การประชุมวุฒิสภาวันอังคารที่ 18 มีนาคม มีวาระการประชุมที่น่าสนใจคือ การโหวต
"ให้ความเห็นชอบ-ไม่ให้ความเห็นชอบ"
ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาที่มี นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน
2 ชื่อดังกล่าวก็คือ 1.ศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย ดร.สิริพรรณเข้ารอบสุดท้ายแบบไม่ยากเย็น เพราะกรรมการสรรหาเทเสียงเอกฉันท์ 8 เสียง ให้สิริพรรณเข้าวินม้วนเดียวจบ
2.ชาตรี อรรจนานันท์ อดีตเอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ โดยชื่อนี้กรรมการสรรหาต้องโหวต 3 รอบ ถึงจะผ่านเข้ารอบ
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่วุฒิสภาจะเริ่ม ประชุมลับ เพื่อพิจารณารายงานการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรม ที่มีทั้งแบบเปิดเผย และ เอกสารลับที่สุด คาดว่าจะมี สว.บางส่วน โดยเฉพาะ สว.พันธุ์ใหม่ อภิปรายในที่ประชุมเพื่อขอให้วุฒิสภาเลื่อนโหวตตุลาการศาล รธน.ออกไปก่อน โดยอ้างเหตุผลว่า กระบวนการเลือก สว.ชุดปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบ-สอบสวนของ กกต.และดีเอสไอ จึงควรชะลอการลงมติจนกว่าการตรวจสอบจะเสร็จสิ้น
กระนั้นคาดว่า สว.ส่วนใหญ่อาจไม่เอาด้วย เพราะมองว่ากระบวนการของ กกต.และดีเอสไอใช้เวลาอีกนาน เผลอๆ อีกหลายปีกว่าเรื่องจะจบในชั้นศาล หากไม่โหวตวันอังคารนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่จะทำให้ สว.เสียโอกาสในการโหวตเห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระอื่นๆ รวมถึงอีกหลายองค์กรที่ให้อำนาจกับ สว. เช่น ศาล รธน.-ศาลปกครองสูงสุด-อัยการสูงสุด-กสทช. ที่ทั้งหมดอยู่ในช่วงที่ สว.ชุดปัจจุบันที่เหลือเวลาปฏิบัติหน้าที่อีกร่วม 4 ปี กว่าจะต้องโหวตลงมติ
เพราะอย่างการประชุมวุฒิสภาสมัยประชุมหน้า สว.ก็ต้องโหวตเห็นชอบ กรรมการ ป.ป.ช.ใหม่อีกถึง 3 คน ที่ผ่านการเลือกจากกรรมการสรรหาแล้ว และปีนี้ก็จะมี กกต.ครบวาระ 5 คน ต้องรับสมัคร-คัดเลือกใหม่ ส่งมาให้ สว.ชุดปัจจุบันโหวต
หากอังคารนี้ไม่โหวตตุลาการศาล รธน. ทาง สว.เกรงว่าอาจกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไป ไม่ให้โหวตทุกองค์กร ที่ไม่ต่างอะไรกับ มี ดาบในมือ-อำนาจพิเศษ แต่กลับไม่ใช้
ทำให้ดูแนวโน้ม สว.เสียงส่วนใหญ่อาจไม่ให้เลื่อนโหวต และจากนั้นจะเข้าสู่การประชุมลับ เพื่ออภิปรายเรื่องคุณสมบัติ-ประวัติ-พฤติกรรมทางจริยธรรมของ "สิริพรรณ-ชาตรี" ต่อไปว่าสมควรโหวตให้เข้าไปเป็นตุลาการศาล รธน.หรือไม่ พออภิปรายกันเสร็จ ก็ลงมติจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ทาง สว.หลายคนแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นการโหวตตุลาการศาล รธน.ครั้งแรกของ สว.ชุดปัจจุบัน
อีกทั้งพบว่า เริ่มมีการสร้างกระแสในโซเชียลมีเดีย ไม่ให้ สว.โหวตเห็นชอบ ดร.สิริพรรณ โดยอ้างว่าเคยร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในช่วงก่อนหน้านี้ ก็ทำให้ สว.หลายคน โดยเฉพาะ สว.สีน้ำเงินไปหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า ดร.สิริพรรณเคยร่วมลงชื่อแก้ 112 จริงหรือไม่ และเคยให้สัมภาษณ์เรื่องมาตรา 112 อย่างไรบ้าง
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า สว.สีน้ำเงินจะนำประเด็น ดร.สิริพรรณเห็นด้วยให้แก้มาตรา 112 ไปอภิปรายในที่ประชุมลับ และจะซักถาม กมธ.สอบประวัติ ว่าตอนที่เรียก ดร.สิริพรรณมาสัมภาษณ์ ได้ซักถามเรื่องดังกล่าวหรือไม่
โดยหาก สว.ส่วนใหญ่มองว่า ปมดังกล่าวไม่น่ามีปัญหาในเรื่องการเข้าไปเป็นตุลาการศาล รธน. เพราะเป็นความเห็นทางวิชาการ ก็ไม่แน่ อาจเทเสียงเห็นชอบให้ ดร.สิริพรรณก็ได้
ที่ก็มีรายงานว่า ดร.สิริพรรณได้ทำหนังสือชี้แจงเรื่องการเคยลงชื่อแก้ 112 กับ กมธ.สอบประวัติไว้แล้วเพื่อให้บรรจุอยู่ในเอกสารลับตอนประชุม โดยได้ชี้แจงว่า เป็นความเห็นเชิงวิชาการ
นอกจากนี้มีรายงานว่า สว.บางส่วนยังติดใจกรณี ดร.สิริพรรณแสดงความเห็นเรื่อง คำวินิจฉัยของศาล รธน.ในคดีเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวตอนถูกกรรมการสรรหาเรียกไปสัมภาษณ์
เพราะกรรมการสรรหาคนหนึ่งซักถามว่า การตีความเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตที่เป็นประจักษ์ ควรจะต้องพิจารณาตีความแบบแคบหรือแบบกว้าง และจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ชี้วัดเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
โดย ดร.สิริพรรณ กล่าวตอบตอนหนึ่งว่า “กรณีของท่านอดีตนายกรัฐมนตรีท่านเศรษฐา คิดว่ามีความย้อนแย้งกันพอสมควร กล่าวคือ ในด้านหนึ่งศาลใช้คำว่า ขาดความรอบคอบ แต่ว่าในที่สุดแล้ววินิจฉัยว่า ขาดความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งรู้สึกกังวล กล่าวคือ เป็นสิ่งที่คิดว่าการตีความเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเป็นเรื่องที่ควรจะต้องมีหลักการและมาตรฐานเดียวกันที่ชัดเจน”
ที่ก็มี สว.บางคนตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิดดังกล่าว หากโหวตให้ ดร.สิริพรรณเข้าไปเป็นตุลาการศาล รธน.จะเกิดปัญหาในการทำงานกับตุลาการศาล รธน.หลายคนหรือไม่ ทำให้ สว.บางส่วนจะซักถาม กมธ.สอบประวัติ ว่าได้ซักถาม ดร.สิริพรรณหรือไม่ว่า มีนิยามเรื่อง ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ อย่างไร เพื่อมาเป็นข้อมูลก่อนการโหวต
หากสุดท้าย ดร.สิริพรรณเข้าไปเป็นตุลาการศาล รธน. ก็จะทำให้เป็นตุลาการศาล รธน.ผู้หญิงคนที่ 2 ต่อจาก ศ.ดร.เสาวณีย์ อัศวโรจน์ อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
สำหรับในส่วนของ ชาตรี-อดีตเอกอัครราชทูต ก็มีกระแสข่าวออกมาว่า สว.สีน้ำเงินกำลังรอตัดสินใจว่า จะโหวตเห็นชอบหรือไม่ หลังก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า ชื่อของชาตรีแม้โปรไฟล์จะดี ภาพลักษณ์เป็นกลาง แต่ลือกันว่าชื่อนี้ ขั้วสีน้ำเงินไม่ได้สนับสนุนมากนัก เพราะเดิมทีลุ้นให้ สราวุธ ทรงศิวิไล อดีตอธิบดีกรมทางหลวง และสุรชัย ขันอาสา อดีต ผวจ.หลายจังหวัด เข้ารอบสุดท้าย แต่ชื่อไม่ผ่านกรรมการสรรหา เพราะเสียงส่วนใหญ่สุดท้ายเลือกทูตชาตรี
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ทั้ง 2 ชื่อข้างต้นรู้จักกับน้องชายคนดังซอยรางน้ำ ที่เคยมีตำแหน่งใหญ่ที่ ก.คมนาคม และ ก.มหาดไทย จึงทำให้เคยทำงานร่วมกันมาก่อน แต่เมื่อชื่อที่ต้องโหวตเป็นอดีตทูตชาตรี ทำให้ สว.สีน้ำเงินต้องรอตัดสินใจอีกครั้งว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ
โดยเรื่องนี้ สว.จะหารือกันนอกรอบ จันทร์ที่ 17 มี.ค. ระหว่างไปร่วมประชุมรัฐสภา รวมถึงอาจรอฟังสัญญาณพิเศษจากใครบางคนที่ สว.สีน้ำเงินเกรงใจ!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับแก๊ง 'พล.ต.อ.' ฉกข้อสอบ โยงเครือข่ายเว็บพนัน 'มินนี่'
ตำรวจไซเบอร์ นำโดย ไซเบอร์อรรถ-พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ยังคงเดินหน้าสนองนโยบายรัฐบาล น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร นายกฯ ในการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อย่างเข้มข้นทุกรูปแบบจนเป็นที่น่าพอใจ
กางตัวเลขเขี่ยภท. พท.ถูกรุมกินโต๊ะ?
กระแสข่าวปรับ ครม.เขี่ยพรรคภูมิใจไทยออกจากรัฐบาล และเตรียมดึงพรรคพลังประชารัฐมาเสียบแทน หรือสั่งสอน โดยริบโควตากระทรวงมหาดไทย
เครื่องบินรบ-เรือรบ-รถรบ ซื้อจากสหรัฐได้หรือไม่?
ในระหว่างที่ทีมของไทยกำลังเข้าคิวเจรจากำแพงภาษีกับสหรัฐ กระทรวง ทบวง กรมของไทยต้องทำตารางข้อมูลเพื่อนำเสนอว่ามีสินค้า หรือโครงการใดที่ไทยกำลังจัดหาจากสหรัฐ เพื่อให้เห็นภาพมูลค่าดุลการค้าสหรัฐ เป็นตัวช่วยในการเจรจาผ่อนปรนมาตรการกดดันทางภาษี
เขย่าเก้าอี้-ปล่อยสูตร ครม. คนใน (พท.) อยากปรับ สลับคนต่อแถว
กระแสข่าว ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถูกลือรายวัน แม้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ยืนยันหลายครั้งว่ายังไม่ปรับ
3ชนักติดหลัง'ทักษิณ' ชั้น14แพทยสภา-ป.ป.ช.ไต่สวน ขึ้นศาลคดี112ตัดสินปี69
ถึงตอนนี้ การแสดงบทบาททางการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร เห็นได้ชัดว่าต้องการสยายปีกไปถึงการสร้างพื้นที่การเมืองให้กับตัวเองในเวที
ผ่ายุทธศาสตร์‘กล้าธรรมนัส’ รักษาที่มั่น-ไม่ทับที่เพื่อไทย
‘พรรคกล้าธรรม’ ภายใต้แบรนด์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา ประธานที่ปรึกษาพรรค ซึ่งมี ‘อ.แหม่ม’ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่หัวหน้าพรรค เป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่เริ่มขยับเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง แม้จะยังเหลือระยะเวลาอีกนานกว่าจะถึงปี 70 ในกรณีที่รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อยู่เต็มเทอม