
วันศุกร์ที่ 4 มีนาคมนี้ เวลา 14.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดฟังการอ่านคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ ใน คดีทุจริตการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่ วัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 195 ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลฎีกา เมื่อ 24 ก.ย.2563 ที่ตัดสินจำคุกวัฒนา เพราะกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ รวมความผิด 11 กระทง กระทงละ 9 ปี รวม 99 ปี แต่คงจำคุกจริง 50 ปี ซึ่งศาลฎีกา ได้ตัดสิน และต่อมาศาลฎีกาให้ประกันตัววัฒนา โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 10 ล้านบาท
อันเป็นคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนายวัฒนากับพวกรวม 14 ราย เป็นจำเลยในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
ซึ่งจำเลยในคดีดังกล่าวที่ดังๆ นอกจากวัฒนา ก็มีเช่น อภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักโทษคดีทุจริตจำนำข้าว ที่ก็ถูกตัดสินจำคุกในคดีบ้านเอื้ออาทรเช่นกัน โดยคำพิพากษาของศาลฎีการะบุว่า เสี่ยเปี๋ยงได้อ้างว่าเป็นที่ปรึกษาให้กับนายวัฒนาขณะเป็น รมว.การพัฒนาสังคมฯ แบบไม่เป็นทางการ ที่ศาลฎีกาตัดสินว่ามีความผิด 11 กระทง กระทงละ 6 ปี รวม 66 ปี จำคุกจริง 50 ปี เพราะมีหลักฐานเส้นทางการเงินและมีพฤติการณ์จากคำให้การของพยานที่เป็นนักธุรกิจที่เข้าไปรับงานการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรว่าถูกเสี่ยเปี๋ยงและพวกเรียกรับเงินค่าตอบแทนเพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้บริษัทเอกชนได้รับสัญญาการก่อสร้างจากการเคหะแห่งชาติให้ก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร โดยมีการทำเป็นขบวนการกับจำเลยอีกบางคนในคดีนี้ โดยมีการรับเงินทั้งที่เป็นเงินสดและโอนเป็นเช็คเข้าบัญชีหลายทอดเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบเส้นทางการเงิน เช่น มีการนัดมอบเงินสดๆ หลายล้านบาท จากบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ โดยพบว่าเสี่ยเปี๋ยงและพวกเจรจาเรียกรับเงินค่าตอบแทนกับบริษัทเอกชนรวม 11 บริษัท และพบว่าการจ่ายเงินดังกล่าว บางบริษัทใช้วิธีลงบัญชีรายรับ-รายจ่ายของบริษัทว่า เป็นค่าตอบแทนในการว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ โดยในชั้นสอบสวนมีการกันบริษัทเอกชนที่ให้เงินดังกล่าวไว้เป็นพยานเพื่อมัดตัวการใหญ่อย่างเสี่ยเปี๋ยง
นอกจากนี้ก็ยังมี อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีตแกนนำ นปช.-อดีต ส.ส.ไทยรักไทย ที่ตอนนี้หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ ที่เคยเป็นข้าราชการการเมืองในกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มาก่อน โดยในคำพิพากษาของศาลฎีการะบุตอนหนึ่งว่า นายอริสมันต์ได้เดินทางไปพบกับผู้บริหารบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่ง โดยมีการบอกว่าจะช่วยให้บริษัทได้รับสัญญาก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร โดยขอค่าตอบแทนเป็นเงินหลายสิบล้านบาท แต่ตกลงกันไม่ได้ และมีการปรับลดเงินลงมา และต่อมาพบเส้นทางการเงินว่ามีการจ่ายเช็คจากบริษัทดังกล่าวให้กับคนใกล้ชิดของอริสมันต์ หลังบริษัทได้รับสัญญาการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร แต่ตอนสู้คดี ฝ่ายอริสมันต์อ้างว่าเป็นค่านายหน้าขายที่ดิน ไม่ใช่เงินสินบน เป็นต้น
ซึ่งพบว่าพฤติการณ์เครือข่ายทุจริตบ้านเอื้ออาทรมีการวางแผนการรับเงิน-โอนเงินหลายทอดมาก เช่น บางรายขบวนการดังกล่าวให้บริษัทเอกชนโอนเงินสินบนเงินเข้าบัญชี ร้านอาหารชื่อดังแห่งหนึ่งที่มีชื่อนำหน้าเป็นภาษาอังกฤษ จากนั้นเจ้าของร้านอาหารดังกล่าวก็ทำการโยกย้ายเงินออกจากบัญชีไปยังบัญชีเครือข่ายในเวลาอันรวดเร็ว
ส่วนการลงโทษจำคุก วัฒนา เมืองสุข พบว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาก็ลงไว้โดยละเอียดในลักษณะมองว่า เครือข่ายดังกล่าวที่ศาลฎีกาเห็นว่ามีการกระทำในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการ โดยที่อภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง มีการอ้างเรื่องการเป็นที่ปรึกษาของนายวัฒนา ขณะเป็น รมว.การพัฒนาสังคมฯ ไปเจรจาเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทเอกชน อย่างไรก็ตาม ในคำพิพากษาของศาลฎีกาก็ไม่ได้ระบุว่า พบเส้นทางการเงินมีการโอนเงินเข้าบัญชีนายวัฒนา หรือคนใกล้ชิดแต่อย่างใด
ซึ่งเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา วัฒนา ใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการแถลงปิดคดีต่อศาลฎีกา โดยได้แถลงปิดคดีด้วยการต่อสู้ในประเด็นที่ว่า คดีนี้เป็นการฟ้องเกินกว่าข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. และก่อนหน้านี้ศาลไม่วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องหรือกระทำความผิดอย่างไร ข้อเท็จจริงหลายเรื่องไม่เป็นความจริง เช่น การสั่งจ่ายเช็ค โดยอ้างว่านำไปให้ผู้ใหญ่ เพื่อตอบแทนการอนุมัติให้เซ็นสัญญาไม่ได้เกิดขึ้นสมัยที่เป็นรัฐมนตรี ประกอบกับ ปปง.ตรวจสอบเส้นทางการเงินแล้วไม่พบความผิดปกติ รวมทั้งยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับเสี่ยเปี๋ยง ที่อ้างเป็นที่ปรึกษาของตนเอง
ก่อนหน้านี้เมื่อ 19 ก.พ.2565 วัฒนา เมืองสุข โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยยืนยันว่า จะไม่หนีคดี แน่นอน
"วันที่ 4 มีนาคม เวลา 14.00 นาฬิกา ผมจะไปศาลเป็นคนแรกเพื่อตามหาความยุติธรรมที่ผมรอมา 15 ปีแล้ว"
ทั้งนี้ นับแต่มีการตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมา พบว่าการอุทธรณ์คดีหลังศาลฎีกาตัดสิน คำอุทธรณ์ส่วนใหญ่ของจำเลยหรือผู้ต้องคำพิพากษา จะไม่ได้รับการพิจารณาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เนื่องจากรัฐธรรมนูญในอดีตคือรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้บัญญัติไว้ว่า "ในกรณีที่ผู้ต้องคำพิพากษามีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้"
ซึ่งบทบัญญัติเดิมของรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำให้คดีส่วนใหญ่ที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ ไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกา เพราะองค์คณะของศาลฎีกาเห็นว่าคำอุทธรณ์หรือข้อต่อสู้ของผู้ต้องคำพิพากษาไม่ได้เป็นพยานหลักฐานใหม่แต่อย่างใด เช่น คดียึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท ของทักษิณ ชินวัตร ที่ทีมทนายความทักษิณเคยยื่นอุทธรณ์เช่นกัน แต่ศาลฎีกาไม่รับพิจารณา
แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 195 มีการลดทอนความเข้มข้นดังกล่าวลง โดยไม่ได้บัญญัติเรื่องว่าต้องมีพยานหลักฐานใหม่ โดยบัญญัติแค่ว่า ให้จำเลยสามารถอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา
การอ่านคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ของศาลฎีกา ในคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร วันที่ 4 มี.ค.นี้ นอกจากเป็นเดิมพันชีวิตของ วัฒนา เมืองสุข นักการเมืองคนดังแล้ว หากสุดท้าย ถ้าผลการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาแตกต่างไปจากตอนตัดสินคดีเดียวกันนี้ เมื่อปี 2563 ก็จะเป็นเรื่องที่ต้องถูกพูดถึงตามมาอย่างมากแน่นอน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชั้น 14 ป่วยทิพย์ รูปคดี "ศาลฎีกา-ศาลปกครองฯ" ทำ “ทักษิณ” นั่งไม่ติด
ปมตรวจสอบ ชั้น 14 ป่วยทิพย์ ทักษิณ ชินวัตร ที่หลายฝ่ายกำลังเฝ้าติดตามว่า การสอบสวน-ไต่สวนขององค์กรอิสระ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ แพทยสภา องค์กรวิชาชีพของแพทย์ทั่วประเทศจะออกมาอย่างไร?
พท.-ภท.ไปกันต่อ ปี70แดงจับมือส้ม?
กระแสข่าวปรับ ครม.เขี่ยพรรคภูมิใจไทยออกจากรัฐบาล และเตรียมดึงพรรคพลังประชารัฐมา เสียบแทน รวมถึงกระแสสั่งสอนโดยริบโควตากระทรวงมหาดไทย
จับแก๊ง 'พล.ต.อ.' ฉกข้อสอบ โยงเครือข่ายเว็บพนัน 'มินนี่'
ตำรวจไซเบอร์ นำโดย ไซเบอร์อรรถ-พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ยังคงเดินหน้าสนองนโยบายรัฐบาล น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร นายกฯ ในการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อย่างเข้มข้นทุกรูปแบบจนเป็นที่น่าพอใจ
กางตัวเลขเขี่ยภท. พท.ถูกรุมกินโต๊ะ?
กระแสข่าวปรับ ครม.เขี่ยพรรคภูมิใจไทยออกจากรัฐบาล และเตรียมดึงพรรคพลังประชารัฐมาเสียบแทน หรือสั่งสอน โดยริบโควตากระทรวงมหาดไทย
เครื่องบินรบ-เรือรบ-รถรบ ซื้อจากสหรัฐได้หรือไม่?
ในระหว่างที่ทีมของไทยกำลังเข้าคิวเจรจากำแพงภาษีกับสหรัฐ กระทรวง ทบวง กรมของไทยต้องทำตารางข้อมูลเพื่อนำเสนอว่ามีสินค้า หรือโครงการใดที่ไทยกำลังจัดหาจากสหรัฐ เพื่อให้เห็นภาพมูลค่าดุลการค้าสหรัฐ เป็นตัวช่วยในการเจรจาผ่อนปรนมาตรการกดดันทางภาษี
เขย่าเก้าอี้-ปล่อยสูตร ครม. คนใน (พท.) อยากปรับ สลับคนต่อแถว
กระแสข่าว ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถูกลือรายวัน แม้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ยืนยันหลายครั้งว่ายังไม่ปรับ