บันได3ขั้น'ค่ายน้ำเงิน'ชิงการนำ

ท่ามกลางความวุ่นวายของ ส.ส.ย้ายค่ายกันจ้าละหวั่น ก่อนที่จะครบกำหนดเส้นตายที่นักการเมืองจะขยับกายไปไหนไม่ได้ ต้องติดหล่มอยู่ในฐานที่มั่นที่ตัวเองไม่อยากอยู่

 สังคมต่างโฟกัสไปที่ความเคลื่อนไหวของ 2 ป. พี่ใหญ่ น้องเล็ก บูรพาพยัคฆ์-ทหารเสือราชินี ที่มีสตอรี แยกกันเดินรวมกันตี หรือ อำนาจบังตาทำให้เกิดกิเลส แย่งชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีกันเอง

ข้อสันนิษฐานคือ คนรอบข้าง ลิ่วล้อ และคนในครัวเรือนเป็นพิษ ทำให้ “พี่ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ “น้องตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องแยกทางไปฉายเดี่ยว เพราะแพ้แรงยุยงของคนที่อยากได้อานิสงส์ หรือผลประโยชน์จากพี่ๆ

พิสูจน์ได้จากภาษากายและกิจวัตรประจำวันที่ทั้งคู่ ไม่เหมือนเดิม มีความห่างเหินเกินกว่าจะย้อนกลับไปใช้ความสัมพันธ์ “3 ป. forever” แบบเนื้อเดียวเหมือนเดิมตามที่ประกาศไว้ได้

แต่ก็มีข้อมูลบางกระแสยังไม่เชื่อว่า 2 ป.มีความขัดแย้งกันจริง เป็นเพียงเรื่องที่ต้องเล่นไปตามบทในช่วง “ลุงตู่” กระแสตก ยุทธศาสตร์ในการพยุงอำนาจสองขาไว้ เพื่อต่อกรกับค่ายตรงข้ามในช่วงของการเลือกตั้งจึงจำเป็น

ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องรอดูต่อไป แต่ศึกยกแรกในการแย่งชิงนักการเมืองบ้านใหญ่เข้มข้นสมจริงเป็นอย่างมาก จึงไม่อาจมองได้ว่าเป็นการเล่นละคร

ไล่ตั้งแต่ พล.อ.ประวิตร ที่มองว่าเป็นการปาดหน้าทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ชิงตัว ส.ส. และล็อกบ้านใหญ่ราชบุรีให้อยู่กับตัวเอง เข้าไปตีท้ายครัวดึงนายวิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี สามีนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.พปชร. กลุ่มสามมิตรมาอยู่ด้วย 

นอกจากนี้ ในวันที่ 20 ม.ค. “ลุงป้อม “ยังจะลงพื้นที่ต่อเนื่องในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดพิษณุโลก ท่ามกลางการรายล้อมของแม่ยก-พ่อยก  

ขณะที่บิ๊กตู่ลงพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดพิจิตรในวันที่ 30 ม.ค.นี้เช่นกัน โดยในส่วนจังหวัดพิจิตรมี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 2 คน นายสุรชาติ ศรีบุศกร อยู่กับ “เสธ.หิ” หิมาลัย ผิวพรรณ, นายภูดิท อินสุวรรณ์ อยู่กลุ่มสามมิตร ที่คาดว่าอยู่กับลุงป้อม และอีก 1 คน คือ นายพรชัย อินทร์สุข พรรคเศรษฐกิจไทย สาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่กำลังจะกลับพรรคพลังประชารัฐ

รวมถึงการอ้างผลงานในการจัดทำนโยบาย เช่น พรรคพลังประชารัฐเพิ่มเงินในนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจาก 200-300 บาท เป็น 700 บาท ขณะที่ “เด็กตู่” ธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่เตรียมร่วมงานกับ รทสช. ออกตัวการันตีว่า นโยบายนี้เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ให้แนวคิดดังกล่าว

ขณะที่นายทศพล เพ็งส้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตอบโต้ว่า นายธนกรน่าจะมีความจำที่ไม่ดี ถึงลืมไปว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ที่มาจากการเสนอชื่อของพลังประชารัฐ และโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือหนึ่งในนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐใช้ในการหาเสียงเมื่อปี 2562

จึงไม่แปลกที่จะถูกมองว่าตอนนี้ ลุงป้อม-ลุงตู่ ขัดแย้งกันอย่างแน่นอนแล้ว เสริมความหนักแน่นของข่าวจากการไฟเขียวให้ลูกหาบทั้งสองฝ่ายออกมาปะทะคารมกัน ทำให้ข่าวรายวันมีแต่ความหมางเมินของทั้งคู่ รวมถึงวิวาทะระหว่างนักการเมืองสองพรรคที่ตอบโต้กันไปมา

และคนที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้งนี้คือ พรรคที่สามในขั้วเดียวกัน หรือพรรคการเมืองอีกขั้วหนึ่ง

    ดูจากหน้าเสื่อแล้ว “บิ๊กป้อม” ย่อมได้เปรียบในเกมต่อรอง เพราะขุมข่ายนักการเมืองมีอยู่เต็มมือ เหล่าบรรดา ขุนพล ที่เชื่อกันว่ามีศักยภาพที่จะนำชัยชนะมาให้พรรคยังเหนียวแน่น ทั้งกลุ่มสามมิตร ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า และอีกสารพัดเบอร์ใหญ่ที่เทใจมาทางพรรคพลังประชารัฐ ด้วยความมั่นใจในความเป็นผู้ใหญ่ใจกว้างของ “ลุงป้อม”

    อีกทั้งการ ผูกมิตร กับเหล่าบรรดาแกนนำคนสำคัญ หรือแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทย ที่มีการปล่อยกระแสของพรรคตรงข้ามพรรคเพื่อไทยที่บอกว่า เลือกเพื่อไทยได้ลุงป้อมเป็นนายกฯ เป็นระลอก

เป็นการตอกย้ำว่า การเจรจาต่อรองหลังการเลือกตั้งไม่ได้ปิดตาย สมการอยู่ที่พรรคใดจะรวบรวมเสียงได้มากกว่ากัน เพราะถึงนาทีนี้ พรรคเพื่อไทยเองคงไม่อยากเป็นฝ่ายค้านมาราธอนต่อไปอีก

    และเมื่อรวมกับเสียงของวุฒิสมาชิกแล้ว ก็เชื่อว่าบันไดขั้นแรกของเกมอำนาจนี้ มีชื่อ “ลุงป้อม” ได้เปรียบมาเป็นอันดับหนึ่ง

    แต่ถ้าในที่สุดไม่เป็นไปตามคาด เกิดการพลิกล็อก เจอกลเกมกฎหมายและทุนจีนเทาพ่นพิษ จนมีผลต่อสถานะของพรรคพลังประชารัฐ ในที่สุดก็ต้องเข้าสู่บันไดขั้นที่สอง ชื่อของ ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะกลับมาเข้าฮอร์ส และเดินเกมจัดตั้งรัฐบาลต่อไป ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากนักการเมืองพลิ้วพลิกในตอนท้ายของเรื่อง และ “ลุงป้อม” ไม่เทใจให้น้องอีกต่อไป

    ที่น่าสนใจคือพรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นพรรคที่เป็นตัวแปรสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกโรงของ เนวิน ชิดชอบ ที่การันตีถึงความพร้อมของ อนุทิน ชาญวีรกูล ที่จะเป็นนายกฯ ไม่ใช่แค่ทำการเมืองเพื่อเดินตามเกม 3 ป.เหมือนในอดีต

แต่ด้วยความเก๋าเกม ภูมิใจไทยย่อมรู้ดีว่าต้องรอดูทิศทางลม และอาณัติสัญญาณ เพราะเหตุการณ์ในบ้านเมืองในแต่ละช่วงเวลามีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด

    โดยเฉพาะธรรมชาติของการเมืองในยุคที่ทหารกุมอำนาจเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเลือกตั้งมาแล้วหนึ่งสมัย แต่อำนาจก็ยังอยู่ในมือทหารกลุ่มเดิม 

เหมือนเป็นการจับวางให้ทหารจัดระเบียบ รวบรวมทุกองคาพยพเพื่อให้ประเทศเดินหน้า และดำรงประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    จนกลายเป็นสูตรสำเร็จว่า ช่วงที่สถาบันถูกเขย่าอย่างหนัก การเลือกใช้บริการทหารยังจำเป็นอยู่

    หากแนวโน้มการเมืองจบลงที่การสวิงขั้ว เพราะ 2 ป. เอาไม่อยู่ ก็คาดว่าจะเกิดขุมอำนาจ 3 ป.ชุดใหม่ที่เป็นทหารนอกราชการรุ่นน้องขึ้นมารับไม้ทำหน้าที่ออกแบบ สร้างสมการทางการเมืองแทน

ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากปรากฏการณ์แปลกแปร่งทั้งเรื่องข้อเสนอนิรโทษกรรม การเมืองแบบหันหน้าเข้าหากัน ส่อเค้าลางว่าอาจไปไม่ถึงการเลือกตั้ง ซึ่งไม่มีใครอยากให้ก้าวไปสู่บันไดขั้นที่ 3 นี้อย่างแน่นอน

    จึงต้องจับตาดูต่อไปว่าวันที่ 7 ก.พ.นี้ พรรคต่างๆ จะได้นักการเมืองเกรดเอ บี ซี ไปอยู่ในสังกัดมากน้อยแค่ไหน จากนั้นค่อยมาประเมินเรื่องกระสุนดินดำ-กำลังภายใน-อำนาจรัฐ ว่าจะมีกลเม็ดในการงัดมาสู้กันอย่างไร

    ที่สำคัญคือการเฝ้าติดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ที่อยู่ระหว่างการโปรดเกล้าฯ รวมถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งที่อยู่ในช่วงการรับฟังความคิดเห็น ขอคณะกรรมการเลือกตั้งประกาศออกมาก่อน

ถึงเวลานั้นจึงจะพูดได้เต็มปาก และฟันธงได้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามไทม์ไลน์ที่ประเมินกัน

แล้วค่อยมาเคาะระฆังศึกยกแรกในการชิงเก้าอี้ ส.ส.ในสนามจริง!!!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง