ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดคนกรุงออกมาจับจ่ายช่วงปีใหม่เงินสะพัด 30,900 ล้าน

23 ธ.ค. 2565 – ด้วยสถานการณ์การฟื้นตัวด้านรายได้ที่ยังเปราะบางและภาวะค่าครองชีพสูง กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ยังต้องวางแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่กลับมาทำกิจกรรมนอกบ้านและเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งช่วงเทศกาลต่างๆ ที่ผ่านมาในครึ่งหลังของปี 2565 ก็กลับมามีการจัดงานเฉลิมฉลองตามปกติ สอดคล้องไปกับผลการสำรวจ ที่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับการฉลองเทศกาล โดยอาจจัดสรรค่าใช้จ่ายบางส่วนเพิ่มเติมจากค่าใช้จ่ายปกติสำหรับทำกิจกรรมในช่วงเทศกาลภายใต้งบประมาณที่จำกัด

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มูลค่าการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงปีใหม่ 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยเฉพาะ คนกรุงเทพฯ มีแผนเลี้ยงสังสรรค์ในช่วงเทศกาลปีใหม่มากที่สุด โดยกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งเลือกไปสังสรรค์ที่ร้านอาหาร (56%) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากมีแผนเดินทางท่องเที่ยว/ทำกิจกรรมนอกบ้าน และจัดสรรค่าใช้จ่ายเพื่อสังสรรค์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงวันส่งท้ายปีเก่าและวันขึ้นปีใหม่ แม้ว่าสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงปลายปี แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นด้านมาตรการสาธารณสุข เพิ่มการป้องกันตนเอง และเลือกร้านอาหารที่มีการจัดพื้นที่ส่วนตัว มีระบบการจองคิวล่วงหน้า เป็นต้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่เลือกปรุงอาหารรับประทานที่บ้าน มีสัดส่วนรองลงมา (43%) เพราะมีความสะดวกและเลือกซื้อวัตถุดิบได้ตามงบประมาณ

แรงหนุนจากมาตรการช้อปดีมีคืน (มาตรการฯ) สำหรับการใช้จ่ายในช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2566 ครอบคลุมเทศกาลปีใหม่ อาจมีผลในการกระตุ้นการช้อปปิ้งซื้อสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป วางแผนจะเพิ่มงบประมาณการซื้อสินค้าเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20% จากค่าใช้จ่ายช้อปปิ้งในช่วงเวลาปกติที่ไม่มีมาตรการฯ แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคเลื่อนจังหวะการซื้อสินค้ามาให้ตรงกับช่วงมาตรการฯ เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ควบคู่ไปกับการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย/ส่วนลดในช่วงเทศกาล ในกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคยังเลือกซื้อ ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่กลุ่มตัวอย่างมีแผนจะเลือกซื้อเพิ่มขึ้นตามเทรนด์การดูแลสุขภาพ

นอกจากนี้ ผลการสำรวจพบว่า การใช้จ่ายในกิจกรรมสันทนาการ เช่น คอนเสิร์ต งานเทศกาล และค่าใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการผ่อนคลายมาตรการสาธารณสุขในประเทศ นโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวของหลายประเทศ และความสะดวกในการเดินทาง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เม็ดเงินการใช้จ่ายรวมของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 30,900 ล้านบาท ขยายตัว 10.5% (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการกลับมาทำกิจกรรมและเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นจากช่วงปีใหม่ปีที่แล้วซึ่งมีการระบาดของโอมิครอน ประกอบกับแรงหนุนส่วนหนึ่งจากมาตรการช้อปดีมีคืนที่อาจช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลางถึงสูงที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่จะจัดสรรงบประมาณเฉพาะเพื่อการเฉลิมฉลองในช่วงเวลาจำกัด 4 วัน ของวันหยุดปีใหม่ (30 ธันวาคม 2565 – 2 มกราคม 2566) และกลับมาวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุมหลังช่วงเทศกาล เนื่องจากยังมีความกังวลด้านค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูงส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค

ทั้งนี้ เม็ดเงินการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ 2566 ของคนกรุงเทพฯ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเทศกาล
ปีใหม่ 2561 (ก่อนการระบาดของโควิด-19) แต่การขยายตัวในปีนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำของเทศกาลปีใหม่ 2565 ประกอบกับผลของราคาสินค้าบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่คนกรุงเทพฯ กลับมาทำกิจกรรมตามปกติเพราะโควิด-19 คลี่คลายลง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์วิจัยกสิกร คาดดิจิทัลวอลเล็ต ดันยอดขายค้าปลีกโต 1%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแพร่บทวิเคราะห์ โครงการ Digital Wallet โดยชี้ จะส่งผลต่อยอดค้าปลีกมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดพื้นที่ และประเภทร้านค้า นอกเหนือจากประเด็นทางด้านกฎหมาย รวมถึงระบบใช้งานของแอปพลิเคชัน ที่ยังต้องรอติดตามว่า จะใช้ที่ไหน อย่างไร? ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ อาจส่งผลต่อร้านค้าปลีก และพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคที่ต่างกัน ดังนี้