จ้องแก้ ‘พ.ร.บ.ประชามติ’ ผวา ‘แท้ง’ ก่อนได้รื้อรธน.

วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายนนี้ คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน จะประชุมกัน

มีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือ เรื่องการแก้ไข พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ที่คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ที่มี นายนิกร จำนง เป็นประธาน ไปรับฟังมาจากหลายภาคส่วน และเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เพราะนอกจากความไม่ชัดเจนว่า จะต้องทำประชามติกี่ครั้งแล้ว ยังมีเรื่องเกณฑ์การทำประชามติยังอยู่ในระดับที่นักการเมืองมองว่า ‘หิน’ มาก หรือแทบจะไม่มีโอกาส ‘ผ่าน’ ได้เลย

โดย พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ในมาตรา 13 บัญญัติเอาไว้ว่า “การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น”

มาตรานี้บัญญัติเอาไว้ 2 ขยัก ขยักแรกคือ จะต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ซึ่งหมายความว่า หากมีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง มันจะล่มทันที

หรือหากผ่านขยักแรกไปได้ ต้องมาดูขยักที่สองคือ ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงหรือไม่ ซึ่งหากไม่ถึงก็ล่มเหมือนกัน 

ซึ่งการทำประชามติแตกต่างจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเรื่อง ‘แรงจูงใจ’ ของประชาชน และการมาเจอเกณฑ์ระดับที่ยาก ย่อมสุ่มเสี่ยงจะสูญเสียงบประมาณไปเปล่าๆ

ยิ่งหากมีการรณรงค์ให้นอนอยู่บ้าน ไม่ต้องออกไปใช้สิทธิ์เพื่อต้องการคว่ำประชามติ มันยิ่งเสี่ยงยิ่งกว่าเดิมขึ้นไปอีก

เหตุนี้มันจึงทำให้มีแนวคิดเรื่องการทำลายอุปสรรคด้วยการเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ก่อน เพื่อเพิ่มโอกาสให้การแก้ไขมีโอกาสสำเร็จ

โดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เสนอทางเลือกในการแก้ไข 2 ประเด็นคือ ยกเลิกเกณฑ์ชั้นที่ 1 ไม่ต้องกำหนดจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่ง และอีกหนึ่งทางคือ ให้เขียนว่า คนออกมาใช้สิทธิ์และลงคะแนนเห็นชอบ เกิน 25% หรือ 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด เพื่อป้องกันยุทธศาสตร์การนอนอยู่บ้านเพื่อคว่ำประชามติได้

แต่มันมีเสียงคัดค้านแนวคิดนี้ออกมาเหมือนกัน เพราะจุดประสงค์ของผู้ร่างต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญยากขึ้น ไม่ใช่ใครอยากจะแก้ก็แก้ได้เลย จึงวางกลไกเอาไว้แน่นหนา และต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนเสียงส่วนใหญ่ในประเทศ

ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เป็น ‘กฎหมายปฏิรูปประเทศ’ จะต้องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาคือ สส.และ สว. อาจจะแก้ไขไม่ง่ายขึ้น โดยก่อนหน้านี้มี สว.บางคนออกมาแสดงความเห็นคัดค้านแล้ว 

โดย นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ออกมาคัดค้านว่า ไม่เห็นเหตุของความจำเป็นของการแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าว อีกทั้งในการพิจารณาประเด็นดังกล่าวนั้นได้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะหากมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ หรือออกเสียง เพียง 20%-30% อาจจะถือว่าการทำประชามตินั้นไม่ชอบได้

 “หลักเกณฑ์เรื่องการมาใช้สิทธิ์ออกเสียงที่กำหนดไว้ในกฎหมายประชามติที่เพิ่งบังคับใช้นั้น เพื่อให้เกิดความชอบธรรมต่อการแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากจะลดหลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจจะทำให้ไม่เกิดประโยชน์และอาจจะกระทบต่อผลของการออกเสียงประชามติที่ลดลงได้” อดีตกรรมาธิการที่ร่วมยกร่างกฎหมายฉบับนี้ ระบุ

อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ไม่ได้ถูกร่างมาเฉพาะให้ทำเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ยังต้องใช้กับอีกในหลายๆ ประเด็น การแก้ไขด้วยการลดเกณฑ์ลงมา เพียงเพราะให้ ‘ผ่าน’ ง่ายขึ้น อาจจะไปกระทบต่อเรื่องอื่นๆ ในภายภาคหน้าได้

เพราะการทำประชามติมุ่งเน้นที่ ‘เสียงส่วนใหญ่’ หากปรับให้เหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จะยังสามารถเรียกว่า การทำประชามติได้อยู่หรือไม่ 

เรื่องนี้ดูแล้วไม่ง่าย เพราะยังมีประชาชนอีกบางส่วนในสังคมที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ การที่รัฐบาลขยับจะแก้กฎหมายประชามติเพื่อเอื้อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จอาจจะถูกคัดค้านอย่างหนัก อาจจะมีการร้องเรียนกันเกิดขึ้นได้อีก

ยังไม่ต้องถึงขั้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่แค่ ‘ประชามติ’ รัฐบาลก็เหนื่อยแล้ว

ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายมองว่า พรรคเพื่อไทย ตลอดจนพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ได้คิด หรือวางแผนเรื่องนี้มาเหมือนกัน จึงจะใช้วิธีแก้ปัญหาแบบนี้ 

ฉะนั้น จึงต้องจับตาการประชุมคณะกรรมการชุดที่มี นายภูมิธรรม เป็นประธานในวันศุกร์นี้ให้ดีว่า จะออกมาหน้าไหน?.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา1/1'เศรษฐกิจ-การเมืองนำ เว้นระยะ'ความมั่นคง-กองทัพ'

โฉมหน้า “คณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/1” ที่ออกมา นอกจากจะเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตัวบุคคลของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เป้าหมายที่ฉายภาพชัดต่อทิศทางการบริหารงานของรัฐบาล

'ภูมิธรรม' ปัดวงกินข้าวเที่ยงมี 'ทักษิณ' ร่วมจัดโผครม. แจงถก 'นายกฯ-เลขาฯ' เรื่องงาน

'ภูมิธรรม' ยืนยันวงกินข้าวเที่ยงวานนี้ไร้เงา 'ทักษิณ' แจงถก ’นายกฯ-เลขาฯ’ คุยเรื่องงาน ไม่มีคุยปรับ ครม. - ส่อเค้า ปรับโฆษก หลังปรับ ครม.

ดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด'พรบ.ธ.ก.ส.' แจกเงินหมื่น‘ลูกผีลูกคน’อีกแล้ว

ภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง นำทีมหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบหลักการ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

”ภูมิธรรม“ ประกาศสุดยอดข้าวหอมมะลิ และข้าวสารไทยแห่งปี หนุนเกษตรกรและโรงสีรักษาคุณภาพขั้นสูง ขยายตลาดทั่วโลก

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย ประจำปี 2566 (ครั้งที่ 41) และรางวัลการประกวดข้าวสารคุณภาพดีเด่นแห่งประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งจัดโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในวันนี้ (24 เมษายน 2567)

คณะก้าวหน้า-ธนาธรปักธง "สว.สีส้ม" แชร์เก้าอี้สภาสูง

การเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม วาระสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือ การได้มาซึ่ง วุฒิสภา-สภาสูง ชุดใหม่ ที่จะมาแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่