พรรคเล็กสู้ตาย ถ้าหาร 100 ฉลุย ศาล รธน.ลงมติ 30 พ.ย.

วันพุธที่ 30 พ.ย.นี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดลงมติคำร้องคดีร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีจุดสำคัญอยู่ในร่างดังกล่าวคือเรื่อง ระบบการเลือกตั้งแบบหาร 100 คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ที่จะมีผลต่อการเมือง-การเลือกตั้งในอนาคตตามมา

คำร้องดังกล่าว กลุ่มผู้ร้องซึ่งนำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล กับคณะเข้าชื่อกันยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยว่าร่างดังกล่าวมีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ โดยได้ยื่นให้ตีความ 2 ประเด็นคือ

1.ระบบการคิดคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ที่ให้ใช้ระบบ 100 หาร ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และ 94 หรือไม่

ซึ่งคำร้องระบุโดยสังเขปว่า ระบบหาร 100 ดังกล่าว ไม่มีเรื่องของ ส.ส.พึงมี แต่ใน 2 มาตราข้างต้นที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ให้มี ส.ส.พึงมี โดยชี้ว่า หาร 100 เป็นระบบเลือกตั้งที่ไปยกเลิกเจตนารมณ์หลักของรัฐธรรมนูญใน 3 เรื่องสำคัญคือ ส.ส.พึงมี-ทุกคะแนนเสียงที่ประชาชนใช้สิทธิ์เลือกตั้งต้องไม่ตกน้ำ-ระบบจัดสรรปันส่วนผสมจึงน่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

2.ให้วินิจฉัยถึงกระบวนการประชุมร่วมรัฐสภา ที่ผู้ร้องเห็นว่ามีการทำให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ฉบับของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งของรัฐสภา พิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน

ด้วยการทำให้องค์ประชุมล่มถึง 4 ครั้งติดต่อกัน จนสุดท้ายร่างของกรรมาธิการที่ค้างการพิจารณาในวาระ 2 ของรัฐสภาที่เป็นระบบหาร 500 พิจารณาไม่ทัน จนต้องกลับไปใช้ร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นหาร 100

ผู้ร้องจึงเห็นว่า การทำให้รัฐสภาองค์ประชุมล่มเป็นวิธีการที่ไม่ปกติ จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีต่อการพิจารณาร่างกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติและอาจขัดรัฐธรรนูญ

ต้องดูกันว่า ผลคำวินิจฉัยพุธนี้ 30 พ.ย.จะออกมาแบบไหน หาร 100 จะผ่านไปได้ หรือจะติดไฟแดง

ขณะที่ท่าทีของพรรคเล็กที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างปฏิเสธไม่ได้ หากระบบเลือกตั้งกลับไปใช้ระบบหาร 100 โดยเฉพาะพรรคที่หวังจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่จะทำได้ยากขึ้น เรื่องนี้หัวหน้าพรรคการเมืองขนาดเล็กอย่าง ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท กล่าวถึงผลคำวินิจฉัยของศาลที่จะออกมาว่า ส.ส.ของพรรคพลังท้องถิ่นไท ได้ร่วมลงชื่อในคำร้องดังกล่าวด้วย เพราะต้องการให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมาย จะได้หายข้อข้องใจ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าสุดท้าย กติกาเลือกตั้งจะออกมาแบบไหน จะเป็นหาร 100 หรือหาร 500 แต่ว่าไปมันก็ผิดทั้งคู่ เหตุเพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราก่อนหน้านี้ไม่สะเด็ดน้ำ เพราะมาตรา 93 กับ 94 ที่มีเรื่องของ ส.ส.พึงมี ยังคงมีอยู่ ไม่ได้รับการแก้ไข เพราะตอนนั้นรัฐสภาไปรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเฉพาะของประชาธิปัตย์พรรคเดียว ซึ่งไม่ได้เสนอแก้ไขมาตรา 93 กับ 94 แต่พรรคการเมืองอื่นที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาด้วยพร้อมกัน เขาเสนอแก้มาตรา 93 กับ 94 มาไว้ด้วย แต่ปรากฏว่ารัฐสภาไปรับหลักการมาเฉพาะของประชาธิปัตย์ มันเลยกลายเป็นประเด็นการเมืองเกิดขึ้น 

"หากสุดท้ายออกมาเป็นว่าให้ใช้กติกาเลือกตั้งแบบหาร 100 พรรคพลังท้องถิ่นไทยืนยันว่าพร้อมจะเดินหน้าต่อไป เราพร้อมยอมรับทุกกติกาที่จะใช้ เพราะเราทำการเมืองไม่ใช่เพื่อการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่การเมืองคือเรื่องของสาธารณะ พรรคการเมืองต้องทำหน้าที่เป็นปากเสียงของประชาชน ทั้งในสภาและนอกสภา”

“หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไทย้ำว่า สิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำมีอยู่ 2 เรื่องคือ 1.ส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อตามกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนเลือกเข้ามาทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นปากเสียงให้ประชาชน นำนโยบายพรรคที่หาเสียงไว้ไปปฏิบัติ หากมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล 2.พรรคการเมืองต้องสร้างพลเมือง ให้ความรู้กับประชาชน เป็นการเมืองแบบภาคพลเมือง สำหรับพรรคพลังถิ่นไท เราทำการเมืองภาคพลเมืองได้ โดยให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเมืองกับประชาชน ซึ่งหากสมมุติพรรคไม่ได้ ส.ส.แม้แต่คนเดียว มันไม่ใช่ว่าพรรคจะสลายไป แต่พรรคต้องทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน ซึ่งหลังผมได้รับเลือกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ผมได้ประกาศเลยว่า พรรคจะต้องทำเรื่องการเมืองภาคพลเมืองให้เกิดขึ้น เช่น อาจจะทำโรงเรียนการเมืองของภาคพลเมืองในนามของพรรคพลังท้องถิ่นไท เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องท้องถิ่น การเมืองของประเทศชาติ ให้เขาตระหนักในความเป็นชาติบ้านเมือง แบบนี้คือหน้าที่ซึ่งพรรคการเมืองต้องทำ

ศ.ดร.โกวิทย์ กล่าวอีกว่า สุดท้ายแล้วไม่ว่ากติกาเลือกตั้ง ส.ส.จะออกมาแบบไหน จะเป็นหาร 100 หรือหาร 500 มันไม่สำคัญ เพราะหากพรรคการเมืองเข้าถึงประชาชน ทำให้ประชาชนสนใจนโยบายของพรรค ผมว่าเขาเลือกเรา เพียงแต่ว่าตอนนี้ที่คนเขากลัวกัน เพราะการเมืองปัจจุบันมันไม่ใช่การเมืองแบบดั้งเดิมที่ใช้เสียงประชาชนแบบบริสุทธิ์มาลงคะแนนเสียง ซึ่งพรรคขนาดเล็ก พรรคที่มีทุนน้อยเรากลัวธุรกิจการเมือง อย่างเขตหนึ่งบอกว่าต้องใช้เงินในการเลือกตั้ง 30-40 ล้านบาท พูดกันให้แซ่ดเลย แล้วทุนพวกนี้เอามาจากไหน พรรคเล็กก็กลัว เพราะไม่มีทุน เราสู้ทุนพรรคใหญ่ไม่ได้ เราสู้ธุรกิจการเมืองใหญ่ไม่ได้ อย่างพลังท้องถิ่นไทไม่มีเงินที่จะไปสู้พรรคใหญ่ ซึ่งหากออกมาเป็นหาร 100 ก็ต้องได้คะแนนมากขึ้นจากเดิม ส่วนหากออกมาเป็นหาร 500 ใช้เสียงน้อยลง ก็มีจุดดี แต่ต้องดูว่าหากใช้แล้วจะให้มี ส.ส.พึงมีไว้แบบเดิมหรือไม่ เพราะในรัฐธรรมนูญก็ยังมีเรื่อง ส.ส.พึงมีอยู่ คิดว่าหากออกมาเป็นหาร 500 แล้วมีเรื่อง ส.ส.พึงมี พรรคใหญ่ก็ไม่ยอม ก็ต้องโวยวาย เพราะทำให้ไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย หากได้ ส.ส.เขตเยอะ จะเห็นได้ว่ากลัวกันคนละแบบระหว่างพรรคใหญ่กับพรรคเล็ก

…ยืนยันว่าในฐานะหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท เราสู้ทุกรูปแบบ เราต้องทำการเมืองให้ไม่ไปตามกระแส ซึ่งกระแสที่บอกก็อย่างเช่น การคิดว่าจะลงเลือกตั้งต้องมีทุน ต้องมีเงินใช้ในการหาเสียง ซึ่งวิธีแบบนี้เราไม่เอาด้วย แต่ผมอยากทำการเมืองทวนกระแส เช่น เราต้องขายนโยบายกับประชาชน เช่น เรื่องกระจายอำนาจ นโยบายสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศ ต้องเป็นการเมืองที่ไม่ใช่ธุรกิจการเมืองไปเกี่ยวข้อง แต่ต้องทำการเมืองแนวใหม่ การเมืองวิถีใหม่ แบบการเมืองภาคพลเมือง เพื่อให้พลเมืองใหญ่กว่านักการเมือง

นั่นคือท่าทีของหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดเล็ก ในวันที่กำลังรอลุ้นผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.พุธที่ 30 พ.ย. ที่สรุปได้ว่า ถึงต่อให้ออกมาเป็นหาร 100 พรรคเล็กก็ไม่หวั่น ขอสู้ตาย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รหัสลับทักษิณถึง สส.พท. อบจ.เขตไหนแพ้ขึ้นบัญชีดำ

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์เท่านั้น จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ ที่จะเลือกกันวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.

การพนันถูกกฎหมาย-ป่วยทิพย์ชั้น14 จุดตายรัฐบาล ก่อนสังคมไทยหายนะ

"ได้เรียนตำราเล่นเบี้ยอย่างฝรั่งเข้าใจแล้ว ข้อซึ่งเข้าใจกันว่าเล่นไม่น่าสนุกนั้นไม่จริงเลย สนุกยิ่งกว่าอะไรๆ หมด ถ้าชาวบางกอกรู้ได้ไปเล่นแล้ว ฉิบหายกันไม่เหลือ

เพิกถอนที่ดิน “อัลไพน์” ระวังซ้ำรอยค่าโง่พันล้าน

ขณะที่พรรคเพื่อไทย โดย “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม กำกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จากพรรคเพื่อไทย กำลังรุกไล่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย ในคดี ที่ดินเขากระโดง โดยกดดันต่อสังคมว่า กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ไม่ยอมเพิกถอนที่ดินประมาณ 5,000 กว่าไร่ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาและศาลปกครอง

วิถี ‘ผู้นำ’ ตระกูลชินวัตร คำร้องเยอะ ตรวจสอบเข้ม

หากถอดรหัสคำพูดของ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีที่ถูกร้องเรียนจาก "นักร้อง" เห็นชัดว่า หากเป็นไปได้ไม่อยากมีคดีติดตัว

“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม

จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา

หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!

ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ