'กอบศักดิ์' ชี้ญี่ปุ่นเลือกกดดอกเบี้ย-ค่าเงิน เป็นหนทางสู่วิกฤต

25 ต.ค. 2565 -ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์ข้อความ ผ่านเฟสบุ๊ก Kobsak Pootrakool ระบุว่า

หนทางสู่วิกฤตของญี่ปุ่น !!!!

ถ้าทางการญี่ปุ่นยังเลือกที่จะเดินตามแนวทางปัจจุบัน

กดดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไว้ให้ต่ำ เพื่อช่วยรัฐบาลที่มีหนี้มาก

กดค่าเงินไว้ไม่ให้อ่อนไปกว่านี้

ทั้งหมด คงจบลงด้วยการเกิดวิกฤต

ที่จะเป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่า ในเชิงเศรษฐศาสตร์ 3 สิ่งที่อยู่ด้วยกันแล้วจะเป็นเรื่อง ก็คือ ค่าเงินที่คงที่ ดอกเบี้ยที่เลือกกำหนดตามใจฉัน และเงินทุนที่ไหลอย่างอิสระ (Free Flow of Capital)

ทฤษฎีนี้เรียกว่า Impossible Trinity หรือ “สามเป็นไปไม่ได้” ซึ่งถูกคิดค้นโดย Robert Mundell นักเศษฐศาสตร์รางวัลโนเบล และ John Fleming เมื่อช่วงปี 1960-1963

ประเทศไหนก็ตามที่พยายามจะทำใน 3 สิ่งนี้พร้อมๆ กัน ปัญหาก็จะตามมา

โดยประเทศที่มีค่าเงินคงที่ แต่อยากจะกดดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ เงินจะไหลออกจากประเทศ จากดอกเบี้ยต่ำ ไปหาประเทศที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า นำมาซึ่งเงินสำรองที่จะหร่อยหรอลงจนสุดท้าย ก็เกิดวิกฤตค่าเงิน

หรือประเทศที่กดดอกเบี้ยไว้ต่ำกว่าคนอื่น แต่อยากตรึงค่าเงินไว้ ณจุดใดจุดหนึ่ง สุดท้ายก็จะประสบปัญหาเดียวกัน คือเงินไหลออก นำไปสู่แรงกดดันต่อค่าเงินที่ตรึงไว้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สุดท้ายเงินสำรองก็หร่อยหรอ และสุดท้ายก็ไม่สามารถคงค่าเงินไว้ได้ กลายเป็นวิกฤตเช่นกัน

สิ่งที่ทางการญี่ปุ่นทำขณะนี้ ก็คือเรื่องนี้

1.โลกที่ญี่ปุ่นอยู่ คือโลกของเงินที่ไหลเวียนอย่างอิสระ

2.อีกด้าน การที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีหนี้ภาครัฐเยอะมาก สูงถึง 264% ของ GDP ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่ เป็นหนี้ในประเทศ ทำให้ทางการญี่ปุ่นซึ่งขาดดุลการคลังอยู่แล้วถึง 8% ของ GDP และมีภาระดูแลสังคมผู้สูงวัย อ่อนไหวกับอัตราดอกเบี้ยในประเทศอย่างยิ่ง
ไม่น่าแปลกใจ ที่แบงก์ชาติญี่ปุ่นจึงมีหน้าที่พิเศษอีกอย่าง ก็คือ ต้องพยายามช่วยกดดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลของญี่ปุ่นเอาไว้ โดยดูแลดอกเบี้ยใน Yield Curve ของญึ่ปุ่นที่อายุช่วง 7-10 ปีลงมา ให้ปรับตัวขึ้นไม่มาก เพียงแค่ 0.25% เท่านั้น ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แบงก์ชาติญี่ปุ่น ได้ประกาศโครงการรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ต้องประกาศ Emergency Bond Buying Program อีก 2.5 แสนล้านเยน

3.ค่าเงิน จากเดิมที่ญี่ปุ่นเคยปล่อยให้ค่าเงินเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด แต่เนื่องจากช่วงนี้ค่าเงินเยนได้อ่อนค่าลงต่อเนื่อง อ่อนสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 30 กว่าปี ทางการญี่ปุ่นจึงเริ่มกังวลใจ และเริ่มเข้าแทรกแซงค่าเงินไม่ให้อ่อนไปกว่านี้ ซึ่งตอนนี้ พยายามขีดเส้นไว้ที่ประมาณ 150 เยน/ดอลลาร์

ซึ่งในเรื่องนี้ หากทางการญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการตรึงค่าเงินไว้ที่ 150 เยน/ดอลลาร์ ตามที่ตั้งใจได้ ระบบค่าเงินเยนก็จะทำตัวเหมือนอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ หรือใกล้เคียงกับระบบดังกล่าว

ทั้งหมดจะทำให้ญี่ปุ่นเข้าเงื่อนไขของทฤษฎี “สามเป็นไปไม่ได้” หรือ Impossible Trinity

และหมายความต่อไปว่า ถ้ายังคงเดินไปตามทางนี้ เงินดอกเบี้ยต่ำในญี่ปุ่น ก็จะไหลออกไปหาเงินดอกเบี้ยสูงในสหรัฐ โดยมีทางการญี่ปุ่นช่วยดูแลความเสี่ยงเรื่องค่าเงินให้

เงินที่ไหลออก ก็จะกดดันต่อค่าเงินเยน และทำให้เงินสำรองที่ญี่ปุ่นมีอยู่ 1.24 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากที่สุดของโลก จะเริ่มค่อยๆ ถูกตอดออกไป ซึมออกไป ลดลงเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ยังจะเป็นเป้าการโจมตีเป็นระลอกๆ

ทำให้เงินสำรองลดลงถึงระดับที่น่ากังวลใจ และนำมาซึ่งวิกฤตในที่สุด

ก็ได้แต่หวังว่า ทางการญี่ปุ่นจะเปลี่ยนใจ

เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง “คงดอกเบี้ยไว้ต่ำ” หรือ “รักษาค่าเงินเยนไม่ให้อ่อนไปกว่านี้”

เพราะสงครามกับนักเก็งกำไร มักจะจบไม่ดี

โดยเฉพาะสำหรับประเทศเปราะบาง และมีจุดอ่อนอยู่ภายใน

มักจะแพ้สงครามดังกล่าว จากเงื่อนไขที่ถูกมัดมือไว้

ยิ่งเมื่อฉลามได้กลิ่นเลือด ฝูงฉลามจะพากันมาเยือน

ทำให้เงินที่คิดว่ามีมาก มี Unlimited ก็อาจจะไม่พอได้เช่นกัน

ขอเป็นกำลังใจให้ญี่ปุ่นครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ปาฐกถาพิเศษ 1 ชม. พูดเรื่องธุรกิจอสังหาฯ ในฐานะนายกฯ รับสับสนนิดหน่อย

“เศรษฐา” ร่ายยาวเกือบ 1 ชม. เหน็บบางคนนั่งทางในบนหอคอย ลองลงมามือเปื้อนดินตีนเปื้อนโคลนบ้าง โวคนไทยโชคดีที่มีนายกฯ Pro Business พ้อ รมว.คลัง ไม่มีอำนาจลดดอกเบี้ย ทั้งที่แพงโคตร ลั่นไม่เคยเลียรองเท้าบูธ ขอคืนพื้นที่ทหาร