชาวบ้านระบุขอเลื่อนการจัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ออกไป และยังไม่มีกำหนดการว่าจะจัดขึ้นอีกทีเมื่อไร ทั้งนี้นายสมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง หมู่ 5 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท กล่าวว่า สาเหตุที่มีการเลื่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ออกไปทางอุทยานฯให้เหตุผลว่า ข้อมูลยังไม่ชัดเจนมีปัญหาพื้นที่และการประสานงานทำความเข้าใจกับชาวบ้านยังไม่เสร็จเรียบร้อย

“เมื่อยังไม่เสร็จแล้วทำไมอุทยานฯถึงจะมาจัดเวที นี่เป็นข้อคำถามของชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านไม่ออกมาคัดค้านอุทยานก็คงจะลักไก่ประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ไม่ให้ชาวบ้านรับรู้ ข้อปัญหาของอุทยานคือที่ผ่านมาอ้างว่าได้ทำการสำรวจแล้ว สมควรประกาศเป็นเขตอุทยาน แต่ในเวทีเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา อุทยานไม่สามารถตอบคำถามชาวบ้านได้เลย” นายสมชาติ กล่าว

ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง หมู่ 5 ต.บ้านดง กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ชาวบ้านจะทำเรื่องเสนอให้อุทยานทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า รวมถึงมีการจัดทำแผนที่เขตป่าสงวนแห่งชาติใหม่

“ผมคิดว่าทางอุทยานต้องจัดเวทีทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนที่ กันพื้นที่ทำกินของชาวบ้านออกจากเขตประกาศอุทยาน กันแนวเขตให้ชัดเจนแล้วพอใจกันทั้ง 2 ฝ่าย เอาแผนที่มาคุย กระบวนการนี้ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วม” นายสมชาติ กล่าว

ด้าน นายธนากร สิงห์เชื้อ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) กล่าวถึงการเลื่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านทั้ง 5 อำเภอออกไปว่า มีข้อกังวลของทางพื้นที่ที่ยังเป็นห่วงในเรื่องของการประกาศอุทยาน จึงต้องเลื่อนออกไปเพื่อลงพื้นที่ทำความเข้าใจอีกครั้ง โดยยังไม่มีกำหนดว่าจะจัดอีกครั้งเมื่อไหร่
“ข้อมูลเราพร้อม เพียงแต่ว่าเรารับฟังแล้วมีข้อกังวล ข้อห่วงใยซึ่งจะต้องชี้แจงและทำความเข้าใจกันในเบื้องต้นอีกครั้ง” นายธนากร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงความกังวลของชาวบ้านกรณีแผนที่การประกาศเขตอุทยานจะทับซ้อนกับที่ดินทำกิน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ยืนยันว่าได้กันพื้นที่ทำกินของชาวบ้านออกไปแล้วทั้งหมด โดยแผนที่ที่ได้เกิดจากการที่เราลงพื้นที่ร่วมกับชุมชนกำหนดแนวเขตเดินแนวเขตร่วมกัน ไม่มีปัญหาแน่นอนเพราะว่าโดยข้อกฎหมายแล้วอุทยานแห่งชาติที่จะประกาศใหม่ต้องไม่มีพื้นที่ทำกินของชาวบ้านอยู่ข้างใน ซึ่งทางชาวบ้านก็รับทราบและเข้าใจ ได้เดินแนวเขตร่วมกันมาแล้ว

ขณะที่เฟสบุคของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ได้เผยแพร่คำสัมภาษณ์ด้าน ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ระบุว่า ได้มีการรายงานข้อสังเกตจากเวทีการรับฟังความเห็นเมื่อวันที่ 4 กันยายน ณ ที่ว่าการอำเภองาว จ.ลำปาง ไปยัง นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปลัดฯ ได้สั่งการไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้เลื่อนเวทีทั้งหมดออกไป ก่อนนัดผู้เกี่ยวข้องเข้าหารือที่กระทรวงฯ หลังจากนี้

เฟสบุคลของมูลนิธิดังกล่าวยังระบุว่า ในเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ได้มีผู้แทนจากพีมูฟ(ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม)ร่วมสังเกตการณ์ และตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบธรรมในเวที 6 ประเด็น ดังนี้ 1. วัตถุประสงค์ตามเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นมีลักษณะกล่าวโทษชาวบ้าน เช่น อ้างว่ามีการลอบตัดไม้หวงห้าม ขบวนการค้าไม้ส่งออกต่างประเทศ การบุกรุกที่ดิน การเผาป่า ไฟลุกลามจากการทำการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งเป็นการมองชุมชนด้วยอคติ

2. การประสานงานไม่ทั่วถึง ไม่มีการทำหนังสือเชิญชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เตรียมการประกาศมาเข้าร่วม ขัดกับหลักความโปร่งใสและเป็นธรรม 3. การเตรียมความพร้อมของเวที ไม่มีการรับรองและอำนวยความสะดวกให้ชาวบ้าน เช่น เก้าอี้ น้ำดื่ม

4. ในบางชุมชนมีการเข้าไปดำเนินการปักหลักเขตในพื้นที่โดยไม่ประสานงานชุมชน ซึ่งเมื่อสอบถามในเวที เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่ายังเป็นแนวเขตเก่าตามกฎหมายฉบับเก่า (พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504) และต้องมีการปรับปรุงภายหลัง ทำให้ชุมชนไม่อาจยอมรับได้ เพราะหมายความว่าแนวเขตใหม่ยังไม่แล้วเสร็จก่อนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น 5. ชาวบ้านขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่แสดงแผนที่การเตรียมการประกาศเป็นรายชุมชนเพื่อตรวจสอบว่าแนวเขตทั้งหมด เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถชี้แจงแนวเขตของชุมชนได้ เช่น ชุมชนขอให้จัดพิมพ์แผนที่ส่งให้ชุมชนตรวจสอบ แต่เจ้าหน้าที่กลับตอบว่าแผนที่ยังต้องไปทำต่อ

6. พื้นที่จะเป็นอุทยานแห่งชาติที่ประกาศหลังพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ หมายความว่าจะไม่สามารถเข้าสู่มาตรา 64 และมาตรา 65 ได้ แต่เจ้าหน้าที่กลับชี้แจงว่าหลังจากนี้จะมีการจัดทำโครงการร่วมกัน เรียกว่า มาตรา 64-65 เฟส 2 ซึ่งชุมชนไม่อาจไว้วางใจและยอมรับได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทบ.' เปิดแผนรับมือ สถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา

รายงานข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก เปิดเผยแนวทางการปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์ความไม่สงบด้านเมียนมา กรณีการปะทะระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย

'หมาก ปริญ' สนับสนุนศักยภาพนักกีฬาไทย ผุดโครงการสานฝันปูทางแข่งนานาชาติ

ความฝันที่อยากเป็นนักกีฬายูโดทีมชาติ แต่จับพลัดจับผลูทำให้พระเอกสุดฮอต “หมาก-ปริญ สุภารัตน์” เข้าสู่วงการบันเทิง จนกลายเป็นพระเอกดัง และเพราะความฝันในตอนนั้นบวกกับความพร้อมและตั้งใจที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนน้องๆ นักกีฬาให้ได้เดินตามฝันให้ไปได้ไกล

ไทยมอบความช่วยเหลือเมียนมา หวังนำร่องทุกกลุ่มกลับสู่โต๊ะเจรจา

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกองทัพบก สภากาชาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กมธ.ที่ดิน ถกปมพื้นที่พิพาทเขาใหญ่ แฉพบ 10 รายชื่อคนต่างถิ่นส่อได้ที่สปก.

ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายอภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นประธาน กับกมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ

เปิดทำเนียบ เคลียร์ปมที่ดินพิพาทเขาใหญ่ 'ชัยวัฒน์' ประกาศลั่นจบหล่อไม่ได้ ต้องมีคนผิด

นายจตุพร​ บุรุษ​พัฒน์​ ปลัด​กระทรวง​ทรัพยากร​ธรรมชาติ​และ​สิ่ง​แวดล้อม​ กล่าวว่า​ การประชุมวันนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทุกคนให้ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ ทั้งสองกระทรวงมีเป้าหมายทำงานเพื่อประชาชน ซึ่งในส่วนของกระทรวงทรัพย์ฯ นอกจากดูแลป่าและทะเลแล้วบางส่วน ก็ดูแลพื้นที่ของประชาชน

ส.ป.ก. ยันที่ดินข้อพิพาทเขาใหญ่ ได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย มีสภาพใช้ทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่

เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ออกแถลงการโดยระบุว่าสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมขอแถลงการเรื่อง กรณีพิพาท ระหว่างแนวเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมากับแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่