"ยกเลิกเกณฑ์ทหาร" เทียบข้อมูลและปฏิกิริยากองทัพ

การตรวจเลือกทหารประจำปีนี้เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ชูนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารอยู่หลายพรรค โดยมีข้อเสนอในรายละเอียดที่แตกต่างกันไป จากข้อมูลในเว็บไซต์คมชัดลึก เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้สรุปข้อมูลว่า

พรรคเพื่อไทย เสนอยกเลิกการบังคับเกณฑ์ให้เป็นไปโดยสมัครใจทันที โดยการเปิดกว้างให้การสมัครทหารออนไลน์และไม่กำหนดเป้าหมายการรับ และปรับลดงบประมาณกลาโหมลง 10% เพื่อนำไปใช้ตั้งกองทุนสนับสนุนธุรกิจคนรุ่นใหม่ เพื่อให้งบประมาณที่ใช้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริง

พรรคไทยสร้างไทย สนับสนุนให้ยกเลิกการจับใบดำใบแดง เพื่อเปลี่ยนให้เป็นระบบสมัครใจ โดยทุกเหล่าทัพมีทหารเกณฑ์รวมกันประมาณ 100,000 คน ในจำนวนนี้อาสาเข้ามาเป็นทหารประมาณ 5 หมื่นคน และจับได้ใบแดงอีก 5 หมื่นคน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าความต้องการจริง จึงเห็นภาพพลทหารไปรับใช้ตามบ้านผู้บังคับบัญชา ซึ่งใช้งานผิดประเภท และเกินความจำเป็น

พรรคก้าวไกล เสนอยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้ใช้ระบบสมัครใจร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยประกาศว่า เดือน เม.ย.นี้จะมีการเกณฑ์ทหารครั้งสุดท้าย เพราะนโยบายของพรรคทำให้เกิดผลการปฏิบัติได้ด้วยการแก้ไขกฎหมาย

โดยมีผู้สมัครและแกนนำพรรคไปรณรงค์ทำกิจกรรมถึงหน่วยตรวจเลือก ตอกย้ำเป็นนโยบายลำดับต้นๆ ที่พรรคได้ปักธงในเรื่องนี้ และหากย้อนกลับไปดูข้อมูลในเว็บไซต์ของ Moveforwardparty ซึ่งเขียนโดย เดชรัตน์ สุขกำเนิด เมื่อเดือน มิ.ย.2565 ได้ไล่เรียงกรอบงบประมาณรายจ่ายบุคลากรของกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแนวทางหนึ่งที่สามารถลดกำลังพลและลดรายจ่ายบุคลากรลงคือ การลดจำนวนทหารเกณฑ์ลง เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีการเกณฑ์ทหารปีละประมาณ 100,000 คน (ล่าสุดในปี 2564 มีการเกณฑ์ทหาร 97,558 คน/ปี) ขณะเดียวกัน ข้อมูลทหารกองประจำการ (หรือทหารเกณฑ์) ทั้งหมดในปี 2563 คือ 134,618 คน 

ทั้งนี้ พบว่า เมื่อทหารเกณฑ์แต่ละคนเริ่มเข้ารับราชการจะได้รับค่าตอบแทน 9,904 บาท/เดือน แบ่งเป็นเงินเดือน 1,630 บาท, เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวคนละ 5,394 บาท และเบี้ยเลี้ยงวันละ 96 บาท (2,880 บาท/เดือน) ทั้งนี้ ไม่รวมถึงทหารเกณฑ์ในหน่วยที่ปฏิบัติงานราชการสนามตามแนวชายแดน เช่น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้รับเงินเพิ่มเติม ประกอบด้วย เบี้ยเลี้ยงสนามวันละ 104 บาท/คน (เดือนละ 3,120 บาท) ค่าเลี้ยงดูวันละ 6 บาท/คน ซึ่งเป็นส่วนเพิ่มของเบี้ยเลี้ยง (เดือนละ 180 บาท) เบี้ยเสี่ยงภัยเดือนละ 2,500 บาท

โดยบทความดังกล่าว ใช้การคำนวณโดยการนำตัวเลขขั้นต่ำ 9,904 บาท/เดือน มาคูณกับ 134,618 คน ทำให้สรุปว่างบประมาณที่ต้องใช้สำหรับทหารกองประจำการสูงถึง 16,000 ล้านบาท/ปี (โดยยังไม่มีข้อมูลจากกองทัพมาเทียบเคียง)

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ว่า แนวทางยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชายไทยที่ครบเกณฑ์เข้ารับการตรวจเลือก เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ต้องการเสียโอกาสในการทำงาน การสร้างรายได้ และการดูแลครอบครัว

เขาเชื่อว่าในความเป็นจริง ตัวเลขทหารเกณฑ์ที่เหมาะสมกับไทยเมื่อเทียบจากประเทศที่ขนาดใกล้เคียงกัน และดูจากภารกิจและภัยคุกคามที่มีอยู่จริง น่าจะมีทหารกองประจำการแค่ 5 หมื่น ถ้ามีคนสมัครเข้ามาเป็นไม่ครบก็ให้เลื่อนปลดในผัดที่ประจำการออกไปก่อน ซึ่งเชื่อว่าสามารถทำได้จริง โดยต้องแก้ไขกฎหมายที่สามารถทำได้เลยใน 1 ปี และงบประมาณก้อนนี้จะใช้ในการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในรูปของโครงการรัฐสวัสดิการต่างๆ ตอบโจทย์นโยบายของพรรคที่ป่าวประกาศว่า มีที่มาเงินจริงที่จะนำไปใช้ ไม่ใช่การขายฝัน
ก่อนหน้านี้ “กระทรวงกลาโหม” เคยชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นในการเกณฑ์ทหารที่ยังต้องเดินหน้าต่อไป แต่ก็พร้อมปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคง และ ความเป็นจริงของสังคม

 ทำให้ข่าวในทำนอง พลทหารเลี้ยงไก่ ซักกางเกงในคุณนาย ล้างรถ เสิร์ฟเหล้า ทำกับข้าว ลดน้อยลงไปจากที่เคยติดเทรนด์ข่าวยอดนิยมก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “งาน” ของพลทหารรับใช้ หรือที่เรียกว่าพลทหารบริการในลักษณะดังกล่าวจะหมดไป เพียงแต่กองทัพถูกจับตามองมากขึ้น ตีกรอบให้การปฏิบัติต้องอยู่ในกรอบของความเหมาะสม แต่ก็อยู่ภายใต้แนวคิดเดิมในเรื่องของการฝึกวินัย การปลูกฝังแนวคิดตามแบบฉบับของทหาร และจิตสาธารณะเรื่องงานบริการที่เริ่มจากองค์กรหลักของชาติ

เหตุผลอีกประการคือ ยกเลิกการเกณฑ์ทหารนั้น คงทำไม่ได้ในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากความต้องการ (จำนวน) กับผู้ที่สมัครจริงนั้น ยังไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือ ผู้ที่สมัครยังมีจำนวนน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการจับ “ใบดำ-ใบแดง” คงต้องใช้ต่อไปอีกระยะ แต่กองทัพก็เคยแถลงว่า ยอดความต้องการของทหารกองประจำการนั้นจะลดลงเรื่อยๆ ที่ล้อไปกับแผนปฏิรูปกองทัพ ลดกำลังพลที่วางไว้อยู่แล้ว

กองทัพก็ทำอยู่แล้วและคิดไม่ต่างจากพรรคการเมืองว่าก็ต้องปรับตัว แต่เมื่อเป็นฤดูของการหาเสียงเลือกตั้งก็ต้องวาดภาพให้เห็นว่าสิ่งที่ทำมีผลอย่างไร โจทย์จึงถูกโยนว่ากองทัพหวงอำนาจ ไม่ยอมคายผลประโยชน์หรือเปล่า ถึงเดินไปไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงแนวทางทหารแบบสมัครใจกองทัพทำมาตั้งแต่ปี 2546-2547 แต่ทำได้ตามเป้าบ้าง ทำไม่ได้บ้าง บางปีต้องการมากน้อยเป็นไปตามภารกิจในช่วงนั้น ทั้งมีการเพิ่มหน่วย ลดหน่วย ซึ่งฝ่ายอำนวยการเขาจะเป็นคนประเมินตรงนี้ด้วย จากนั้นจึงเป็นนโยบายของผู้บังคับบัญชาด้วย แต่ในอดีตเคยมีการทำแผนเหมือนกัน ประมาณว่า ถ้าภัยคุกคาม หรือภาระงานอยู่ในระดับต่ำ เมื่อถึงปี 2571-2572 จะเหลือยอดทหารกองประจำการแค่ประมาณ 3 หมื่นคน สอดคล้องกับแผนปฏิรูปกองทัพ ลดกำลังพล แต่นั่นก็ต้องดูปัจจัยอื่นที่เป็นตัวแปรด้วย อย่างภัยพิบัติที่ต้องใช้คน จะมีหน่วยงานอื่นที่จะจัดขึ้นในภารกิจนี้เพื่อรับมือโดยตรงหรือไม่ ซึ่งมันจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน” แหล่งข่าวทางทหารรายหนึ่งระบุ และว่า

หากย้อนดูข้อมูลพบว่า ยอดความต้องการปี 2563 จำนวน 97,324 นาย, ปี 2564 จำนวน 97,558 นาย และปี 2565 จำนวน 58,330 นาย ถือว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในปีหลังก็มีสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเอื้ออำนวย

จากยอดในปี 2565 จำนวน 58,330 นาย จะเห็นว่าเป็นกลุ่มที่สมัครผ่านโครงการทหารออนไลน์ 6,101 นาย และกลุ่มเข้ารับการตรวจเลือก 51,692 นาย มีผู้ร้องขอเข้ารับราชการในวันตรวจเลือก 21,046 นาย คงเหลือจับฉลากแดง 30,646 นาย ซึ่งมีจำนวนลดลงจากปี 64 ถึง 18,749 นาย

น่าสนใจว่าในปีนี้ข้อมูลผู้สมัครใจเป็นทหารออนไลน์ที่เปิดตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีประมาณมากกว่า 1 หมื่นคน ซึ่ง ทบ.มองว่าตรงตามเป้าที่กำหนดไว้ ซึ่งเดิมตั้งเป้าว่า ในปี 65-66 จะต้องลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ (ปีละ 5 เปอร์เซ็นต์) เมื่อรวมกับผู้สมัครใจเข้าเป็นทหาร ณ วันตรวจเลือกปกติ 4,600 คน (ณ วันที่ 2 เม.ย.) หลังจากเปิดการตรวจเลือกแค่ 2 วัน ก็น่าจะเป็นไปตามเป้าที่ต้องการ

จากตัวเลขดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ายังไม่สามารถยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะยังมีบางภารกิจที่ยังไม่พบการแจงตัวเลขได้อย่างเป็นทางการ และในปีนี้กองทัพบกก็ยังไม่เปิดเผยตัวเลขความต้องการในภาพรวมเหมือนปีที่ผ่านมา แต่ที่เห็นอยู่คือ ความพยายามที่จะปรับปรุง และหาแนวทางในการเข้าใกล้ “ทหารกองประจำการแบบสมัครใจ” เกือบทั้งหมดให้ได้

ทั้งมาตรการ แรงจูงใจ ค่าตอบแทน การเปิดกว้างให้เข้าสู่ระบบทหารอาสา ปรับปรุงภาพลักษณ์ในการฝึก การจัดหางาน  ด่านแรกคือ ฝ่าแรงกดดันจากทุกสารทิศที่ต้องการให้กองทัพปรับตัว ด่านสุดท้ายคือ หลังสมรภูมิการเลือกตั้งที่งัดข้อกันระหว่างสองขั้วอุดมการณ์ที่กำลังดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายใดจะชนะจนนำไปสู่การยกเลิกเกณฑ์ทหารได้หรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

7 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เผชิญแรงบีบรอบด้าน!

แม้จะยังไม่ผ่านโค้งแรกในการบริหารประเทศของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เริ่มต้นทำงานได้เพียง 7 เดือน แต่ก็เหมือนถูกบีบจากสถานการณ์รอบด้าน ที่เข้ามาท้าทายความสามารถของผู้นำประเทศ อีกทั้งยังมีภาพนายกฯ ทับซ้อนที่ทำให้นายกฯ นิดดูดร็อปลงไป

'ทักษิณ' เอฟเฟกต์! ส่อทำการเมืองไทยวนลูปเดิม

ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีประเด็นข่าวร้อนแรงมากมายแค่ไหน แต่มีบุคคลหนึ่งที่ถ้าอยู่ในหน้าข่าวเมื่อไหร่ มักจะสร้างประเด็นดรามาที่ต้องพูดถึงไม่หยุดกับพ่อใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร

สว.2567 เสี่ยงได้ วุฒิสภา สายพรรคการเมือง เชื่อมโยงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

เข้าสู่ช่วงเตรียมนับถอยหลังใกล้โบกมือลา สิ้นสุดการทำหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่

หาก ‘ไผ่’ วืด ‘เบนซ์’ เต็งหนึ่งรมต. เสียบแทน ‘โควตากลาง’ พปชร.

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจว่าคุณสมบัติของ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ยังนั่งเป็นรัฐมนตรีได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับคำร้อง กรณีนายไผ่ขอร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถูก 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ละเมิดจนไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ กรณีระบุว่า ขาดคุณสมบัติ

ครม.เศรษฐา 2 ทักษิณเคาะโผ ฉากทัศน์กองทัพยุค "บิ๊กนิด"

ชัดเจนแล้วว่า ครม.เศรษฐา 2 ที่จะเป็นการปรับ ครม.ครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะเกิดขึ้นแน่นอน โดยคาดว่า อาจจะเกิดขึ้นภายในปลายเมษายนนี้ หรือช้าสุดไม่เกินกลางเดือน พ.ค. เว้นแต่มีสถานการณ์แทรกซ้อนทำให้การปรับ ครม.อาจขยับออกไปได้

ลดความเสี่ยง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ปรับ ครม.เค้นผลงานรัฐบาล

เรือธง ล้มไม่ได้ เพราะมีผลต่อเครดิตของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออนาคต สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท