นับหนึ่งนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อแก้ปัญหาความเห็นต่างและความขัดแย้ง เพื่อเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ภายหลังแถลงนโยบายเร่งด่วนต่อรัฐสภา ล่าสุด นายกฯ ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 จำนวน 35 คน โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน และประกอบไปด้วยฝ่ายการเมือง ผู้ทรงคุณวุฒิภาคส่วนต่างๆ ในสังคม อาทิ นักวิชาการ ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร โดยมีเงื่อนไขไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 และมาตราที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
โดยเริ่มประชุมนัดแรกในวันที่ 10 ต.ค. เพื่อหาแนวทางการตั้งคำถามทำประชามติ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ส่วนขั้นตอนการทำประชามติจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 และคาดว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งภายในระยะเวลา 4 ปีเท่ากับอายุรัฐบาลนี้
แต่กระบวนการรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ถูกด้อยค่าทางการเมือง สะท้อนได้จากพรรคก้าวไกลไม่ลงมาเข้าร่วมคณะกรรมการชุดนี้ ด้วยเหตุผลหลักคือ เพราะพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้รับความชัดเจนจากรัฐบาลเกี่ยวกับเป้าหมายหรือกรอบในภาพใหญ่ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการชุดนี้จะยึดถือ
โดยเฉพาะจุดยืนในการสนับสนุนคือ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และการจัดทำโดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด และอยากให้เปิดกว้างไม่ถูกจำกัดในเรื่องการแก้ไขหมวด 1 และ หมวด 2 และอำนาจของพระมหากษัตริย์
โดยพรรคก้าวไกลเสนอว่า กระบวนการดังกล่าวควรเริ่มต้นจากการจัดประชามติ เพื่อสอบถามประชาชนด้วยคำถามว่า
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ”
เช่นเดียวกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล โดยเรียกร้องให้มีความจริงใจ อย่าไปซื้อเวลาด้วยการตั้งคณะกรรมการ ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรเลย มีแต่จะทำให้เสียเงิน และยิ่งสร้างความขัดแย้ง
การไม่เข้าร่วมของพรรคฝ่ายค้าน ทางพรรคเพื่อไทยมองว่าไม่มีปัญหา เพราะเปิดพื้นที่ในเวทีอื่นๆ เพื่อแสดงความคิดเห็น โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับหมวดเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัติย์ เพราะไม่ต้องการเปิดประเด็นความขัดแย้งรอบใหม่
เพราะสุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จหรือไม่ นอกจากความจริงใจของผู้ริเริ่มแก้ไขแล้ว ต้องอยู่ที่การยอมรับของประชาชนผ่านการทำประชามติ และกระบวนการแก้ไขในรัฐสภา ประกอบไปด้วย สส.และ สว. โดยมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตรวจสอบในท้ายที่สุด มิใช่พรรคก้าวไกลเป็นผู้ชี้เป็นชี้ตาย
โดยประเด็นแรกที่เป็นตัวชี้ขาดว่าจะแก้ไขทั้งฉบับสำเร็จหรือไม่ คือคำถามประชามติต้องทำให้ตรงกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 “วินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”
ฉะนั้น หากผลักดันตามที่ พรรคก้าวไกลต้องการ โดยมีข้อความว่า...โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด...ลงไปในคำถามประชามติ
อาจมีสุ้มเสียงมีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าการทำประชามติไม่ชอบ เพราะเกินคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากต้องการจะมี ส.ส.ร.หรือไม่ และจะเป็นแบบใด เป็นอีกขั้นตอนที่จะต้องพิจารณาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256
นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องจำนวนครั้งการทำประชามติ จากเดิมเคยมีการประเมินว่าต้องทำถึง 3 ครั้ง และเลือกตั้ง ส.ส.ร.อีก 1 ครั้ง รวม 4 ครั้ง โดยการทำแต่ละครั้งต้องใช้งบ 3-4 พันล้านบาท กว่าจะเสร็จสิ้นหมดเงินไป 1.6 หมื่นล้านล้านบาท ซึ่ง นายภูมิธรรม ก็อยากจะลดขั้นตอนตรงนี้ ให้เหลือการทำประชามติเพียง 2 ครั้ง เพื่อลดเวลาและงบประมาณของประชาชน แต่ก็ไม่ทราบจะได้หรือไม่
หรือจะเลือกใช้แนวทางประหยัดงบลง โดยมีการเสนอว่า แก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้แก้รัฐธรรมนูญง่ายขึ้น ไม่ต้องผ่านเงื่อนไข สว. 1 ใน 3 และฝ่ายค้านร้อยละ 20 จากนั้นจึงแก้รายมาตรา แล้วก็ลงประชามติเพียงครั้งเดียว โดยไม่ต้องไปแตะเรื่องที่มาและขอบเขตอำนาจขององค์กรอิสระที่ต้องทำประชามติ
ยิ่งหากแก้ไขในช่วงวุฒิสภาเก่าจะหมดวาระในวันที่ 11 พ.ค.67 ไปแล้ว และรอให้ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ก็อาจจะง่ายขึ้น เพราะไม่ได้แต่งตั้งจาก คสช.และขวางการแก้ไขอย่างที่ผ่านมา อีกทั้งสถานการณ์การเมืองและยุทธศาสตร์ของประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว หลัง ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านมาเป็นกำลังหลักในการทำสงครามกับพรรคก้าวไกลเพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้า
ฉะนั้นหากรัฐบาลมีความจริงใจ และต้องการประหยัดงบประมาณลง ก็อาจเลือกแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา หรือไม่ก็แก้ไขรัฐธรรมนูญแบบไม่ต้องมี ส.ส.ร.
ส่วนที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญ 60 ไม่เป็นประชาธิปไตย บัดนี้เงื่อนไขต่างๆ ก็ค่อยๆ สลายไปตามอายุของบทเฉพาะกาล โดยเฉพาะการให้อำนาจ สว.เลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 ที่เป็นความขัดแย้งใหญ่ ที่สุดก็จะสิ้นสุดกลางปี 67 ส่วนคำสั่ง คสช.ที่ยังค้างอยู่ ล่าสุด รัฐบาลก็เตรียมการยกเลิกด้วยการออก พ.ร.บ.
เว้นแต่ฝ่ายการเมืองนำโดยพรรคเพื่อไทย ต้องการผลาญงบชาติบ้านเมือง ซื้อเวลาผ่านกระบวนการมากมายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้เป็นข้ออ้างให้รัฐบาลบริหารประเทศ 4 ปี หรือหวังฉวยโอกาสหมกเม็ด ทลายกำแพงของรัฐธรรมนูญปราบโกง ที่เป็นอุปสรรคของนักการเมือง อาทิ แก้ไขหรือยกเลิกบทลงโทษมาตรฐานจริยธรรม รวมถึงมาตรา 144 ที่ห้ามไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติลงไปเกี่ยวข้องกับงบประมาณแผ่นดิน ฯลฯ ใช่หรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปชป.เลือดไหลออก-ทัพแตก บ้านใหญ่ระยอง คาดซบ'ภท.'
แรงกระเพื่อมทางการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดยเฉพาะกับการที่จะมี
'โฆษก รทสช.' ปลุกทุกฝ่ายปกป้องรักษารัฐธรรมนูญเคารพกติกา
จุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรครวมไทยสร้างชาติ เราจะไม่ให้มีการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์
จับตาเส้นทางประชาธิปัตย์ ผลพวง 'ดีลลับ' พรรคอะไหล่?
ในที่สุดที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 3 เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการพรรคชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ลงมติเลือก “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 โดยมี "เดชอิศม์ ขาวทอง”
'ก้าวไกล' โดนอีกดอก! ปูด 'โรม' ตั้ง 'สามีทนายแจม' นั่งเลขาฯ กมธ.
'สว.อุปกิต' ปูด 'โรม' ตั้งสามี 'ทนายแจม' สส.กทม. นั่งเลขาฯ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ที่ตัวเองเป็นประธาน
อุ๊งอิ๊งรัศมีกลบมิดเศรษฐา พท.สลัดยาก "พรรคชินวัตร"
งานสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่เขาใหญ่ ระหว่าง 6-7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและรัฐมนตรี-แกนนำพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง
ทลายเว็บพนันออนไลน์ "มินนี่” ถึงเวลาล้างบางเครือข่าย-สีกากี
เม็ดเงินมหาศาลวงจรธุรกิจสีเทา “พนันออนไลน์” ทำกันเป็นล่ำเป็นสันทั้งกลุ่มทุนต่างประเทศ กลุ่มทุนไทย หรือกลุ่มต่างชาติเข้ามาใช้แผ่นดินไทยหรือตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานบัญชาการสูบเงินจากนักพนัน