พ.ค.65 เลือกผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก. สิ้นสุดการแช่แข็ง 9 ปี

มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นตามมาทันที หลังเมื่อวันจันทร์ที่ 31 ม.ค. บิ๊กป๊อก-มท.1 พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา  รมว.มหาดไทย ชี้แจงไทม์ไลน์ปฏิทินการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อที่ประชุมวุฒิสภาว่า คณะรัฐมนตรีจะนำเรื่องกรอบเวลาการเลือกตั้งมาหารือกันในเดือนมีนาคม จากนั้นจะแจ้งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้กำหนดและประกาศวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะจัดภายในเดือน พ.ค.ปีนี้

ปรากฏว่าต่อมา ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ประชุมกันผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อวันอังคารที่ 1 ก.พ. มีการนำเรื่องดังกล่าวมาหารือกันแบบไม่เป็นทางการ แต่เป็นการยืนยันว่ารัฐบาลจะไฟเขียวให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เดือน พ.ค.นี้แน่นอน

 โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม.ว่า ในที่ประชุม พล.อ.อนุพงษ์ได้แจ้งถึงขั้นตอนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ตามที่ได้รายงานต่อ ส.ว.เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ว่า เดือน มี.ค.จะมาแจ้งให้ ครม.ทราบถึงการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อย่างเป็นทางการ เมื่อเรื่องถึง ครม.และ ครม.เห็นชอบแล้ว ก็ถือว่าเข้าเกณฑ์ทางกฎหมายที่จะมีการเลือกตั้ง กทม. ซึ่งอาจจะพร้อมกับเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา หลังจากนั้น กกต.จะไปกำหนดวันเลือกตั้ง

"จะนับหนึ่งจากการรายงาน ครม.อย่างเป็นทางการเดือน มี.ค. จากนั้นจะนับสองเมื่อ กกต.ประกาศวันรับสมัครและวันเลือกตั้ง ที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ค. ซึ่งจะทำพร้อมกับการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครหรือ ส.ก."

หากดูตามนี้ พ.ค.ปีนี้คนกรุงเทพฯ จะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แน่นอนแล้ว หลังคนเมืองกรุงได้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมีนาคม 2556 เท่ากับว่าหากมีการเลือกตั้งเดือน พ.ค.ปีนี้ ก็จะเป็นการเลือกตั้งในรอบ 9 ปี!

ทำให้คาดได้ว่า เมื่อเริ่มการคิกออฟการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. การหาเสียง-ความตื่นตัวของคนกรุงเทพฯ ต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ในรอบ 9 ปี จะมีความคึกคักแน่นอน หลังมีการแช่แข็งไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มานานหลายปี

ทั้งนี้ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ที่จะเกิดขึ้น จะเป็นการเลือกตั้งตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2562 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร  (พ.ร.บ.กทม.) ฉบับปี 2528 โดยแก้ไขในยุครัฐบาล คสช.ในประเด็นต่างๆ เช่น คุณสมบัติของผู้จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม., เรื่องการเลือก ส.ก. ตลอดจนมีการตัดเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ออกไป

โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ เช่น คนที่จะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.จะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานครอย่างน้อย 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง ที่เป็นการแก้ไขกฎหมายจากของเดิมที่ให้แค่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแค่ 90 วันก็ลงได้แล้ว

ซึ่งประเด็นดังกล่าว เคยเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ ก่อนหน้านี้ที่พรรคพลังประชารัฐ พยายามทาบทาม ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี หรือผู้ว่าฯ หมูป่า ให้มาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคพลังประชารัฐ แต่นายณรงค์ศักดิ์ไม่ค่อยอยากลงสมัคร เพราะอยากรับราชการจนเกษียณ และจุดสำคัญที่ทำให้ลงไม่ได้ก็คือ เรื่องคุณสมบัติ ที่แม้จะเติบโต มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพฯ มาก่อนหน้านี้ แต่พบว่าไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดิมเป็นเวลาติดต่อกัน 1 ปี  

 สำหรับการเลือกตั้ง ส.ก.รอบนี้จะมีด้วยกัน  50 เขต ซึ่งจำนวนสมาชิกสภา กทม. กำหนดให้แต่ละเขตมีจำนวนสมาชิกสภา กทม. 1 คน ต่อประชากร 1.5 แสนคน หากเศษของราษฎร 1.5 แสนคนนั้นเกิน 7.5 หมื่นคน ให้มีสมาชิกสภา กทม.เพิ่มอีก 1 คน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ส่วนเรื่องสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานครหรือ ส.ข. นั้น ปัจจุบัน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ มาตรา 24 บัญญัติว่ายังไม่ให้มี ส.ข.จนกว่าจะมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ โดยไม่ได้มีรายละเอียดในส่วนนี้มากนัก จึงทำให้มีแนวโน้มที่กรุงเทพมหานครจะไม่มี ส.ข.ไปอีกช่วงหนึ่ง หลังมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ในเดือน พ.ค.ไปแล้ว  หรือไม่แน่อาจตลอดไปเลยก็ได้ เพราะหลายคนมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมี ส.ข.ให้สิ้นเปลืองงบประมาณด้านต่างๆ ของ กทม.ก็ได้

เมื่อตรวจลิสต์รายชื่อพรรคการเมือง และคนที่จะลงสมัครชิงผู้ว่าฯ กทม.แบบอิสระที่เปิดตัวแล้ว ก็มีเช่น ชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ แต่พรรคเพื่อไทยหนุนหลัง, ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ที่ลงในนามพรรคก้าวไกล, รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม.ที่ลงอิสระ, พ.ท.หญิง  ฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล (ผู้พันปราง) อดีต ส.ส.ปชป. ลูกสาวของสุขวิช รังสิตพล อดีต รมว.ศึกษาธิการ เป็นต้น

ส่วนที่มีข่าวกำลังรอตัดสินใจ แต่แนวโน้มน่าจะลงแน่นอน ก็คือ สองบิ๊กเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร ที่จะต้องมาแข่งกันเองคือ บิ๊กวิน-พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ที่ตอนนี้ฟอร์มทีมหาเสียงและทีม ส.ก.ของตัวเองไว้หมดแล้วในนามกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ และสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. ที่อาจจะลงอิสระหรือในนามพรรคการเมืองตั้งใหม่

แต่ที่หลายคนจับตาก็คือ พลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลและพรรคที่มี ส.ส.เขต กทม.มากที่สุด ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 คือ 12 คน แต่ปัจจุบันเหลือ 11 คนหลังแพ้เลือกตั้งซ่อมที่หลักสี่ฯ หลังก่อนหน้านี้มีชื่อออกมาหลายชื่อว่าจะลงในนามพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร., พล.ต.อ.อัศวิน, นายณรงค์ศักดิ์ ผวจ.ปทุมธานี จนมาถึงล่าสุด อนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์  พรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งเป็นอดีตเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. ที่เป็นหนึ่งในนายทุนใหญ่พรรค แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนออกมา

นับถอยหลังศึกเลือกตั้ง ชิงเก้าอี้ บิ๊กเสาชิงช้า-ผู้ว่าฯ เมืองหลวง แม้อาจจะเหลือเวลาอีก 3 เดือนกว่า หากเลือกตั้งกันเดือน พ.ค. แต่เห็นชัดมาแต่ไกล ศึกนี้ เข้มข้น หาเสียงกันสนุกตั้งแต่เริ่มเป่านกหวีดการแข่งขัน.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

7 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เผชิญแรงบีบรอบด้าน!

แม้จะยังไม่ผ่านโค้งแรกในการบริหารประเทศของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เริ่มต้นทำงานได้เพียง 7 เดือน แต่ก็เหมือนถูกบีบจากสถานการณ์รอบด้าน ที่เข้ามาท้าทายความสามารถของผู้นำประเทศ อีกทั้งยังมีภาพนายกฯ ทับซ้อนที่ทำให้นายกฯ นิดดูดร็อปลงไป

'ทักษิณ' เอฟเฟกต์! ส่อทำการเมืองไทยวนลูปเดิม

ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีประเด็นข่าวร้อนแรงมากมายแค่ไหน แต่มีบุคคลหนึ่งที่ถ้าอยู่ในหน้าข่าวเมื่อไหร่ มักจะสร้างประเด็นดรามาที่ต้องพูดถึงไม่หยุดกับพ่อใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร

สว.2567 เสี่ยงได้ วุฒิสภา สายพรรคการเมือง เชื่อมโยงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

เข้าสู่ช่วงเตรียมนับถอยหลังใกล้โบกมือลา สิ้นสุดการทำหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่

หาก ‘ไผ่’ วืด ‘เบนซ์’ เต็งหนึ่งรมต. เสียบแทน ‘โควตากลาง’ พปชร.

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจว่าคุณสมบัติของ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ยังนั่งเป็นรัฐมนตรีได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับคำร้อง กรณีนายไผ่ขอร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถูก 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ละเมิดจนไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ กรณีระบุว่า ขาดคุณสมบัติ

ครม.เศรษฐา 2 ทักษิณเคาะโผ ฉากทัศน์กองทัพยุค "บิ๊กนิด"

ชัดเจนแล้วว่า ครม.เศรษฐา 2 ที่จะเป็นการปรับ ครม.ครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะเกิดขึ้นแน่นอน โดยคาดว่า อาจจะเกิดขึ้นภายในปลายเมษายนนี้ หรือช้าสุดไม่เกินกลางเดือน พ.ค. เว้นแต่มีสถานการณ์แทรกซ้อนทำให้การปรับ ครม.อาจขยับออกไปได้

ลดความเสี่ยง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ปรับ ครม.เค้นผลงานรัฐบาล

เรือธง ล้มไม่ได้ เพราะมีผลต่อเครดิตของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออนาคต สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท