อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา เส้นทางชัด ลุ้นนายกฯ บนเป้าหมาย เพื่อไทย 310 เสียง

เห็นชัดว่าการเข้าสู่ถนนการเมืองของ เสี่ยนิด-เศรษฐา ทวีสิน จากนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พันล้าน ที่วันนี้เฟดตัวเองออกมาจากประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ชั่วคราว ด้วยการลางานแบบไม่รับเงินเดือน เพื่อมาลุยการเมืองเต็มตัวกับพรรคเพื่อไทย ที่ถึงตอนนี้ การขยับของเศรษฐาเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า

"ไม่ได้มาเล่นๆ แต่เอาจริง"

โดยเฉพาะกับการลุ้นเป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หลังเลือกตั้งหากเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แม้คนในเพื่อไทยส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าเต็งหนึ่งน่าจะเป็น อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ก็ตามที

โดยพบว่าแต่ละก้าวย่างการเมืองของเศรษฐา มีจังหวะขยับทีละสเต็ปที่ไม่ธรรมดา

ไล่ตั้งแต่การเปิดตัวครั้งแรกทางการเมืองกับเพื่อไทยเมื่อ 21 ม.ค.2566 ที่ถนนเยาวราช โดยเศรษฐาได้เดินเคียงคู่กับแพทองธาร ชินวัตร และแกนนำพรรคสาย กทม. รวมถึงว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต กทม.เพื่อไทยบางส่วน ในวันดังกล่าวที่อยู่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน อันถือเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันดีๆ ตามความเชื่อด้านโชคลาง ที่เศรษฐาได้ใส่เสื้อสีแดงเอาฤกษ์เอาชัย

แต่หลังจากนั้น ปรากฏว่าเศรษฐาก็หายไปจากจอเรดาร์ทางการเมืองหลายวัน โดยที่ระหว่างนั้นเพื่อไทยยกคณะครอบครัวเพื่อไทยและแกนนำพรรคเดินสายเปิดเวทีปราศรัยตั้งแต่เหนือจรดใต้ แต่ไร้เงาเศรษฐามาร่วมกิจกรรม

ยิ่งเมื่อเกิดกระแสข่าวแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทยชื่อที่ 3 อักษรย่อ "ส." ว่าจะเป็นนายกฯ ตัวจริง ที่ทักษิณ ชินวัตร จะดันให้เป็นนายกฯ หลังเลือกตั้งหากเพื่อไทยตั้งรัฐบาลสำเร็จแล้ว เศรษฐาหายไปในช่วงดังกล่าว ก็ทำเอาแวดวงการเมืองวิจารณ์กันขรม ทำนองว่า สงสัยดีลระหว่าง ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ กับ เสี่ยนิด เศรษฐา ไม่ลงตัว

เลยทำให้มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ความเคลื่อนไหวของเศรษฐากับเพื่อไทยหายไปดื้อๆ ผนวกกับช่วงดังกล่าวก็มีข่าวว่าแกนนำเพื่อไทยบางคนไปหาและพูดคุยกับทักษิณที่ต่างประเทศหลายครั้ง ทั้งที่เกาหลีใต้-ฮ่องกง-ดูไบ-สิงคโปร์ จนเกิดข่าวลือสะพัดหลายเรื่องถึงการวางหมากการเมืองของทักษิณ โดยเฉพาะ ดีลลับปรองดอง กับกลุ่มอีลิตการเมืองไทย และแม้แต่ดีลลับกับ ป่ารอยต่อฯ เพื่อจับมือกันตั้งรัฐบาล จนคนเพื่อไทยเช็กข่าวกันวุ่น เพื่อต้องการรู้ทิศทางการเมืองว่าทักษิณจะเอาอย่างไรกับการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม หลังความเคลื่อนไหวของเศรษฐากับเพื่อไทยหายเงียบไปได้พักใหญ่นานร่วมเดือน

แต่แล้ว วันที่ 1 มีนาคม เศรษฐาก็ได้เดินทางเข้าตึกที่ทำการพรรคเพื่อไทยแบบเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในฐานะ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งวันดังกล่าว พรรคเพื่อไทยได้มีการเผยแพร่เอกสารที่ลงชื่อโดยชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ตั้งเศรษฐาเป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่พบว่าจริงๆ มีการตั้งไว้ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. ก่อนที่จะให้เศรษฐามาเปิดตัวในอีกสามวันต่อมา คือ 1 มี.ค.

ต่อมาวันที่ 2 มี.ค.2566 ชลน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ โดยมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช​ แกนนำพรรคเพื่อไทย นักการเมืองคนสนิท-สายตรงทักษิณ และตระกูลชินวัตร เป็นประธาน ซึ่งกรรมการคนอื่นๆ ก็มีชื่อของเศรษฐา ทวีสิน รวมอยู่ด้วย

จากนั้นวันรุ่งขึ้น 3 มี.ค. เศรษฐา ทวีสิน ที่สวมหมวกการเมืองในเพื่อไทยทั้งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ รวมถึงว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย ก็เริ่มออกงานทางการเมือง โดยเริ่มงานแรกด้วยการไปที่อาคารหอการค้าไทย-จีน เพื่อไปพูดคุยกับณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีน และคณะ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจ การค้า

จากนั้นต่อมา 7 มี.ค.2566 เศรษฐาก็ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ที่มี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานกรรมการ นั่งหัวโต๊ะการประชุม

โดยที่ประชุมได้หารือถึงนโยบายเศรษฐกิจของพรรค พท.ที่ใช้สำหรับการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท นโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท นโยบายด้านการบริหารจัดการหนี้ของประชาชน นโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัล นโยบายเขตธุรกิจใหม่ นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ ซอฟต์เพาเวอร์ นโยบายด้านการเกษตรแบบครบวงจร เป็นต้น

หลังจากนั้นก็พบว่าเศรษฐาเริ่มเดินเครื่องการเมืองหนักขึ้นเรื่อยๆ หลังอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ต้องลดการลงพื้นที่หาเสียงและการทำกิจกรรมการเมืองลงเพื่อเตรียมคลอดลูก โดยเริ่มด้วยการลงพื้นที่หาเสียงเพื่อช่วยผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขต กทม.เพื่อไทย ประเดิมนัดแรกเมื่อ 8 มี.ค. ที่พื้นที่เลือกตั้งเขตคลองเตย

และเมื่อตัดสินใจเข้าสู่การเมืองเต็มตัว ทำให้เศรษฐาต้องตัดสินใจแยกบทบาทของตัวเองทางการเมืองกับธุรกิจที่บริหารและมีหุ้นอยู่ในบริษัท แสนสิริ

จึงทำให้เป็นไปอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ "เศรษฐา" ปลดล็อกตัวเองออกจากธุรกิจบริษัท แสนสิริ ด้วยการขยับสองเรื่องสำคัญในเวลา-วันเดียวกัน คือวันที่ 9 มี.ค.

ทั้งการ ลางานชั่วคราวจากบริษัท แสนสิริ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน โดยเศรษฐาระบุว่า “เพื่อแสดงความตั้งใจจริง วันนี้ผมได้ลางานชั่วคราวโดยไม่รับค่าตอบแทน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยได้เต็มที่”

และวันเดียวกัน เศรษฐาได้แจ้งข้อมูลรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของผู้บริหารต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2566 ได้ดำเนินการโอนหุ้นจำนวน 661,002,734 หุ้น ให้กับ น.ส.ชนัญดา ทวีสิน บุตรสาวผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว โดยเป็นการโอนให้โดยเสน่หา ไม่มีค่าตอบแทน และระบุราคาหุ้นว่า 0 บาท

อีกทั้งวันที่ 9 มี.ค. เศรษฐาก็ได้ไปร่วมประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทยพร้อมกับอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร

และวันรุ่งขึ้น 10 มี.ค. เศรษฐาก็ยกคณะไปยังทุ่งนาและพูดคุยกับชาวนา เกษตรกร ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อรับฟังปัญหาเกษตรกรในด้านต่างๆ

จากนั้นตามไปด้วยการลงพื้นที่และขึ้นเวทีปราศรัยการเมืองของพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง พิจิตร-พิษณุโลก ร่วมกับอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ในช่วงวันที่ 11-12 มี.ค.

ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวสำคัญๆ ในช่วงที่ผ่านมาของเศรษฐา ทวีสิน ที่แต่ละก้าวย่างแสดงให้เห็นว่า เศรษฐาพร้อมแล้วสำหรับการเป็นตัวเลือก-ตัวจริงให้กับทักษิณและเพื่อไทย ในการชิงแคนดิเดตนายกฯ หลังเลือกตั้งหากเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แต่สุดท้ายจะใช่หรือไม่ยังไง ต้องรอดูอีกหลายองค์ประกอบ เช่นต้องดูว่าแล้วชื่อที่ 3 แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย จะชื่ออะไร จะมีอะไรเซอร์ไพรส์หรือไม่?

เพราะไม่แน่ ชื่อดังกล่าวอาจเป็นไพ่ใบสำคัญที่ทักษิณรอจะทิ้งออกมา และอาจเป็นชื่อที่ทักษิณ จะวางตัวให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ตัวจริงหลังเลือกตั้งก็ได้ อันนี้ต้องรอติดตามต่อไป

เช่นเดียวกับกรณี ชลน่าน-หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศว่า เป้าหมายการเลือกตั้งของเพื่อไทยขยับจาก 250 เสียงที่ทำได้แน่นอนแล้ว ไปเป็น 310 เสียง ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ จนเรียกเสียงฮือฮาไปทั่วว่า หัวหน้าพรรคเพื่อไทยฝันกลางวันหรือไม่?

เพราะลำพังเป้าหมายได้ ส.ส.หลังเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่ง 250 เสียง หลายพรรคการเมืองก็ยังมองว่า แม้มีโอกาสสูงที่เพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ยากไม่น้อยที่จะได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง หรือต่อให้เกินจริงๆ ให้เต็มที่ก็ไม่น่าจะเกิน 270-280 เสียง แต่การที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยประกาศจะดันให้เพื่อไทยได้ถึง 310 เสียง ก็คงเพื่อให้เกิดความชัวร์ว่า หากทำได้ตามเป้าดังกล่าว เพื่อไทยจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จะได้ไม่ต้องห่วงเรื่องเสียงสมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว.มาโหวตเลือกนายกฯ

ที่ก็คงเป็นหลักคิดทำนองว่า หากเพื่อไทยทำได้ถึง 310 เสียง แล้วก็ไปดึงพรรคการเมืองอีกสัก 2-3 พรรคในปีกฝ่ายค้านปัจจุบัน เช่น ก้าวไกล ประชาชาติ เสรีรวมไทย ที่กลุ่มนี้อาจจะมี ส.ส.เข้าสภาจำนวนหนึ่ง ก็น่าจะเกิน 376 เสียง หรือเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ทำให้สามารถโหวตเลือกนายกฯ จากเพื่อไทยได้ จะได้ไม่ต้องห่วงเสียง ส.ว. อันเป็นการตั้งเป้าทางยุทธศาสตร์

ทว่าในความเป็นจริง แวดวงการเมือง รวมถึงคนในเพื่อไทยเอง ก็คงไม่มีใครเชื่อหรือมั่นใจว่าเพื่อไทยจะได้เกิน 300 เสียง โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าได้เกิน 260 เสียง แล้วรวมเสียงพรรคฝ่ายค้านปัจจุบัน รวมไปถึงดึงพรรคอื่นๆ เช่น ชาติไทยพัฒนา ไทยสร้างชาติ มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็น่าจะเกิน 300 เสียง ที่เพียงพอแล้วในการจัดตั้งรัฐบาล ที่จะทำให้ ส.ว.ก็ไม่กล้าโหวตสกัดนายกฯ จากเพื่อไทย 

แต่ที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยประกาศดังกล่าว คงเป็นเรื่องของการสร้างความฮึกเหิมทางการเมืองให้กับคนในพรรค ส่วนจะทำได้หรือไม่ได้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไปรอวัดกันในสนามเลือกตั้งต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ร่วมผู้นำ 17 ประเทศ แถลงเรียกร้องปล่อยตัวประกันในกาซา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "วันนี้ ผมร่วมกับผู้นำ 17 ประเทศที่มีตัวประกันที่ยังอยู่ในกาซา ออกถ้อยแถลงร่วมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมด

รัฐบาลตีปี๊บ ประกวด 'ข้าวหอมมะลิไทย' ช่วยยกคุณภาพชีวิตเกษตรกร

รัฐบาลหนุนเกษตรกรและโรงสี จัดประกวดข้าวหอมมะลิไทยปี 2566 เฟ้นหาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยคุณภาพชั้นเลิศ พร้อมขยายช่องทางการจำหน่าย

ดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด'พรบ.ธ.ก.ส.' แจกเงินหมื่น‘ลูกผีลูกคน’อีกแล้ว

ภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง นำทีมหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบหลักการ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

คณะก้าวหน้า-ธนาธรปักธง "สว.สีส้ม" แชร์เก้าอี้สภาสูง

การเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม วาระสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือ การได้มาซึ่ง วุฒิสภา-สภาสูง ชุดใหม่ ที่จะมาแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่