'พปชร.' ในศึกเลือกตั้งซ่อม ภายในยังร้าวลึก สะเทือนถึง 'ลุงตู่'

ช่วงส่งท้ายปีเก่า 2564 เข้าเทศกาลปีใหม่ 2565 บรรยากาศการเมืองไทยคึกคักเป็นพิเศษ เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 2 เขต คือ เขต 6 จ.สงขลา และเขต 1 จ.ชุมพร ในวันที่ 16 ม.ค.2565 และเขต 9 กรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมทั้งเตรียมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งพรรคการเมืองต่างๆ ได้เตรียมส่งผู้สมัครลงสู้ศึกกันแล้ว

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เจ้าของพื้นที่เดิมในภาคใต้ เคาะชื่อผู้สมัครก่อนใครเพื่อน ส่ง นายอิสรพงษ์ มากอำไพ  เลขาฯ นายก อบจ.ชุมพร ลงเขต 1 จ.ชุมพร และ น.ส.สุภาพร กำเนิดผล รองนายก อบจ.สงขลา ลงเขต 6 จ.สงขลา

ทางด้านพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่ง นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ บุตรชายนายอนันต์ พฤกษานุศักดิ์ ประธานบริษัท ศรีตรังฯ ผู้ผลิตถุงมือรายใหญ่ของประเทศ ลงเขต 6 สงขลา และ นายชวลิต อาจหาญ หรือ "ทนายแดง" ลงเขต 1 ชุมพร

ส่วนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดตัวผู้สมัครลงแข่งขันครบทั้ง 2 เขต ได้แก่ นายธิวัชร์ ดำแก้ว เป็นผู้สมัคร ส.ส.สงขลา เขต 6 และ นายวรพล อนันตศักดิ์ ผู้สมัคร ส.ส.ชุมพร เขต 1 

ขณะที่ พรรคเพื่อไทย กลับไม่ยอมส่งเลือกตั้งซ่อม 2 เขตดังกล่าว อ้างว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ปกติ เพราะมีการเลือกตั้งซ่อม อำนาจรัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ได้รับชัยชนะจึงไม่ส่งลงสู้ศึกด้วย

การเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาเป็นประเพณีและ "มารยาททางการเมือง” ที่พรรคร่วมรัฐบาลจะหลีกทางให้พรรคเจ้าของพื้นที่ส่งผู้สมัครลงรักษาเก้าอี้เดิม แต่การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้และเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3 จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐฉีกมารยาททางการเมืองทิ้งไปเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ได้เกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรค พปชร.อย่างรุนแรง จากเดิมที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ที่มี บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร.นั่งหัวโต๊ะ กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค เคาะชื่อ ทนายแดง-ชวลิต อาจหาญ ลงสู้ศึกเลือกตั้งซ่อมเขต 1 ชุมพรแล้ว แต่ต่อมาที่ประชุม กก.บห.กลับพลิกมติไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเขต 1 ชุมพร ส่งเพียงเขต 6 สงขลา เพียงเขตเดียว

เนื่องมาจากแกนนำ พปชร.มีสัญญาใจกันกับ ส.ส.ลูกหมี-ชุมพล​ จุลใส​ อดีต ส.ส.ชุมพร พรรค ปชป.ที่จะยกทีมงานทั้ง 3 เขตในสมัยหน้า​มาสังกัด พปชร. จึงต้องหลีกทางให้ เลขาฯ ตาร์ท-อิสรพงษ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของภรรยาของ ส.ส.ลูกหมี

มติ พปชร.ดังกล่าวทำให้ "ทนายแดง" ไม่พอใจ ประกาศยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรค พปชร.ทันที แต่ถูกยับยั้งไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาได้เปิดตัวและเปิดศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งไปแล้ว สำหรับผลการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ก็ได้เสียงถึง 32,219 คะแนน แพ้นายชุมพลที่ได้ 42,683 คะแนน

ต่อมาเมื่อช่วงค่ำวันพฤหัสบดีผ่านมา พล.อ.ประวิตร เรียกประชุม กก.บห. ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ได้ทบทวนมติดังกล่าว โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ ส่ง นายชวลิต อาจหาญ ลงเลือกตั้งซ่อมในเขต 1 จ.ชุมพร โดยให้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค และผู้อำนวยการพรรค พปชร. เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งซ่อม จ.ชุมพร

โดย พล.อ.ประวิตร ชี้แจงถึงการทบทวนมติดังกล่าวว่า "สมาชิกพรรคเขาไม่ยอมว่าทำไมไม่ส่งผู้สมัคร จึงร้องมายังกรรมการบริหารพรรค เราจึงมาประชุมกันใหม่ และมีมติดังกล่าวออกมา"

การที่มอบหมาย นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งซ่อม จ.ชุมพร และ เสี่ยเฮ้ง-นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อม จ.สงขลา ซึ่งทั้ง 2 คนมีความใกล้ชิดกับ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เท่ากับโยน เผือกร้อน ให้หรือไม่ เพราะทั้ง 2 คนไม่คุ้นเคยพื้นที่ และไม่รับรู้มาก่อนว่าจะต้องลงไปคุมเลือกตั้งซ่อมด้วยตัวเอง

และเป็นที่ทราบดีว่า ร.อ.ธรรมนัส สนิทแนบแน่นกับ นายกฯ ชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง สามีของ น้ำหอม-สุภาพร กำเนิดผล ผู้ลงชิงเก้าอี้ ส.ส.เขต 6 สงขลา โดย เดชอิศม์ เพิ่งได้รับเลือกจากพรรค ปชป.ให้เป็นรองหัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่ ดังนั้นศึกเลือกตั้งซ่อมในเขต 6 สงขลา จึงเป็นสนามแรกที่ เดชอิศม์ จะพิสูจน์บารมีและศักดิ์ศรีของรองหัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่ ซึ่งภายหลังได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรค เขาก็ประกาศไปแล้วว่าจะกวาดเก้าอี้ ส.ส.ภาคใต้กลับมา 35 ที่นั่ง ดังนั้นสนามนี้ ปชป.จะแพ้ไม่ได้

ส่วนสนามเขต 1 ชุมพร ส.ส.ลูกหมี เจ้าของพื้นที่เดิม ฐานคะแนนเสียงยังแข็งแกร่ง สันติ พร้อมพัฒน์ ในฐานะ ผอ.เลือกตั้ง คงจะยึดพื้นที่ได้ไม่ง่ายเช่นกัน

และต้องจับตาว่า พล.อ.ประวิตร-ร.อ.ธรรมนัส จะลงไปช่วยหาเสียงทั้ง 2 เขต เต็มที่แค่ไหน เพราะมีความเกรงใจเจ้าของพื้นที่เดิมอยู่แล้ว ที่สำคัญใครจะช่วยออก "กระสุนดินดำ" ถ้า พล.อ.ประวิตร-ร.อ.ธรรมนัส เจตนาปล่อยให้แกนนำ พปชร.ที่ใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ไปพิสูจน์ฝีมือกันเอาเอง จะยิ่งสะท้อนรอยร้าวเดิมจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ ร.อ.ธรรมนัสถูกปลดจากเก้าอี้ รมช.เกษตรฯ ว่ายังประสานไม่สนิท

ส่วนการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร แทน นายสิระ เจนจาคะ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสภาพ ส.ส. โดย พปชร.จะส่ง นางสรัลรัศมิ์ ภรรยาของนายสิระ ลงรักษาเก้าอี้เดิม พรรคเพื่อไทยส่ง นายสุรชาติ เทียนทอง อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร ลงสู้ศึกอีกครั้ง ขณะที่พรรคก้าวไกลส่ง นายเพชร กรุณพล ดารานักแสดง ลงชิงเก้าอี้ด้วย

ผลการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 นายสิระได้เสียง 34,907 คะแนน ขณะที่นายสุรชาติได้ 32,115 คะแนน ห่างกันเพียง 2.7 พันคะแนนเท่านั้น

นายสิระ เสียเครดิตไปไม่น้อยจากที่ถูกศาล รธน.ตัดสินให้พ้นสภาพ ส.ส. สุรชาติ ลูกป๋าเหนาะ-เสนาะ เทียนทอง เจ้าพ่อวังน้ำเย็น คราวนี้ต้องสู้อย่างเต็มที่เพื่อชิงเก้าอี้มาให้ได้

จากเงื่อนไขภายใน พปชร.และปัจจัยแวดล้อมทางการเมือง การเลือกตั้งซ่อมทั้ง 3 เขต พรรค พปชร.จึงตกอยู่ในสภาพที่เป็นมวยรอง         

แม้แต่ กองหนุนลุงตู่-ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการสื่อสาร บรรณาธิการบริหารศูนย์บริหารสื่อสารในภาวะวิกฤต ยังวิเคราะห์ว่า คนกรุงเทพฯ น่าจะได้โอกาสในการสั่งสอนพรรคพลังประชารัฐที่พวกเขามองว่าอหังการ ยโส อวดดี พวกเขาไม่พอใจตั้งแต่การวางยุทธศาสตร์รวมหัวกันไล่ 4 กุมาร ที่ทุ่มเททำงานให้กับพรรคในการจัดการรณรงค์การเลือกตั้งจนได้รับชัยชนะ และทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน โครงสร้างใหม่ของพรรคหลังจากเอาสี่กุมารออกไปเป็นที่ไม่พอใจของคนกรุงเทพฯ เพราะมองคนที่มีตำแหน่งต่างๆ หลังการเปลี่ยนแปลงเป็นคนที่คนกรุงเทพฯ ไม่ปลื้มไปจนถึงรู้สึกรังเกียจ ความขัดแย้งระหว่างนายกฯ กับคนมีตำแหน่งสำคัญในพรรคที่งัดข้อกับนายกฯ โดยไม่เคยคิดที่จะมีการขอขมา คนกรุงเทพฯ มองว่าใช้ไม่ได้ จึงเสื่อมศรัทธาพรรคหลังประชารัฐ

อย่างไรก็ตาม ดร.เสรี บอกว่า ถ้าพลังประชารัฐแพ้การเลือกตั้งซ่อมใน กทม.ครั้งนี้ อย่าเอาไปโยงว่าคนกรุงเทพฯ ไม่เอา ลุงตู่

แต่ ลุงตู่ ก็คงไม่อยากให้แพ้ เพราะจะถูกนำไปเชื่อมโยงถึงความนิยมของตนเองอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะถ้าแพ้เลือกตั้งซ่อมทั้ง 3 เขต ทั้งภาคใต้และ กทม.ก็จะสะเทือนถึง พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง เพราะการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา ส.ส.ใต้กับ ส.ส.กทม.ได้มาเพราะกระแส พล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้สโลแกน "เลือกความสงบจบที่ลุงตู่"  ก็เท่ากับว่าความนิยมของนายกฯ ตู่ตกต่ำลง

ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ มีมติไปแล้วที่จะส่ง ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในสังกัด ปชป. ส่วนพรรคเพื่อไทยยืนยันจะไม่ส่ง แต่จะแอบหนุน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่จะลงในนามอิสระไม่สังกัดพรรค พรรคก้าวไกลจะเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ ในวันที่ 23 ม.ค. ขณะที่พรรคพลังประชารัฐยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะส่งใครลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้

ก่อนหน้านั้นมีข่าวว่า พปชร.จะส่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.ลงในนามพรรค ต่อมา พล.ต.อ.จักรทิพย์ถอนตัวไม่ลงสมัคร ท่ามกลางกระแสข่าวไม่ลงรอยกับแกนนำ พปชร.บางคน ขณะที่ นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม.อดีต กก.บห.พรรค พปชร.ที่มีความประสงค์จะลงผู้ว่าฯ สังกัด พปชร.ตั้งแต่ต้น ก็ได้ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรค พปชร.เตรียมลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ           

ปรากฏการณ์ทั้งหมดสะท้อนถึงปัญหาภายใน พปชร.ยังร้าวลึก ไร้ความเป็นเอกภาพ การกำหนดทิศทางของพรรคและการตัดสินใจทางการเมืองจึงไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขาดหลักคิดในการดำเนินงานทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลถึงความเสื่อมศรัทธาของประชาชนและความนิยมในตัว นายกฯ ประยุทธ์ ในที่สุด. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลากไส้องค์กร'สีกากี'ยิ่งแฉยิ่งเละ ถึงเวลาปฏิรูปตำรวจกู้ภาพลักษณ์

เละ! ตายตามกันไปข้าง ศึกภายในรั้ว “กรมปทุมวัน” ถึงแม้ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.และ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.จะถูกโยกไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี แต่ศึก “นอมินี” แทงฟันกันเลือดสาดไม่มีใครยอมใคร อย่างที่ ทีมทนาย “รองฯ โจ๊ก” เตือนก่อนที่ความขัดแย้งจะบานปลายมาจนถึงปัจจุบัน “ไม่ยอมตายเดี่ยว”

พปชร. ยื่นร่างพรบ.ลำไย เข้าสภาฯ หวังช่วยแก้ปัญหา ลดภาระเกษตรกร

พรรคพลังประชารัฐ นำโดยนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ สส.เชียงใหม่ , นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส และนายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ เสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ลำไย พ.ศ. …

เดินหน้าแจกดิจิทัลวอลเล็ต หลังเพิ่มทางเลือกแหล่งเงิน

หลังเมื่อวันจันทร์ที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง” เปิดแถลงข่าวไทม์ไลน์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้านโยบายดังกล่าวต่อไป และจะสามารถแจกเงินให้ประชาชน 10,000 บาท ได้ภายในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ คือประมาณ ตุลาคม-ธันวาคม 2567

กางไทม์ไลน์‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ รัฐบาลได้‘ไฟเขียว’แจกเงิน?

โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท นโยบาย เรือธง ของพรรคเพื่อไทย โยกเยก ไร้ความชัดเจนตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ

ทักษิณรุกคอนโทรล พท. ยิ่งขยับ ยิ่งเข้าทาง ก้าวไกล

การเดินทางเข้าพรรคเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะ เจ้าของพรรค-หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตัวจริง วันอังคารที่ 26 มี.ค.นี้ ถ้าไม่มีการยกเลิกเสียก่อน แต่ก็พบว่า กระแสข่าวดังกล่าวค่อนข้างคอนเฟิร์มว่าทักษิณไปแน่

‘ธรรมนัส’ บอกไม่รู้ สส.ก้าวไกล ดอดพบ ‘บิ๊กป้อม’ ขอเข้าพรรค โยน กก.บห.ตัดสินใจ

’ธรรมนัส‘ บอกไม่ทราบเรื่อง ปม ’สส.ก้าวไกล‘ ดอดพบ ‘บิ๊กป้อม’ ปัดตอบ พปชร. ปิดประตูหรือไม่ โยน กก.บห.พรรค ตัดสินใจ ย้ำจะไม่ทำอะไรที่เคยเป็นบทเรียนในอดีต ให้เกิดความหมางใจกัน