‘แอมเนสตี้’ ในวังวนมหาอำนาจ

1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้ร่วมกับ “รุ้ง”-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำราษฎร นำ 28,426 รายชื่อ ที่ร่วมเรียกร้องผ่าน Change.org ส่งไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก่อนที่ “รุ้ง” จะกลับเข้าห้องขัง เพราะศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในคดี ม.112 เนื่องจากกระทำผิดซ้ำ

จากนั้นไม่นาน เว็บไซต์ Amnesty International Thailand โพสต์ให้คนทั่วโลกเข้ามาลงชื่อเพื่อช่วย “รุ้ง”-ปนัสยา ตามโครงการ “เขียน เปลี่ยน โลก” แคมเปญรณรงค์สิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปีนี้กรณีของ “รุ้ง” ได้ส่งถึงผู้สนับสนุนของแอมเนสตี้ทั่วโลกให้ช่วยกันส่งข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย เพื่อให้ยุติการดำเนินคดีและข้อกล่าวหาทั้งหมด และปล่อยตัวให้เป็นอิสระ

จึงไม่แปลกถ้าจะมีปฏิกิริยาจากกลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบันและเครือข่ายปกป้องสถาบัน 6 องค์กร ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ผ่าน แรมโบ้-เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล ขอให้รัฐบาลดำเนินการตรวจสอบ "แอมเนสตี้” เพราะมีพฤติกรรมการกระทำเข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีเครือข่ายเสื้อแดงฝ่ายรัฐเคลื่อนไหวในต่างจังหวัดคู่ขนานไปด้วยในวันเดียวกัน

ตามด้วยท่าทีของ แรมโบ้ ที่เปิดหน้า “รุก-รบ” ประกาศแคมเปญลงชื่อขับไล่แอมเนสตี้ 1 ล้านชื่อ และจะดำเนินการตามกฎหมายกลุ่มคนที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายของไทย โดยจะต้องเอาเข้าคุกเข้าตะราง หรือไล่ออกนอกประเทศให้ได้

ดูเหมือนแรงสะท้อนกลับจากกลุ่มเคลื่อนไหวฝ่ายรัฐไปยัง “แอมเนสตี้” ในครั้งนี้หนักหน่วง และหวังผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนมากว่าทุกครั้ง 

ส่งผลให้เพจที่ใช้ชื่อว่า Amnasty ต้องนำเสนอชุดข้อมูลเรื่อง 6 ความจริงที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ครอบคลุมทั้งเรื่องการก่อตั้ง แหล่งรายได้ในการทำกิจกรรม และบทบาทขององค์กร ที่ไม่ได้อยู่ใต้ “เงา” สหรัฐ

มีการวิเคราะห์ว่า แอมเนสตี้ ไทยแลนด์ การช่วยเหลือแกนนำสามนิ้ว โดยใช้สูตร โลกล้อมไทย ในช่วงจังหวะนี้ น่าจะมีสหรัฐเป็นตัวช่วยเพิ่มพลังการเคลื่อนไหวให้มากขึ้น 

  เพราะขณะนี้การเดินเกมของสหรัฐเพื่อหว่านล้อมไทยให้ยืนอยู่ข้างตนเองเริ่มปรากฏชัดขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในประเด็นความขัดแย้งของภูมิภาค ทั้งปมทะเลจีนใต้-สถานการณ์ในเมียนมา กำลังเข้มข้น และไทยก็มีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนหลักอาเซียนในการรักษาดุลยภาพของภูมิภาคนี้

จึงเริ่มมีปรากฏการณ์น่าสนใจ ทั้งการเดินทางมาเยือนของ  รอง ผอ.ซีไอเอ ของสหรัฐ ที่เหมือนจะเป็นวาระปกติเมื่อรัฐบาลไบเดนเข้ามาบริหารประเทศ แต่ติดช่วงโควิด-19 จึงเลื่อนเดินทางมาช่วงนี้เมื่อไทยคลายล็อก-เปิดประเทศ แต่การหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กว้างๆ ย่อมซ่อนไปด้วยนัยเจตนาระหว่างบรรทัด ในเรื่องความร่วมมือด้านต่างๆ

หรือกรณีที่ฝ่ายบริหารของรัฐบาล ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกาเชิญ 110 ประเทศและดินแดน เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย (Summit for Democracy) ทางออนไลน์ที่สหรัฐจัดขึ้นเป็นครั้งแรก วันที่ 9-10 ธ.ค.2564 เพื่อช่วยหยุดยั้งการเสื่อมถอยทางประชาธิปไตย และการพังทลายของสิทธิและเสรีภาพทั่วโลก ในรายชื่อของประเทศผู้ได้รับเชิญโดยกระทรวงต่างประเทศ ไม่มีมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซีย ที่สำคัญไม่มีชื่อของประเทศไทย

ปรากฏการณ์ดังกล่าวคงทำได้แค่เป็นการ ประจาน ไทย  แต่คงไม่มีผลให้ไทย เลือกข้าง หรือไม่ยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง เฉกเช่นที่สหรัฐหรือจีนก็เลือกผลประโยชน์ของชาติตนเป็นที่ตั้งเช่นกัน

สอดคล้องกับที่นักวิชาการหลายคนมองว่า สถานการณ์การขยายอิทธิพลของจีน-สหรัฐ เปรียบเหมือน หมากล้อม ที่แต่ละฝ่ายจะวางหมากของตัวเองล้อมพื้นที่ในกระดานให้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายล้อมพื้นที่ตัวเองได้เช่นกัน จึงต่างฝ่ายต่างต้องใช้กลยุทธ์ที่แยบยล สร้างความได้เปรียบเพื่อครองพื้นที่ให้มากที่สุด

จีนเริ่มสร้างการครอบครองพื้นที่ในทะเลจีนใต้ ลงหลักปักฐานสร้างเกาะเทียม ตั้งฐานทัพ วางกำลังทหาร ออกกฎต่างๆ ในการเอื้อต่อการคุ้มครองพื้นที่นั้นๆ นอกจากนั้นยังขยายอิทธิพล สร้างท่าเรือ ฐานทัพ ในพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ในแอฟริกา จนมีการประเมินว่าจีนสามารถวางหมากล้อมได้เกินกว่าครึ่งกระดานแล้ว ควบคู่ไปกับให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ให้กับประเทศกำลังพัฒนา

สหรัฐกำลังเร่งสปีดในการวาง หมากล้อม เพิ่มมากขึ้น  หรือ หาพวก จากพันธมิตรเก่า เพิ่มพันธมิตรใหม่ เพื่อต่อสู้ในเกมนี้ที่กำลังเข้มข้นมากขึ้นทุกวัน ภายใต้เครื่องมือของ “ไบเดน” จากพรรคเดโมแครค ที่ยึดแนวทางเรื่อง ประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชน เป็นนโยบายหลัก

องค์กรที่ขับเคลื่อนในประเด็นดังกล่าวทั่วโลกจึงเริ่มขยับตัว เดินเครื่อง และกำหนดประเด็นในการกดดันรัฐบาลประเทศของตน โดยมีทิศทางของรัฐบาลสหรัฐในปัจจุบันเป็นแรงเสริม  

ปรากฏการณ์ที่ แอมเนสตี้ไทย เรียกร้องให้ปล่อยนักกิจกรรมทางการเมืองที่แม้จะมีเจตนาช่วยเยาวชนที่มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวพันกับเรื่องที่ไกลไปกว่า ความยุติธรรม-เสรีภาพ ของบุคคล 

เมื่อมหาอำนาจที่กำลังเล่น “หมากล้อม” ดึงเบี้ยมาอยู่ในมือให้มากที่สุด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘บิ๊กโจ๊ก’ดิ้นสู้หัวชนฝา ยื้อแผน‘ฆ่าให้ตาย’

ความเคลื่อนไหวของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เที่ยวล่าสุด ถือเป็นการเขย่าวงการการเมือง ตำรวจ และองค์กรอิสระ

กองทัพโดดเดี่ยวในวงล้อม การเมืองไล่บี้ ผ่านปฏิรูป-แก้กม.

มีความเห็นและปฏิกิริยาทางการเมืองตามมา หลังมีการออกมาเปิดเผยจาก “จำนงค์ ไชยมงคล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกลาโหม (สุทิน คลังแสง) รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์” ที่เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภากลาโหมเมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา รับทราบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ...

'ทักษิณ-โจ๊ก'ย่ามใจ! จุดจบเส้นทาง'สีเทา'

ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีความเคลื่อนไหวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการพักโทษ เดินทางมาร่วมเทศกาลสงกรานต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) และ สส.ของพรรค ร่วมรับประทานอาหารกับนายทักษิณอย่างคึกคัก

7 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เผชิญแรงบีบรอบด้าน!

แม้จะยังไม่ผ่านโค้งแรกในการบริหารประเทศของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เริ่มต้นทำงานได้เพียง 7 เดือน แต่ก็เหมือนถูกบีบจากสถานการณ์รอบด้าน ที่เข้ามาท้าทายความสามารถของผู้นำประเทศ อีกทั้งยังมีภาพนายกฯ ทับซ้อนที่ทำให้นายกฯ นิดดูดร็อปลงไป

'ทักษิณ' เอฟเฟกต์! ส่อทำการเมืองไทยวนลูปเดิม

ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีประเด็นข่าวร้อนแรงมากมายแค่ไหน แต่มีบุคคลหนึ่งที่ถ้าอยู่ในหน้าข่าวเมื่อไหร่ มักจะสร้างประเด็นดรามาที่ต้องพูดถึงไม่หยุดกับพ่อใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร

สว.2567 เสี่ยงได้ วุฒิสภา สายพรรคการเมือง เชื่อมโยงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

เข้าสู่ช่วงเตรียมนับถอยหลังใกล้โบกมือลา สิ้นสุดการทำหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่