คิกออฟแก้หนี้นอกระบบ ไพ่ใบใหม่รัฐบาลเพื่อไทย

วันอังคารนี้ 28 พ.ย. มีคิวสำคัญทางการเมืองที่น่าติดตามกันก็คือ การที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง ได้นัดแถลงข่าว นโยบาย-มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

ที่จะมีการเปิดเผยรายละเอียด ขั้นตอน-กระบวนการว่า รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างไร   

อันถือเป็นเรื่องน่าสนใจและท้าทายความสามารถของรัฐบาลเศรษฐาไม่น้อย ในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ (Informal loan) ที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาช้านาน และเป็นเรื่องที่มีทุกประเทศทั่วโลก

หลังก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยรายละเอียดออกมาแล้วว่า จะมีการให้ลูกหนี้ที่ไปกู้ยืมเงินนอกระบบ ที่หากเห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด-โดนทวงหนี้ในลักษณะบังคับข่มขู่ ก็ให้ไปลงทะเบียนได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ โดยจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนในเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นกรมการปกครองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้วใช้กลไก นายอำเภอ-ผู้กำกับสถานีตำรวจ ทั่วประเทศลงมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว

เบื้องต้นกระทรวงมหาดไทยออกมารับลูกนำร่องไปก่อนแล้ว

โดยทาง สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ได้สั่งการไปยังทุกจังหวัด และนายอำเภอทุกอำเภอ เร่งตั้ง ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในพื้นที่ และให้ประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้นอกระบบที่มีความประสงค์ขอรับการช่วยเหลือหรือให้ทางราชการแก้ไขปัญหา ไปลงทะเบียนตั้งแต่ 1 ธ.ค.เป็นต้นไป ที่เว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทย แต่หากไม่สะดวกให้ไปลงทะเบียนด้วยตนเอง ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทุกแห่งใน กทม.จากนั้นศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ จะเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบโดยเร็ว

นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยได้เรียก ผวจ.ทั่วประเทศ มารับมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ วันที่ 8 ธ.ค. ที่เมืองทองธานี

อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิจารณ์ตามมาไม่น้อยว่า นโยบายดังกล่าวจะทำสำเร็จได้เป็นรูปธรรมมากน้อยแค่ไหน?

 โดยเฉพาะการให้ลูกหนี้ หรือผู้กู้ ไปลงทะเบียนแสดงตัวตน เพราะการที่ลูกหนี้กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้หรือผู้ให้กู้ มันก็คือการตกลงกันของทั้ง 2 ฝ่ายในการกู้ยืมเงินระหว่างกัน พูดง่ายๆ คือเป็นความสมัครใจของลูกหนี้เองที่จะขอกู้เงินนอกระบบ เพราะเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน เพราะอาจเป็นการกู้ยืมเงินในกรณีไม่มาก กู้เพื่อนำเงินมาทำมาหากิน หรือกู้แบบเร่งด่วน ที่ไม่ได้มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงไปขอกู้หนี้นอกระบบกับเจ้าหนี้

ที่ก็พบว่า ผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้เงินนอกระบบจำนวนมากก็จะรู้จักกับ เจ้าหน้าที่รัฐ-ตำรวจ-คนมีสี ในพื้นที่ หรือบางพื้นที่ เจ้าหนี้ก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐ-ข้าราชการ-ตำรวจในพื้นที่ ที่อาจเป็นเจ้าหนี้แบบเปิดเผยหรืออยู่เบื้องหลังการปล่อยกู้ดอกเบี้ยโหด

ดังนั้นการให้ลูกหนี้ที่เป็นประชาชนธรรมดา ไปลงทะเบียนแสดงตัวตน คำถามก็คือว่า จะมีหลักประกันในเรื่องความปลอดภัย การไม่ให้โดนข่มขู่ตามมาภายหลัง จากเครือข่ายเจ้าหนี้เงินกู้ ตามมาได้อย่างไร

เพราะพอมีการไปลงทะเบียนให้ข้อมูล ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ใน ศูนย์แก้ปัญหาหนี้นอกระบบของมหาดไทย ก็จำเป็นต้องเรียกเจ้าหนี้มาสอบถาม มาเจรจา จนถึงขั้นอาจมีการดำเนินการตามกฎหมาย หากมีการคิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด หากเป็นแบบนี้ ย่อมทำให้เจ้าหนี้รู้ตัวว่าถูกลูกหนี้ไปร้องเรียน และพยายามหาข่าวว่า ลูกหนี้รายใด ไปให้ข้อมูลดังกล่าว ผลที่ตามมาอาจทำให้ลูกหนี้ไม่ปลอดภัย ก็ได้

จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาล-กระทรวงมหาดไทย-ตำรวจ ต้องมีหลักประกันในเรื่องการดูแลชีวิตความปลอดภัยของลูกหนี้ที่จะไปลงทะเบียน 

สำหรับในปัจจุบันพบว่า มีกฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับการห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ที่ก็รวมถึงดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบด้วย เช่น

-พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560

-ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

โดยแม้กฎหมายหลักคือ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 จะไม่มีการระบุไว้ว่าห้ามคิดดอกเบี้ยเกินเท่าใด แต่ในทางกฎหมาย ก็คือจะยึดหลักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คือ

 การให้กู้เงิน ต้องห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี 

 แต่สำหรับธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้และคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ เพราะมีกฎหมายแยกเฉพาะในส่วนของดอกเบี้ยให้กู้ยืมเงินของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินออกมาอีกต่างหาก 

พบว่าในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราบัญญัติไว้ว่า

 “บุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน เช่น เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ดังนั้นหากจะมีการใช้ไม้แข็ง จัดการกับกลุ่มเจ้าหนี้นอกระบบ ที่เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็คาดว่าคงทำให้มีผลสะเทือนพอสมควรในหลายพื้นที่ แต่ขึ้นอยู่กับว่า ลูกหนี้จะไปให้ข้อมูลกับทางการหรือไม่ และจะมีการดำเนินการกับเจ้าหนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนดอย่างจริงจังหรือไม่

ส่วนรายละเอียดว่า รัฐบาล-กระทรวงมหาดไทย จะมีแนวนโยบายการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไร รอฟังการแถลงข่าวจากนายกฯ วันที่ 28 พ.ย.นี้ต่อไป

และเมื่อจบจากการคิกออฟนโยบายแก้หนี้นอกระบบแล้ว วันที่ 12 ธ.ค.ก็มีข่าวว่า เศรษฐาจะแถลงนโยบายเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบต่อไป

 ดูทรงแล้วเศรษฐาคงเล่นใหญ่ ดันให้เรื่องการแก้ปัญหาหนี้เป็นวาระแห่งชาติ อีกหนึ่งนโยบายหลักของรัฐบาลเพื่อไทย

และมันก็คือไพ่ใบใหม่ของเพื่อไทยและเศรษฐา ที่หวังว่าทำออกมาแล้วจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปัญหาปากท้องประชาชน แบบถึงตัวประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะคนรากหญ้า ผู้มีรายได้น้อย ในช่วงที่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตกู้มาแจก ยังลูกผีลูกคน

ส่วนว่าไพ่ใบนี้แก้ปัญหาหนี้ประชาชน ทิ้งออกมาจะปังหรือจะแป๊ก ช่างน่าติดตามผลลัพธ์ในตอนท้าย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ประชุมคณะกรรมการโครงการหลวง เห็นชอบร่างแผนวิจัยพื้นที่สูง ปี 67-70

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ครั้งที่ 1/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง

คปท. ยื่น ปปช. สอบ 'เศรษฐา' ผิดจริยธรรมร้ายแรง พบทักษิณ-ตั้งพิชิตเป็นรมต.

เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดยนายพิชิต ไชยมงคล นายนัสเซอร์ ยีหมะ นายสอและ กูมุดา ตัวแทนคปท. นายใจเพชรกล้าจน นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ตัวแทนกองทัพธรรม และตัวแทนศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)

'เศรษฐา' ระงับใบลาออก รมช.คลัง เชื่อ 'กฤษฎา' ไม่สบายใจเรื่องแบ่งงาน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ยื่นหนังสือลาออกตำแหน่ง รมช.คลัง ว่า “มีผู้สื่อข่าวส่งข่าวมา ตนจึงได้โทรหา นายกฤษฎา ท่านก็บอกว่าใบลาออกกำลังมา ซึ่งตนได้บอกว่าให้คิดไว้ก่อนคืนหนึ่งเดี๋ยวค่อยว่ากันใหม่”

กินข้าวค้างสต๊อกกลบจำนำข้าว แผนปูทาง"ยิ่งลักษณ์"กลับไทย?

หลัง ทักษิณ ชินวัตร-หัวหน้ารัฐบาลเพื่อไทยตัวจริง ได้ออกมาระบุเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ระหว่างการกลับไปเล่นน้ำสงกรานต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิดของตระกูล “ชินวัตร” ว่า สงกรานต์ปีหน้า ยิ่งลักษณ์คงได้มีโอกาสกลับมาทำบุญและเล่นสงกรานต์ที่เชียงใหม่ และไม่แน่ อาจกลับภายในปีนี้

'เศรษฐา' ไม่รู้ 'ทักษิณ' ช่วยเจรจาชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ย้ำไทยยึดแนวทางอาเซียน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากมีการปรับ ครม.เศรษฐา 1/1 ครั้งแรก ถึงสถานการณ์ภายในเมียนมา รมว.ต่างประเทศได้มีการรายงานอย่างไรบ้าง หลังมีกระแสข่าวว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ