ทีดีอาร์ไอตีแสกหน้า นโยบายหาเสียงพรรคการเมือง

พบว่าเวลานี้หลายพรรคการเมืองเร่งนำเสนอนโยบายพรรคในการหาเสียงกันมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา แถลงเปิด 8 นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ชุดที่ 2 เพิ่มเติม อาทิ อินเทอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุด ทุกหมู่บ้าน ทุกห้องเรียน ชมรมผู้สูงอายุรับ 30,000 บาท ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน ตั้งกองทุน 3 แสนล้านบาท เพื่อให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน แหล่งทุนเพื่อนำมาขยายกิจการ ต่อลมหายใจ เป็นต้น

ขณะที่ พรรคเพื่อไทย ที่กำลังปั่นกระแส 310 เสียง-แลนด์สไลด์ อย่างหนัก นัดหมายเปิดนโยบายชุดใหญ่ไฟกะพริบ วันศุกร์ที่ 17 มี.ค.นี้ ที่แกนนำพรรคบอก เปิดมาเมื่อไหร่รับรองฮือฮากันหมด เพราะกินขาดทุกพรรคการเมือง!

และหลังจากนี้ เห็นทิศทางมาแต่ไกล การแข่งขันนำเสนอนโยบายของพรรคการเมือง-แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองต่างๆ จะเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนอาจได้เห็นการเกทับบลัฟแหลก ระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ กันมากขึ้น

ความเห็นจากนักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ตอนนี้กำลังติดตามการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ จนมีการออกข้อเสนอแนะพรรคการเมืองต่อการจัดทำนโยบายในด้านต่างๆ ออกมา 2-3 ครั้ง เช่น ข้อเสนอสำหรับพรรคการเมืองต่อ 4 นโยบายเศรษฐกิจในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 เป็นต้น

โดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ภาพรวมชัดเจนว่าพรรคการเมืองทุกพรรคต้องการเป็นรัฐบาล ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ดูแล้วมีการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง โดยพรรคการเมืองขณะนี้มองแล้วคล้ายมีอยู่ 2 ขั้ว อาจจะเรียกว่าเป็นอนุรักษนิยมและขั้วที่ต้องการประชาธิปไตย

“เพราะฉะนั้นการแข่งขันก็เริ่มจากการกวาดต้อนนักการเมืองให้เข้ามาสังกัดในพรรคของตัวเอง ทุกวันนี้มีการแข่งขันที่รุนแรงมาก มีการซื้อตัวกันเกิดขึ้น นโยบายแข่งขันที่รุนแรงค่อนข้างมาก”

นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า จากการเก็บข้อมูลเมื่อสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา แม้ว่าหลายพรรคการเมืองจะยังไม่มีการแถลงนโยบาย โดยได้มีการเก็บข้อมูล 76 นโยบาย ยาก 8 พรรค พบว่า ในจำนวน 50 นโยบาย ต้องใช้งบประมาณมหาศาล เรากำลังคำนวณดูว่า หากสมมุติว่ามีพรรคการเมือง เช่น พรรค ก. พรรค ข. พรรค ค. พรรค ง. ร่วมกันเป็นรัฐบาลแล้ว จะต้องใช้เงินงบประมาณเท่าไหร่ แต่เข้าใจว่าต้องใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท เยอะมาก และจะเกินกำลังของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งมีแค่ 3 ล้านล้านบาท

..ยกตัวอย่างเช่น นโยบายที่จะให้เงินกับผู้สูงอายุหรือเบี้ยคนชรา ปัจจุบันใช้เงินอยู่ประมาณ 90,000 ล้านบาท หากทำตามนโยบายที่บางพรรคการเมืองได้หาเสียง จะต้องใช้วงเงินเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 400,000 ล้านบาท จะทำให้เห็นว่าจากนโยบายดังกล่าวนี้กำลังความสามารถของบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เป็นงบหลักจะไม่เพียงพอ จะเป็นภาระทำให้จะต้องมีการกู้เงิน ต้องใช้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐแน่นอน หรือไม่ก็ต้องกู้เงิน เพราะไม่มีใครบอกเลยว่า จะให้มีการขึ้นภาษี เมื่อกู้เงินแล้วแน่นอนจะกลายเป็นภาระของลูกหลานในอนาคต พูดง่ายๆ คุณกำลังหาเสียงวันนี้ โดยนำเงินในวันหน้าที่ลูกหลานของเราจะต้องทำมาหากิน มาใช้ในการหาเสียงเพื่อจะได้เป็นรัฐบาล อันนี้คือปัญหาที่น่ากลัว โดยที่พบว่ายังไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่า แล้วจะหาเงินจากที่ไหนมาทำนโยบายต่างๆ เหล่านี้ จะเพียงพอหรือไม่โดยไม่สร้างความเดือดร้อน

ขณะที่นโยบายอย่างเรื่อง เงินบำนาญผู้สูงอายุ ที่ตอนนี้หลายพรรคเริ่มนำเสนอนโยบายดังกล่าวมากขึ้น โดยบางพรรคบอกว่าจะให้เป็นรายเดือน เดือนละ 3,000 บาท ดร.นิพนธ์ มองว่า หากเราดูนโยบายดังกล่าวเพียงนโยบายเดียว โดยไม่ดูนโยบายอื่น ก็อาจมีงบประมาณไปทำได้ แต่คุณไม่ได้หาเสียงด้วยนโยบายดังกล่าวเพียงนโยบายเดียว แล้วเวลามาเป็นรัฐบาล ก็ไม่ได้เป็นพรรคเดียวที่ตั้งรัฐบาล แต่เป็นรัฐบาลผสม ที่ทำให้ต้องนำนโยบายของทุกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลมารวมกัน ที่ต่างคนต่างก็ใช้เงินงบประมาณในการทำ แล้วจะต้องใช้งบประมาณเท่าใด อันนี้คือปัญหา

...ผมยกตัวอย่างก็ได้ ในรัฐบาลปัจจุบันที่เป็นรัฐบาลผสม มีพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ร่วมเป็นรัฐบาล ทางพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าหาเสียงเข้ามาได้ด้วยนโยบายประกันรายได้ให้เกษตรกร พลังประชารัฐบอกว่าหาเสียงมาได้ด้วยนโยบายช่วยเหลือต้นทุนไร่ละ 1,000 บาท ผลก็เลยทำให้ทั้ง 2 นโยบายที่ซ้ำซ้อนกัน ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ซ้ำซ้อนกัน แต่ต่างก็บอกว่าเป็นเรื่องที่พรรคตัวเองหาเสียงเข้ามา เรื่องแบบนี้จริงๆ ไม่ควรจะเกิดขึ้น ที่เชื่อได้ว่าในระบบปัจจุบันมันจะเกิด อันนี้คือปัญหา ประเด็นคือว่าจะทำได้หรือทำไม่ได้ แต่ประเด็นคือ เมื่อทำแล้วมันสร้างความเสียหายแค่ไหน

ส่วนเมื่อถามถึงว่า บางพรรคประกาศนโยบายเรื่องบัตรสวัสดิการต่างๆ เช่น บางพรรคจะให้ 700 บาทต่อเดือน มองว่าทำได้หรือไม่ ดร.นิพนธ์ ให้มุมมองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าทำได้หรือทำไม่ได้ แต่อยู่ที่ชุดนโยบาย อย่างเรื่องบัตรสวัสดิการ เรามีสวัสดิการคนชรา และยังมีสวัสดิการเรียนหนังสือ สวัสดิการเรื่องเด็ก เรามีสวัสดิการเยอะไปหมด สิ่งสำคัญคือจะต้องจัดลำดับความสำคัญของสวัสดิการ-บัตรสวัสดิการเหล่านี้ ว่ากลุ่มไหนสำคัญที่สุด แล้วจะนำเงินจากที่ไหนมาใช้ เช่น ภาษี VAT ตอนนี้เก็บ 7 เปอร์เซ็นต์ หากจะขึ้นอีก 3 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำมาใช้หรือไม่ ขอให้ช่วยบอกเราที ช่วยบอกประชาชนด้วย จะนำเงินจากตรงไหนมาใช้ แล้วใช้ในส่วนไหนก่อน ผมบอกแล้วว่า การหาเสียงเป็นเรื่องง่าย แต่การทำชุดนโยบายที่ทำให้ประชาชนมีความหวังมันยาก แต่พรรคการเมืองควรจะทำ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ ยังไม่พบว่าจะมีพรรคการเมืองพรรคใดกล้าพูดเลยว่า จะขึ้นภาษีหรือไม่ หากไม่กู้เงิน เพราะการกู้เงินคือการโยนภาระให้ลูกหลาน แต่การขึ้นภาษี คือการโยนภาระให้รุ่นปัจจุบัน แต่ทำไมพรรคการเมืองไม่กล้าพูด

 และเมื่อถามถึงกรณีบางพรรคการเมืองหาเสียงไว้ว่าจะให้มีค่าจ้างขั้นต่ำวันละไม่ต่ำกว่า 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าเศรษฐกิจโตปีละ 5% มองอย่างไร ดร.นิพนธ์ จากทีดีอาร์ไอ มีทัศนะว่า เข้าใจว่าเป็นการส่งสัญญาณที่บางพรรคบอกว่าจะขึ้นทันที แต่บางพรรคบอกว่ายังไม่ขึ้น แต่ผมก็คิดว่า อย่าไปวางเงื่อนไข การไปวางเงื่อนไขว่า เศรษฐกิจต้องโตปีละกี่เปอร์เซ็นต์ โดยเงื่อนไขที่บอกว่า เศรษฐกิจต้องโตที่ปีละ 5% เป็นเรื่องที่ลำบากมาก เนื่องจากประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถามว่าโตถึง 5% หรือไม่ เพราะฉะนั้นพูดแบบนี้แสดงว่าจะไม่ทำ จึงไม่ควรวางเงื่อนไขแบบนั้น แต่ต้องกลับไปกำหนดเป็นชุดนโยบายว่า จะส่งสัญญาณว่าจะค่อยๆ ปรับขึ้น และประเทศไทยค่าแรงขั้นต่ำจะต้องสูงขึ้น ลดการใช้แรงงานต่างด้าว แต่ต้องเพิ่มทักษะของคน สิ่งที่ดีที่สุดคือ การเพิ่มทักษะของคนให้สูงขึ้นแล้วค่าจ้างก็จะสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เรายังไม่มีนโยบายดังกล่าว คือนโยบายให้เบ็ดตกปลา ไม่ใช่นโยบายให้ปลา

ถือเป็นทัศนะในมุมวิชาการ ที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนควรต้องรับฟังในการติดตามการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองในช่วงการเลือกตั้งเวลานี้ เพื่อที่จะได้ไม่ถูกนักการเมือง-พรรคการเมือง โฆษณาชวนเชื่อ พูดแล้วไม่ทำ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในการเมืองไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด'พรบ.ธ.ก.ส.' แจกเงินหมื่น‘ลูกผีลูกคน’อีกแล้ว

ภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง นำทีมหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบหลักการ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

คณะก้าวหน้า-ธนาธรปักธง "สว.สีส้ม" แชร์เก้าอี้สภาสูง

การเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม วาระสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือ การได้มาซึ่ง วุฒิสภา-สภาสูง ชุดใหม่ ที่จะมาแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่

ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา

‘บิ๊กโจ๊ก’ดิ้นสู้หัวชนฝา ยื้อแผน‘ฆ่าให้ตาย’

ความเคลื่อนไหวของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เที่ยวล่าสุด ถือเป็นการเขย่าวงการการเมือง ตำรวจ และองค์กรอิสระ

'อนุทิน' การันตี ภท. ไม่ปรับ ครม. ชี้ 8 รมต. ทำงานคืบหน้า

'อนุทิน' ย้ำรัฐมนตรีภูมิใจไทย 8 คน ไม่มีขยับ ชี้ทุกคนทำงานเต็มที่ผลักดันนโยบายคืบหน้าตลอด นายกฯ ยังไม่ส่งสัญญาณปรับ ครม. พร้อมอุ้ม 'เกรียง' มอบ พช. ดูแลเพิ่มอีกกรม