เฮือกสุดท้าย กลเกม กฎหมายลูกเลือกตั้งหาร 100, 500

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ยังไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไรแน่ โดยเฉพาะประเด็นการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ระหว่างให้เอา 100 หาร กับอีกฝ่ายมองว่าต้องหารด้วย 500 เท่านั้น ประเด็นกฎกติกาที่จะนำไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้ายังคาราคาซังในชั้นที่ประชุมร่วมรัฐสภา  

การประชุมร่วมเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ส.ส.พลังประชารัฐ ส.ส.เพื่อไทย ไม่อยู่เป็นองค์ประชุม ทำให้องค์ประชุมล่ม ท่ามกลางกระแสข่าวอย่างหนาหู อยากจะให้ พ.ร.ป.ฉบับนี้พิจารณาไม่แล้วเสร็จใน 180 วัน 15 ส.ค.เป็นเดดไลน์ จะได้กลับไปใช้ร่างกฎหมายฉบับเดิมที่ ครม.เสนอการใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 100  

ผลจากสภาฯ ล่ม ‘นิโรธ สุนทรเลขา’ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล อ้างว่า ‘ส.ส.ส่วนใหญ่ติดประชุมกรรมาธิการฯ งบประมาณ ไม่มีการ จับมือฮั้วกับพรรคเพื่อไทย เพื่อทำให้ องค์ประชุมล่ม’ 

‘นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยอมรับว่าองค์ประชุมล่ม มีนัยทางการเมือง ยกข้ออ้างรัฐธรรมนูญแก้ไขมาให้ใช้สูตรหาร 100 แล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น พร้อมกับโยนระเบิดกลับมาทางฝั่งรัฐบาล หากซีกรัฐบาลไม่เอาด้วย องค์ประชุมคงไม่ล่ม 

‘นพ.ระวี มาศฉมาดล’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ระบุว่า “มีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งออกคำสั่งให้ ส.ส.ในพรรคเซ็นชื่อเสร็จแล้วกลับบ้านได้เลย อ้างว่านายสั่งให้กลับ จึงทำให้ ส.ส.หายไปจำนวนมาก จนในที่สุดรัฐสภาก็ล่ม” 

ผลจากสภาฯ ล่ม จะได้ยื้อการพิจารณาไปได้อีกอาทิตย์ ยังมีเวลาให้แต่ละฝ่ายได้ต่อรอง เดินเกม โดยเฉพาะคีย์แมนคนสำคัญในฝั่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ปิดห้องคุย รัฐมนตรีระดับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลโน้มน้าวให้มาใช้สูตรหาร 500 แม้เวลานั้น บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐจะไม่เห็นด้วย แต่ต้านกระแสเสียงส่วนใหญ่ไม่ไหว เลยต้องปล่อยเลยตามเลย    

ต่อมาไม่นาน เหตุการณ์พลิกผันอีกรอบ เมื่อมีกระแสข่าวแพร่สะพัดว่า พลังประชารัฐจะหันกลับไปเอาสูตรหาร 100 เป็นเหตุให้ที่มาที่ไปของเกมสภาฯ 2 พรรคใหญ่ในขั้วรัฐบาล ฝ่ายค้านจับมือทำให้องค์ประชุมสภาฯ ล่ม ยื้อเกมทอดเวลาให้ยาวออกไปอีก อย่างน้อยๆ ก็พอมีเวลาต่อรอง คิดทบทวน  

ก่อนหน้านี้ ทีมคนใกล้ชิดเคยชี้ให้เห็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กับสูตรหาร 100 จะยิ่งเป็นการเข้าทางเพื่อไทย แลนด์สไลด์ มีการพูดถึงผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และการเลือกตั้งซ่อมใน 3-4 สนามครั้งล่าสุด ที่พรรคใหญ่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเครือข่าย ‘ปราชัย’ ทุกสนาม บ่งบอก กระแสประชาชนทั้งเบื่อ ทั้งยี้เต็มทน การบริหารประเทศ 8 ปี การปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปประเทศ แก้ปัญหาเศรษฐกิจล้มเหลว ไม่มีอะไรจับต้องได้ ยิ่งปล่อยให้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กับการคิดคำนวณสูตรนี้ จะยิ่งเข้าทาง ฝ่ายตรงข้าม ก็ไม่รู้ว่า 2 คีย์แมน พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร ยังมองในมุมเดียวกันหรือไม่  

การนัดประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้ง ในวันที่ 10 ส.ค. เพื่อพิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อดูตามปฏิทิน กรอบเวลาที่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ทันเดดไลน์ 15 ส.ค. การประชุมครั้งนี้ หากนับตามกำหนดกรอบเวลา คงจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย ผลการประชุมจะออกมาได้เพียง 3 แนวทางเท่านั้น  

1.ที่ประชุมร่วมรัฐสภาให้ความเห็นชอบในวาระ 2-3 จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 (2) ประธานรัฐสภาส่งร่างกฎหมายไปองค์กรอิสระ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นชอบว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

2.ที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ถือว่าร่างกฎหมายนี้ตกไป หากจะมีการหยิบยกขึ้นใหม่ ต้องเริ่มกระบวนการกันใหม่  

 3.ถ้าที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 (1) นำร่างที่เสนอในวาระ 1 มาพิจารณาเพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ คือร่างของ กกต.ให้ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100 และส่งให้นายกฯ ต่อไป 

ท่าทีล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงสงวนท่าที ไม่ให้ความเห็น หลังเหตุการณ์สภาล่ม ส่วนบรรดาพรรคเล็กพรรคน้อยที่เกิดใหม่ทางการเมือง นาทีนี้คงไม่ได้ห่วงสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่าไหร่นัก ขอเพียงแค่ให้มีความชัดเจน จะสูตรไหน คิดคำนวณอย่างไรที่จับต้องได้มากกว่า เพื่อนำไปเตรียมแผนดึงคะแนนนิยมจากประชาชนให้ได้มากที่สุด 

การประชุมร่วมรัฐสภา 10 ส.ค. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อาจจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย เป็นการประชุมครั้งสำคัญ คงเป็นการขับเคี่ยวของ 2 ขั้วอำนาจ ที่แบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน เพื่อไทย พรรคในซีกประชาธิปไตยยกมือหนุนเต็มตัว สูตรหาร 100 สูตรฝั่ง 500 มีพรรคเล็ก ที่อาจได้รับพลังหนุนจากพรรคขนาดกลางบางพรรค ตัวแปรสำคัญ ‘พลังประชารัฐ’ จะกลับไปกลับมา (อีกรอบ) หรือไม่  

บรรดาคีย์แมน พลังประชารัฐมีแผนอะไรอยู่ในใจ วางกับดัก กลไกอะไรซ่อนเร้นไว้อีกชั้นหรือไม่ สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า หากปล่อยตก หันกลับไปสูตร 100 เหมือนเดิม จะพลิกกลับมาในมุมที่เหนือคู่แข่ง ในการประชุม 10 ส.ค. จะได้เห็นกลเกม บทสรุปของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ต่างฝ่ายคงจะงัดกลยุทธ์ออกมาเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองให้ได้มากที่สุด!.    

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส.สานพลัง สธ เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย สร้างพื่นที่ปลอดภัยปัญหายาเสพติด

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ติดตามการดำเนินงานและให้กำลังใจผู้ป่วยยาเสพติด ที่รับการบำบัดที่มินิธัญญารักษ์ รพ.อุทัย และชุมชนล้อมรักษ์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบลลุมพลี อำเภอ

7 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เผชิญแรงบีบรอบด้าน!

แม้จะยังไม่ผ่านโค้งแรกในการบริหารประเทศของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เริ่มต้นทำงานได้เพียง 7 เดือน แต่ก็เหมือนถูกบีบจากสถานการณ์รอบด้าน ที่เข้ามาท้าทายความสามารถของผู้นำประเทศ อีกทั้งยังมีภาพนายกฯ ทับซ้อนที่ทำให้นายกฯ นิดดูดร็อปลงไป

'ทักษิณ' เอฟเฟกต์! ส่อทำการเมืองไทยวนลูปเดิม

ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีประเด็นข่าวร้อนแรงมากมายแค่ไหน แต่มีบุคคลหนึ่งที่ถ้าอยู่ในหน้าข่าวเมื่อไหร่ มักจะสร้างประเด็นดรามาที่ต้องพูดถึงไม่หยุดกับพ่อใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร

สว.2567 เสี่ยงได้ วุฒิสภา สายพรรคการเมือง เชื่อมโยงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

เข้าสู่ช่วงเตรียมนับถอยหลังใกล้โบกมือลา สิ้นสุดการทำหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่

หาก ‘ไผ่’ วืด ‘เบนซ์’ เต็งหนึ่งรมต. เสียบแทน ‘โควตากลาง’ พปชร.

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจว่าคุณสมบัติของ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ยังนั่งเป็นรัฐมนตรีได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับคำร้อง กรณีนายไผ่ขอร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถูก 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ละเมิดจนไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ กรณีระบุว่า ขาดคุณสมบัติ