กบฏ ‘บิ๊กตู่’ แบ่งแยกรวย-จน บทเรียน ‘พปชร.-ธรรมนัส’

พรรคประชาธิปัตย์สามารถรักษาจำนวน ส.ส.ของตัวเองในสภาฯ เอาไว้ได้ หลังคว้าชัยชนะได้ทั้ง 2 สนาม ไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้งซ่อมที่เขต 1 จ.ชุมพร และเขต 6 จ.สงขลา 

โดยที่ จ.ชุมพร เลขาฯ ตาร์ท-นายอิสรพงษ์ มากอำไพ จากพรรคประชาธิปัตย์ คนสนิทของ ลูกหมี-ชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร และอดีตแกนนำ กปปส. กวาดไปได้เกือบ 5 หมื่นคะแนน เอาชนะคู่แข่งคนสำคัญอย่าง ทนายแดง-นายชวลิต อาจหาญ จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ไป 3 หมื่นกว่าคะแนน 

ขณะที่ จ.สงขลา คุณนายน้ำหอม-น.ส.สุภาพร กำเนิดผล ภรรยา นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา และหัวหน้าภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ สามารถเฉือนเอาชนะ เสี่ยโบ๊ต-นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์​ จากพรรคพลังประชารัฐ ได้เกือบ 4 พันกว่าคะแนน 

​ ในแง่ความเสียหายของพรรคพลังประชารัฐมีไม่มากนัก เพราะถือว่าทั้ง 2 พื้นที่นี้แต่เดิมเมื่อการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เป็นของพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว ขณะที่พรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผมเองรอบนี้ถือว่า ‘เท่าทุน’ 

หากจะบอกว่า ปัจจัยความพ่ายแพ้ของพรรคพลังประชารัฐทั้ง 2 เขต เป็นเพราะกระแสของ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตกแล้วหรือไม่ คงจะไม่จริงสักเท่าใดนัก นั่นเพราะหากย้อนไปดูยุทธศาสตร์การหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายที่ผ่านมาจะพบว่า ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีการโหน ‘บิ๊กตู่’ อยู่ด้วยกันทั้งคู่ 

พรรคประชาธิปัตย์แม้ไม่ใช่พรรคนั่งร้านของ ‘บิ๊กตู่’ เหมือนกับพรรคพลังประชารัฐ แต่พบว่า ที่ จ.ชุมพร มีการปราศรัยขอคะแนนชาวบ้าน โดยระบุว่า ‘ลูกหมี’ อดีตแกนนำ กปปส.คือคนที่สนับสนุนนายกฯ คนนี้มาโดยตลอด 

ส่วนที่ จ.สงขลา แม้การตอบโต้กันไปมาระหว่างผู้ใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐจะดุเดือดเข้มข้น แต่พรรคประชาธิปัตย์กลับไม่เคยแตะต้อง ‘บิ๊กตู่’ เลย 

และหากมองดูยุทธศาสตร์การหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์รอบนี้จะพบว่า มีความพยายามจับ ‘บิ๊กตู่’ แยกกับพรรคพลังประชารัฐ 

มีความพยายามจะสื่อด้วยว่า ‘บิ๊กตู่’ ไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่เป็นการแข่งขันกับพรรคพลังประชารัฐภายใต้การนำของ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคเท่านั้น  

ดังนั้นจึงยังไม่สามารถรีบสรุปได้ว่า ผลคะแนนเลือกตั้งซ่อมที่ออกมาสามารถสะท้อนได้ว่า กระแส ‘บิ๊กตู่’ ในภาคใต้นั้นตกลงแล้ว 

อีกทั้งการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นไม่ได้มีนัยสำคัญทางการเมืองอะไรระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน แต่เป็นการแข่งขันกันเองระหว่างฝ่ายรัฐบาลด้วยกัน ผลแพ้-ชนะ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคพลังประชารัฐ จำนวนเสียง ส.ส.ในสภาก็ยังเท่าเดิม และ ‘บิ๊กตู่’ ก็ยังเป็นนายกฯ เหมือนเดิม 

มันเป็นศึกศักดิ์ศรีระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐ และตัวบุคคลมากกว่า ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้รับรู้ข้อมูลตรงนี้ดี 

และอาจจะมองได้ว่า ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ต้องการจะสั่งสอนพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ ‘บิ๊กป้อม’ และ ‘ธรรมนัส’ โดยเฉพาะรายหลังที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ก่อการกบฏ พยายามจะล้ม ‘บิ๊กตู่’ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 

อย่าลืมว่า คนใต้เป็นคนที่เสพข่าวการเมืองจริงจัง รับรู้ข้อมูลเรื่องราวที่เกิดขึ้น และความขัดแย้งระหว่าง ‘บิ๊กตู่’ กับ ‘ธรรมนัส’ เป็นอย่างดี  

นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.ชุมพร และสงขลา ‘ธรรมนัส’ แทบจะไม่เอ่ยชื่อ ‘บิ๊กตู่’ เพื่อขอคะแนนจากชาวบ้านเลย ต่างจาก ส.ส.และแกนนำคนอื่นๆ ที่พยายามจะงัดชื่อ ‘บิ๊กตู่’ มาอ้อน

ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า วาทกรรมคนรวย-คนจน บนเวทีปราศรัยที่ จ.สงขลาของ ร.อ.ธรรมนัส เป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจลงคะแนนของชาวบ้านด้วย  

คำพูดที่อ่อนไหว ละเอียดอ่อน ถือเป็นคำต้องห้ามหากคิดจะใช้หาเสียงในดินแดนสะตอ
                    ความพ่ายแพ้ครั้งนี้แม้ ร.อ.ธรรมนัสจะไม่ได้เป็นแม่ทัพคุมเลือกตั้งด้วยตัวเอง เพราะพรรคพลังประชารัฐได้มอบหมายให้ เสี่ยเฮ้ง-นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เป็น ผอ.เลือกตั้งซ่อมที่สงขลา และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เป็น ผอ.เลือกตั้งซ่อมที่ชุมพร แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะเลขาธิการพรรค 

กลับกันแม้ไม่ได้เป็น ผอ.เลือกตั้งซ่อมเอง แต่บทบาทตลอดการหาเสียงของ ร.อ.ธรรมนัส ในช่วงโค้งสุดท้ายแทบจะเกินเบอร์คนอื่นๆ  

แทบจะเรียกได้ว่า ร.อ.ธรรมนัส คือภาพของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้  

ที่ผ่านมามีกระแสข่าวออกมาตลอดว่า ร.อ.ธรรมนัส ต้องการเป็นแม่ทัพคุมเลือกตั้งใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ รวมถึงภาคใต้ด้วย ในขณะที่ ‘บิ๊กป้อม’ เองก็ค่อนข้างไว้ใจลูกน้องคนนี้  

ร.อ.ธรรมนัส เป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง ไม่ว่าจะเป็นบนดิน-ใต้ดิน หากแต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้กำลังทำให้ได้รับบาดเจ็บและกำลังเสียเครดิตอย่างมาก 

น่าจับตาว่า มันจะส่งผลต่อความชอบธรรมในหน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบันหรือไม่ แน่นอนว่า ขั้วตรงข้ามภายในพรรคย่อมหยิบความล้มเหลวมาขย่มต่อ 

 และผลการเลือกตั้งครั้งนี้มันก็ยังทำให้พรรคพลังประชารัฐเองได้เรียนรู้ว่า พวกเขาขาด ‘บิ๊กตู่’ ไม่ได้ ความทะนงก่อนหน้านี้คงลดลงไปเยอะ. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลากไส้องค์กร'สีกากี'ยิ่งแฉยิ่งเละ ถึงเวลาปฏิรูปตำรวจกู้ภาพลักษณ์

เละ! ตายตามกันไปข้าง ศึกภายในรั้ว “กรมปทุมวัน” ถึงแม้ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.และ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.จะถูกโยกไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี แต่ศึก “นอมินี” แทงฟันกันเลือดสาดไม่มีใครยอมใคร อย่างที่ ทีมทนาย “รองฯ โจ๊ก” เตือนก่อนที่ความขัดแย้งจะบานปลายมาจนถึงปัจจุบัน “ไม่ยอมตายเดี่ยว”

เดินหน้าแจกดิจิทัลวอลเล็ต หลังเพิ่มทางเลือกแหล่งเงิน

หลังเมื่อวันจันทร์ที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง” เปิดแถลงข่าวไทม์ไลน์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้านโยบายดังกล่าวต่อไป และจะสามารถแจกเงินให้ประชาชน 10,000 บาท ได้ภายในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ คือประมาณ ตุลาคม-ธันวาคม 2567

กางไทม์ไลน์‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ รัฐบาลได้‘ไฟเขียว’แจกเงิน?

โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท นโยบาย เรือธง ของพรรคเพื่อไทย โยกเยก ไร้ความชัดเจนตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ

ทักษิณรุกคอนโทรล พท. ยิ่งขยับ ยิ่งเข้าทาง ก้าวไกล

การเดินทางเข้าพรรคเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะ เจ้าของพรรค-หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตัวจริง วันอังคารที่ 26 มี.ค.นี้ ถ้าไม่มีการยกเลิกเสียก่อน แต่ก็พบว่า กระแสข่าวดังกล่าวค่อนข้างคอนเฟิร์มว่าทักษิณไปแน่

สภาสูงVSเศรษฐา เปิดแผนสว.จัดทัพถล่ม

ระเบิดศึกการเมือง “สมาชิกวุฒิสภาVSรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” กันในวันจันทร์ที่ 25 มีนาคมนี้แล้ว เพราะจะเป็นการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาญัตติให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153

ลายแทงอำนาจหลังศึก'สีกากี' ชิงจัดทัพเก้าอี้ตำรวจ-ทหาร

หลังจากนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเด้ง บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล