นับถอยหลังยุบสภาฯ คิกออฟเลือกตั้ง พ.ค.66

ในช่วง 3 วันแรกของสัปดาห์นี้ คือ 20-22 มีนาคม แวดวงการเมืองและคนไทยทั้งประเทศจะเฝ้าติดตามกันว่า สุดท้ายแล้ว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะตัดสินใจประกาศพระราชกฤษฎีกา ยุบสภาฯ วันใด?

แต่ส่วนใหญ่พบว่ายังเทน้ำหนักเชื่อกันว่า วันที่ 20 มี.ค. พลเอกประยุทธ์อาจจะออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเพื่อประกาศ ยุบสภาฯ แต่พอหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ออกมาอ้างว่าได้ยินข่าวจากคนระดับรัฐมนตรีในรัฐบาลบอกว่า ครม.จะประชุมนัดสุดท้ายอีกครั้ง 21 มี.ค. จากนั้นอาจจะยุบสภาฯ วันที่ 21 มี.ค.ตอนเย็น หรือวันพุธที่ 22 มี.ค.

เลยทำให้ผู้คนเริ่มไขว้เขวตามมา เพราะล่าสุดพรรคเพื่อไทยเพิ่งได้ 2 อดีตรัฐมนตรีไปเข้าพรรค คือ สมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.ยุติธรรม กับสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.อุตสาหกรรม เลยทำให้คนคิดกันไปว่า สงสัยหมอชลน่านได้ข่าวดังกล่าวมาจากสมศักดิ์-สุริยะ

อย่างไรก็ตาม การยุบสภาฯ จะเกิดขึ้นภายในช่วง 3 วันนี้ 20-22 มี.ค. ทำให้ตอนนี้จึงอยู่ในช่วง

นับถอยหลังยุบสภาฯ

หลังประตูที่จะนำไปสู่การยุบสภาฯ และการจัดการเลือกตั้งได้ถูกเปิดออกอย่างเป็นทางการ เพราะขณะนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกประกาศ 

การแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตทั่วประเทศ

ที่ได้มีการเผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อช่วงค่ำวันศุกร์ที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา

จึงทำให้โหมดการเมืองนับจากนี้จึงเข้าสู่ช่วงนับถอยหลังรอยุบสภาฯ อย่างแท้จริง ซึ่งต้องดูกันว่า วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม พลเอกประยุทธ์จะประกาศ ยุบสภาฯ อย่างที่มีกระแสข่าวหรือไม่

สำหรับบทบัญญัติที่สำคัญตามรัฐธรรมนูญในเรื่องกระบวนการยุบสภาฯ อยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 103 ที่ระบุว่า

“ภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวัน แต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ”

ซึ่งหมายถึง หากพลเอกประยุทธ์ยุบสภาฯ โดยให้มีผลตั้งแต่ 20 มี.ค. ทาง กกต.ต้องนัดประชุมภายในไม่เกินวันเสาร์ที่ 26 มี.ค. เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง ที่ก็น่าจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.

กระนั้นประเมินได้ว่า ถ้าพลเอกประยุทธ์ยุบสภาฯ 20 มี.ค. ทาง กกต.ก็คงนัดประชุมโดยเร็ว เช่น อาจประชุมวันรุ่งขึ้น 21 มี.ค. เพื่อลงมติประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทันที คงไม่ใช้เวลานานอะไร เพราะการยุบสภาฯ ครั้งนี้ไม่ใช่การยุบสภาฯ กะทันหัน การเตรียมการเลือกตั้งทุกอย่างทางสำนักงาน กกต.เตรียมไว้หมดแล้ว ซึ่งหากยุบสภาฯ 20 มี.ค. คาดว่า กกต.จะประกาศให้วันที่ 3-7 เม.ย.เป็นช่วงการรับสมัครผู้ลงสมัคร ส.ส.ระบบเขต และช่วง 4-7 เม.ย. เป็นช่วงการเปิดรับสมัครผู้ลงสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ แต่หากยุบช่วง 21-22 มี.ค. ปฏิทินข้างต้นก็อาจมีขยับออกไปบ้าง

อย่างไรก็ตาม ก็มีสถานการณ์แทรกซ้อนที่ต้องจับตา นั่นก็คือ ควันหลงที่ยังมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จากหลายพรรคการเมืองของหลายจังหวัด ไม่พอใจการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. จนจะมีการไปร้องต่อศาลปกครองในพื้นที่ต่างๆ

 แต่พบว่าที่มีการเทกแอกชันแบบจริงจังก็คือ การเคลื่อนไหวของ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ที่ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง​เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขอให้ศาลปกครองกลางพิจารณาวิธีการชั่วคราวโดยเร่งด่วน เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.

อรรถวิชช์ ให้เหตุผลในการยื่นคำร้องดังกล่าวว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานครของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมายและประกาศ กกต.ที่เกี่ยวข้อง โดยยกตัวอย่างว่า จาก 33 เขตเลือกตั้ง กทม.พบว่า มี  13 เขตเลือกตั้ง ที่เอาแขวงของหลายเขตมารวมกันโดยไม่มีเขต หลักเหมือนกับต้องการละลายเขตเลือกตั้งให้ไม่เหมือนเดิม ซึ่งตามหลักแล้วต้อง รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ด้วยวิธีการคือ นำอำเภอหลักเป็นตัวตั้ง แล้วนำจำนวน ส.ส.ต่อราษฎรมาคำนวณ ถ้าเขตไหนคนเยอะ ก็จะตัดบางตำบลออกไป หรือถ้าเขตไหนคนน้อย ก็จะนำเอาตำบลอื่นจากอำเภออื่นมาเพิ่ม แต่ครั้งนี้ใช้วิธีแบ่งเขตที่รวมเฉพาะแขวงโดยไม่มีเขตหลักถึง 13 เขตเลือกตั้ง โดยมีแค่ 4 เขตเท่านั้นที่แบ่งเหมือนเดิม อันเป็นการแบ่งเขตที่มองว่ากระทบสิทธิประชาชน ทำให้เกิดความสับสนในการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

ต้องติดตามต่อไป ศาลปกครองกลางจะว่าอย่างไร จะรับคำร้องไว้พิจารณาและมีการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ แต่ยังไงก็คงไม่ทันกับการยุบสภาฯ ที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อจากนี้

แต่หากหลังจากนั้น ศาลปกครองมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาและมีการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดเลือกตั้งได้ แต่หากรับคำร้อง แต่ไม่มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว กกต.ก็เดินหน้าต่อไป ทว่า กกต.ก็เชื่อมั่นว่า งานนี้ไม่มีสะดุด ไม่โดนล้มกระดาน เพราะแบ่งเขตถูกต้อง

กระนั้นจับสุ้มเสียงทางการเมืองได้ว่า มีการวิจารณ์ว่า กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งรอบนี้เพื่อเอื้อบางพรรคการเมืองใช่หรือไม่

 ซึ่งพรรคที่ตกเป็นเป้ามากที่สุดคงไม่พ้น รวมไทยสร้างชาติ ที่ชูพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ หลังก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ถูกวิจารณ์ว่าจะยื้อการยุบสภาฯ ให้นานที่สุดเพื่อรอให้รวมไทยสร้างชาติมีความพร้อมก่อน ถึงค่อยยุบสภาฯ 

ซึ่งหากดูจากสภาพความเป็นจริง กว่า กกต.จะประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตได้ก็ปาเข้าไปช่วงดึกวันศุกร์ที่ 17 มี.ค. ดังนั้นหากพลเอกประยุทธ์จะยุบสภาฯ วันที่ 20 มี.ค. หรือช้าสุด วันที่ 22 มี.ค. ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นการยื้ออะไร เพราะการจะยุบสภาฯ เพื่อให้มีการเลือกตั้งได้ ต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งจาก กกต.

เพราะเลือกตั้งรอบนี้มีเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นมา 50 เขต จากตอนเลือกตั้งปี 2562 เพราะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง จึงทำให้เขตเลือกตั้งเพิ่มจากเดิม 350 เขต เป็น 400 เขต ส่งผลให้ ทาง กกต.ต้องไปจัดการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ จนเป็นที่มาของความล่าช้าในการแบ่งเขตเลือกตั้ง รวมถึงการยุบสภาฯ ตามมา

 อย่างไรก็ดี ในส่วนของรวมไทยสร้างชาติ ถึงตอนนี้มีความพร้อมในการเลือกตั้งเต็มที่ โดยรวมไทยสร้างชาติได้นัดหมายเปิดตัวผู้ลงสมัคร ส.ส.ระบบเขตทั่วประเทศ 400 เขต วันเสาร์ที่ 25 มี.ค.นี้ ส่วนการปราศรัยใหญ่นัดแรกอย่างเป็นทางการ หลังยุบสภาฯ คือ วันอาทิตย์ที่ 2 เม.ย.

โดยเมื่อมีการยุบสภาฯ และเข้าสู่ช่วงเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ความเข้มข้นในการหาเสียงจะมีมากกว่าช่วงที่ผ่านมาหลายเท่า แต่การเลือกตั้งจะมีเหตุให้สะดุดหรือไม่ หากศาลปกครองชี้ว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ละพรรคการเมืองก็ลุ้นกันไประหว่างลุยหาเสียงเลือกตั้ง.   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง