'มีชัย'จิกซอว์สำคัญ ต่ออายุเก้าอี้นายกฯบิ๊กตู่ 9ตุลาการศาลรธน.รอชี้ขาด

คาดหมายกันว่าในสัปดาห์หน้านี้ หรืออย่างช้าไม่เกินสัปดาห์ถัดไป คือไม่เกินศุกร์ที่ 26 สิงหาคม สององค์กรอิสระคือ ผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะมีมติหรือท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา ว่าจะส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องพ้นจากตำแหน่งภายในไม่เกิน 23 สิงหาคมนี้หรือไม่?

หลังทั้งนักการเมือง นักวิชาการ นักกฎหมาย ออกมาชี้ว่า พลเอกประยุทธ์ที่เข้ามาเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ดังนั้นจึงถือว่าครบ 8 ปีในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า

นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่” 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการการเลือกตั้งจะมีท่าทีอย่างไร แต่ ส.ส.ฝ่ายค้านประกาศแล้วว่า 17 สิงหาคมนี้จะยื่นคำร้องต่อประธานสภาฯ เพื่อให้ประธานสภาฯ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ที่ประธานสภาฯ ส่งแน่นอนและคาดว่าจะส่งโดยเร็วด้วย

คำร้องเรื่องนี้ สุดท้ายเข้าไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน และเมื่อคำร้องส่งไปแล้ว จากนั้นกระบวนการวินิจฉัยคำร้องก็จะเดินหน้าไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ2561 ที่พบว่าในมาตรา 7 ที่เป็นเรื่องของการให้ศาลมีหน้าที่และอํานาจพิจารณาวินิจฉัยคดี ก็พบว่ามีการเขียนไว้ใน (9) ว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยคดี

เกี่ยวกับการสิ้นสุดลงของความเป็นรัฐมนตรี

ดังนั้น ไม่มีทางเป็นอย่างอื่น ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัยร้อยเปอร์เซ็นต์ และเมื่อศาลรับคำร้องไว้แล้ว ประเด็นต่อไปก็ต้องติดตามว่าศาลจะมีการออกคำสั่งให้ ผู้ถูกร้อง คือพลเอกประยุทธ์ ต้อง หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

ซึ่งก็มีทั้งความเป็นไปได้ที่ศาลอาจสั่งหรือไม่สั่งให้พลเอกประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งผลของการที่ศาลจะสั่งหรือไม่สั่งดังกล่าวจะถูก ถอดรหัส-แปลความหมาย ทางการเมืองตามมาทันทีแบบไม่ต้องสงสัย

และหลังจากศาลรับคำร้องและมีคำสั่งว่าจะให้พลเอกประยุทธ์หยุดหรือไม่หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่แล้ว จากนั้นก็จะเดินหน้าไปตามกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็น ระบบไต่สวน ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้ศาลมีอํานาจค้นหาความจริงได้เอง

ซึ่งหลักปฏิบัติทั่วไป เวลาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องที่เกี่ยวข้องกับการตีความตามรัฐธรรมนูญ เมื่อศาลรับไว้พิจารณาแล้ว ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะทำหนังสือไปถึงสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา เพื่อขอให้ส่งเอกสารบันทึกรายงานการประชุมของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับในช่วงที่มีการวินิจฉัยคำร้อง

อย่างกรณีคำร้องของพลเอกประยุทธ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ทางศาลก็จะทำหนังสือขอบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุด มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เพื่อขอเอกสารบันทึกการประชุมของ กรธ.ในช่วงการพิจารณามาตราที่เกี่ยวข้องตามคำร้องในเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ เช่น ในช่วง กรธ.ทำการยกร่างมาตรา 158 รวมถึงบทเฉพาะกาลที่ถูกมองว่าเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เช่น มาตรา 264 มาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา รวมถึงจะมีการขอให้ส่งหนังสือบันทึกเจตนารมณ์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับของ กรธ.มาพิจารณาด้วย เพื่อที่จะได้ทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเข้าใจถึง

ที่มาที่ไป-เจตนารมณ์-วัตถุประสงค์

ในการเขียนรัฐธรรมนูญมาตราที่ต้องใช้ในการตีความการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ ทุกมาตราให้ละเอียดว่า แต่ละมาตรา กรธ.ทั้ง 21 คนเขียนขึ้นมาโดยมีเจตนารมณ์อย่างไร โดยเฉพาะการเขียนมาตรา 158 ที่ให้เป็นนายกฯ ไม่เกิน 8 ปี กรธ.ต้องการให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ และบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวข้องมีข้อยกเว้นในเรื่องการไม่ให้นับรวมช่วงเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หรือไม่

โดยเอกสารทั้งสองชุดคือเครื่องมือสำคัญในการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญตลอดมา ที่ในความเป็นจริงศาลรัฐธรรมนูญทุกยุคก็ใช้วิธีการนี้มาตลอดในการวินิจฉัยปมปัญหาข้อกฎหมายของรัฐธรรมนูญแต่ละมาตรา

เพราะอย่างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะชุดปัจจุบันทั้ง 9 คน ไม่ใช่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ จึงย่อมไม่เข้าใจเจตนารมณ์-ความมุ่งหมายของ กรธ.ว่าเขียนรัฐธรรมนูญแต่ละมาตราโดยมีเจตนารมณ์อย่างไร

ดังนั้น การอ่านบันทึกการประชุมของ กรธ.และการอ่านหนังสือบันทึกเจตนารมณ์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญตลอดมา ตามหลักที่ว่า

"ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงย่อมไม่สามารถไปตีความเกินเจตนารมณ์ของผู้เขียนรัฐธรรมนูญได้"

ดังนั้น หากเอกสารทั้งสองอย่างมีความชัดเจนทุกถ้อยคำ ยิ่งหากมีมติอย่างเป็นทางการหรือเป็นข้อสรุป ข้อถกเถียงที่ตกผลึกแล้วของ กรธ.ในการร่างรัฐธรรมนูญแต่ละมาตรา แบบนี้ก็ยิ่งทำให้การวินิจฉัยคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยิ่งง่ายเข้าไปอีก

อย่างไรก็ตามมีการวิเคราะห์กันว่า หากสุดท้ายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เห็นว่าอ่านบันทึกการประชุม กรธ.ตอนยกร่างรัฐธรรมนูญเรื่องวาระ 8 ปีนายกฯ แล้ว โดยเฉพาะที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันตอนนี้ ที่มีการเผยแพร่บันทึกการประชุมที่มีข้อความความเห็นของ มีชัย ฤชุพันธุ์ กับสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตรองประธาน กรธ. ที่มีการบันทึกทำนองว่า ให้นับระยะเวลาการเป็นนายกฯ ของบุคคลที่เป็นนายกฯ ในช่วงก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย ซึ่งหากนับแบบนี้ก็จะทำให้พลเอกประยุทธ์ที่เป็นนายกฯ รอบแรกปี 2557 ก็จะอยู่เป็นนายกฯ ไม่ได้หลัง 23 สิงหาคมนี้!

สิ่งที่ต้องติดตามคือ หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมองว่าบันทึกการประชุมดังกล่าว รวมถึงในมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อ่านแล้ว

ยังไม่เคลียร์ ยังมีปัญหาข้อสงสัย

อยากรู้ว่า กรธ.มีเจตนารมณ์ที่แท้จริงอย่างไร รวมถึงเสียงส่วนใหญ่ของ กรธ.มีความเห็นอย่างไร ทางศาล รธน.อาจใช้วิธีการแบบที่เคยทำตอนวินิจฉัยคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 256 ที่ฝ่ายค้านยื่นแก้ไข รธน.เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ตอนนั้นศาลได้ทำหนังสือสอบถามความเห็นอดีต กรธ.สองคนคือ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. และอุดม รัฐอมฤต อดีตเลขานุการ กรธ. ที่พบว่าความเห็นของทั้งสองคนที่ยกร่าง รธน.มากับมือทุกมาตรา ได้กลายมาเป็นความเห็นที่มีน้ำหนักอย่างมาก จนทำให้ศาล รธน.มีคำวินิจฉัยสั่งเบรกการแก้ไข รธน.ดังกล่าวของฝ่ายค้านว่าไม่สามารถทำได้ หากจะแก้ต้องจัดทำประชามติก่อน

มาในรอบนี้กับการวินิจฉัยคดี 8 ปี พลเอกประยุทธ์ จึงไม่แน่ ศาล รธน.อาจทำแบบเดียวกัน คือทำหนังสือสอบถามความเห็นไปยัง มีชัย-อดีตประธาน กรธ. รวมถึงอาจสอบถามสุพจน์ ไข่มุกด์ และ ดร.อุดม อดีตเลขานุการ กรธ.ด้วยรวมสามคน เพื่อให้ทำหนังสือตอบกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญให้สิ้นกระแสความว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญมาตราที่เกี่ยวข้องกับวาระ 8 ปีนายกฯ ทาง กรธ.มีเจตนารมณ์อย่างไร โดยเฉพาะต้องการให้มีผลย้อนหลังไปถึงก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญด้วยใช่หรือไม่ 

ซึ่งหากอดีต กรธ.ทำหนังสือตอบกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า 8 ปีการเป็นนายกฯ ต้องนับรวมย้อนหลังก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญด้วย แบบนี้พลเอกประยุทธ์ก็มีสิทธิ์ลงจากหลังเสือ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ค่อนข้างสูง แต่หาก กรธ.บอกว่าการนับเวลาการเป็นนายกฯ ไม่ให้นับย้อนหลัง แต่ต้องนับหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 หรือบอกว่าให้นับจากหลังการเลือกตั้งครั้งแรก หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งพบว่าพลเอกประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกฯ รอบสองเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562

หากอดีต กรธ.มีความเห็นแบบนี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหากเป็นความเห็นของ มีชัย-อดีตประธาน กรธ. ที่ถือว่ามีน้ำหนักสูง ซึ่งหากมีชัยให้ความเห็นไปในทางดังกล่าว

พลเอกประยุทธ์ก็ได้ไปต่อ ยังรักษาเก้าอี้นายกฯ ไว้ได้

ด้วยเหตุนี้ หากกระบวนการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญเดินมาแนวนี้ "มีชัย" คือ บุคคลสำคัญที่จะทำให้พลเอกประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ได้เป็นนายกฯ ต่อไป

โดยต้องไม่ลืมว่ามีชัยคืออดีตบอร์ด คสช.-อดีตประธาน กรธ.ที่พลเอกประยุทธ์ตั้งมากับมือ ทั้งพลเอกประยุทธ์และมีชัยจึงมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้น่าจะต่อสายหากันได้ อีกทั้งรู้กันดีว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มือกฎหมายรัฐบาล ก็คือศิษย์เอก-น้องรักของมีชัย ที่ต่อสายคุยกันตลอดเวลา

ดังนั้น มีหรือที่ป่านนี้ พลเอกประยุทธ์และวิษณุจะไม่รู้ว่ามาตรา 158 เรื่องวาระ 8 ปีนายกฯ ดังกล่าว กรธ.มีเจตนาให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ และน่าจะพอรู้ได้ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญถามความเห็นมาที่มีชัยแล้ว ตัวมีชัยจะตอบศาลรัฐธรรมนูญในทางที่ทำให้พลเอกประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ ต่อหรือต้องหลุดจากเก้าอี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลยจุดกลบซีน ‘เศรษฐา’ ‘แม้ว’ ลุยสุด ภารกิจ ‘พิฆาตส้ม’

การเมืองเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา คงไม่มีปรากฏการณ์ไหนได้รับการจับตาเท่าพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่มีตัวละครทางการเมืองสำคัญในปัจจุบันอยู่ที่นั่น

ไม่เสียชื่อ! ‘ธรรมนัส' นำชาวพะเยารับนายกฯ ‘เศรษฐา’ รับปากดันสร้างสนามบิน

‘เศรษฐา’ รับปากดันสร้างสนามบินพะเยา เปิดท่องเที่ยวเมืองรอง ด้าน ‘ธรรมนัส’ นำชาวบ้านต้อนรับด้วยดอกคำใต้ พร้อมชูป้ายพรึบขอสนามบิน

สองหัวดีกว่าหัวเดียว! ‘วราวุธ’ หนุนนายกฯดึง ‘ทักษิณ’ ร่วมลงพื้นที่

‘วราวุธ’ มอง ’เศรษฐา’ ดึง ‘ทักษิณ’ ร่วมลงพื้นที่เป็นเรื่องดี-เป็นประโยชน์ต่อรบ. ชี้ทำงานสองหัวดีกว่าหัวเดียว รับ เป็นเรื่องปกติฝ่ายโจมตีมองแง่ลบ

นายกฯ ลุยต่อจังหวัดพะเยา แวะติดตามไฟไหม้ป่าริมทาง สั่งดูแลสวัสดิการ จนท.

ช่วงอำเภอวังเหนือ ต.วังทอง รอยต่อ 3 จังหวัด ลำปาง เชียงราย พะเยา นายกฯได้แวะดูสถานการณ์ไฟไหม้ป่าริมทาง ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการฉีดน้ำเพื่อดับไฟ

ป้อง 'พิธา' สวนรัฐบาลมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ เหน็บ 'ทักษิณ' ผิดศีลข้อ 4

'โรม' ข้องใจ 'ทักษิณ' ลงพื้นที่ดูแข็งแรง ไม่เหมือนป่วยจริง ถามสังคมยอมรับนักการเมืองมุสาได้แค่ไหน สวนคนวิจารณ์ 'พิธา' ดับไฟป่าเชียงใหม่ มือไม่พายอย่าเอาเท้าราน้ำ