'ไทย' โชว์ศักยภาพกลาง 'เอเปก' ยกระดับความร่วมมือฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก มาตั้งแต่ต้นปี 2565 จนในที่สุดเวลาพาเดินทางมาถึงจุดพีกของการประชุมเอเปก

โดยระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย.จะเป็นการประชุมระดับผู้นำเศรษฐกิจเอเปก ซึ่งมีบุคคลสำคัญถึง 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วม นั่งโต๊ะหารือในหัวข้อหลัก การเติบโตอย่างสมดุล ครอบคลุมและยั่งยืน และหัวข้อการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและยั่งยืน

ถือเป็นเวทีเศรษฐกิจสำคัญที่โลกจับตามอง ภายหลังจากที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำระบบเศรษฐกิจทั่วโลกวูบ และขณะนี้เมื่อสถานการณ์คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประเทศต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่จะเริ่มต้นพูดคุยเจรจาการค้าการลงทุน เพื่อความมั่นคงมั่งคั่งของประเทศตัวเอง ดังนั้นเวทีเอเปกจึงเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ตอบโจทย์อย่างยิ่ง

เรียกว่าช่วงการประชุมที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย. เป็นอะไรที่ลงตัว ประจวบเหมาะพอดิบพอดี และงานนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีของไทย และ รมว.กลาโหม ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพ โชว์วิสัยทัศน์ในสายตาของชาวโลกอีกคราว

อย่างเมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดการประชุม APEC CEO Summit ตามคำเชิญของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (APEC Business Advisory Council : ABAC) ซึ่งเวทีนี้เป็นหนึ่งในการรวมตัวของภาคธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และเป็นการกลับมาอีกครั้งของการประชุมในรูปแบบพบหน้า

นายกฯ ของไทยจึงได้ใช้ประโยชน์จากจุดนี้สื่อสาร ตอนหนึ่งว่า “ไทยมีการปรับตัวและปฏิรูปทางโครงสร้างที่จำเป็น ซึ่งรัฐบาลยินดีต้อนรับการลงทุน และแรงงานที่มีทักษะและแรงงานขั้นสูงเพิ่มเติมในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมทั้งมีมาตรการจูงใจทั้งทางภาษีและไม่ใช่ภาษี นอกจากนี้ ไทยได้เปิดตัวโครงการตรวจลงตราประเภทผู้พำนักระยะยาว 10 ปี พร้อมสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล พร้อมจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เป็นเขตนวัตกรรมดิจิทัลแห่งใหม่ และเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและนวัตกรรมของภูมิภาค”

นอกจากนี้ ด้วยจะมีการประชุมระดับผู้นำ นายกรัฐมนตรี ยังได้หารือทวิภาคีกับ เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือ ด้านเศรษฐกิจ โดยทั้งไทยและฝรั่งเศสยินดีกับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และเห็นพ้องกันว่า ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้อีกมาก

โดยรัฐบาลไทยได้ปรับนโยบายที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปสีเขียวของ EU จึงเป็นโอกาสดีที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะสนับสนุนการส่งออกสินค้าสิ่งแวดล้อมและการลงทุนในธุรกิจสีเขียว ไทยร่วมกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไป สำหรับรายการสินค้าสิ่งแวดล้อม จำนวน 54 รายการ นายกรัฐมนตรีจึงเชิญชวนให้ฝรั่งเศสใช้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว

ด้าน มาครง ก็พร้อมมีความร่วมมือกับไทยในด้านการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรม ตลอดจนพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนา EEC

รวมทั้งนายกฯ ไทยยังขอรับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสสำหรับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งการจัดงาน Expo 2028 - Phuket Thailand ในเดือนมิถุนายน 2566 ระหว่างช่วงการประชุมสมัชชาใหญ่ (BIE General Assembly) ครั้งที่ 172 ที่กรุงปารีส โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมให้การสนับสนุนไทย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้หารือทวิภาคีแบบสั้น (pull-aside) กับ นายจอห์น ลี คา-ชิว (The Honourable John Lee Ka-Chiu) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

โอกาสนี้ทั้ง 2 ฝ่ายต่างเห็นพ้องว่า "สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเป็นโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมแก้ปัญหาท่ามกลางความท้าทาย และเป็นโอกาสให้ยกระดับความร่วมมือ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงแสวงหาความร่วมมือเพิ่มเติมในเรื่องการค้าและการลงทุน และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนการค้าในผลิตภัณฑ์ทางด้านเกษตร"

อย่างไรก็ตาม ธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในฐานะประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปก ปี 2565 ยังพูดถึงสิ่งที่ได้รับจากการประชุมเอเปกว่า เราได้เดินหน้าการสนับสนุนการเดินทางและการขนส่งสินค้าข้ามแดนให้เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 และที่สำคัญ ยังได้นำเรื่อง การค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP มาพูดอีกครั้ง

"เพราะถ้าต้องการทำให้ภูมิภาคนี้มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นและเป็นไปอย่างยั่งยืน จะต้องเพิ่มความพยายามในการส่งเสริมการค้าการลงทุน พร้อมกับลดข้อจำกัดต่างๆ ในด้านการค้าการลงทุน เราจึงได้หยิบยกเรื่อง FTAAP ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อสร้างการเจริญเติบโตให้แก่ภูมิภาคนี้ ซึ่งก็จะนำประเด็นเหล่านี้เสนอในเวทีระดับผู้นำด้วยเช่นกัน"

นี่คือตัวอย่างประโยชน์ส่วนหนึ่งที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก เพื่อแสวงหาความร่วมมือฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม หลังวิกฤตโควิด-19.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

7 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เผชิญแรงบีบรอบด้าน!

แม้จะยังไม่ผ่านโค้งแรกในการบริหารประเทศของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เริ่มต้นทำงานได้เพียง 7 เดือน แต่ก็เหมือนถูกบีบจากสถานการณ์รอบด้าน ที่เข้ามาท้าทายความสามารถของผู้นำประเทศ อีกทั้งยังมีภาพนายกฯ ทับซ้อนที่ทำให้นายกฯ นิดดูดร็อปลงไป

'ทักษิณ' เอฟเฟกต์! ส่อทำการเมืองไทยวนลูปเดิม

ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีประเด็นข่าวร้อนแรงมากมายแค่ไหน แต่มีบุคคลหนึ่งที่ถ้าอยู่ในหน้าข่าวเมื่อไหร่ มักจะสร้างประเด็นดรามาที่ต้องพูดถึงไม่หยุดกับพ่อใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร

สว.2567 เสี่ยงได้ วุฒิสภา สายพรรคการเมือง เชื่อมโยงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

เข้าสู่ช่วงเตรียมนับถอยหลังใกล้โบกมือลา สิ้นสุดการทำหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่

หาก ‘ไผ่’ วืด ‘เบนซ์’ เต็งหนึ่งรมต. เสียบแทน ‘โควตากลาง’ พปชร.

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจว่าคุณสมบัติของ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ยังนั่งเป็นรัฐมนตรีได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับคำร้อง กรณีนายไผ่ขอร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถูก 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ละเมิดจนไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ กรณีระบุว่า ขาดคุณสมบัติ

ครม.เศรษฐา 2 ทักษิณเคาะโผ ฉากทัศน์กองทัพยุค "บิ๊กนิด"

ชัดเจนแล้วว่า ครม.เศรษฐา 2 ที่จะเป็นการปรับ ครม.ครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะเกิดขึ้นแน่นอน โดยคาดว่า อาจจะเกิดขึ้นภายในปลายเมษายนนี้ หรือช้าสุดไม่เกินกลางเดือน พ.ค. เว้นแต่มีสถานการณ์แทรกซ้อนทำให้การปรับ ครม.อาจขยับออกไปได้

ลดความเสี่ยง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ปรับ ครม.เค้นผลงานรัฐบาล

เรือธง ล้มไม่ได้ เพราะมีผลต่อเครดิตของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออนาคต สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท