พาณิชย์เผยส่งออกม.ค.66 ลดลง 4.5% มูลค่าต่ำสุดรอบ 23 เดือน

ส่งออกม.ค.66 ทำได้มูลค่า 20,249.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.5% ขยายตัวติดลบ 4 เดือนติดต่อกัน มูลค่าต่ำสุดรอบ 23 เดือน เหตุเงินเฟ้อคู่ค้าพุ่ง ทำกำลังซื้อลด และการผลิตโลกหดตัว แต่หลายสินค้ายังส่งออกได้ดี ทั้งข้าว ไก่ ผลไม้ รถยนต์ ประเมินครึ่งปี 66 ส่งออกยังชะลอตัว หรือลดลง แต่ครึ่งปีหลัง ดีขึ้น มั่นใจเป้า 1-2% ยังทำได้ แจงยอดนำเข้าพุ่ง 2.48 หมื่นล้านเหรียญ เพิ่ม 5.5% เป็นการนำเข้าน้ำมันที่มีราคาสูงขึ้น และมีสัดส่วน 21% ของนำเข้าทั้งหมด อีก 60% เป็นสินค้าทุนและวัตถุดิบ เผยเดือนนี้ ขาดดุลการค้า 4,649.6 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดในรอบ 10 ปี

3 มี.ค. 2566 – นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนม.ค.2566 มีมูลค่า 20,249.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.5% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 700,127 ล้านบาท โดยการส่งออกที่ลดลง มาจากการลดลงของสินค้าเกษตร 2.2% สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลด 3.3% และสินค้าอุตสาหกรรม ลด 5.7% และยังได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศคู่ค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อ และการผลิตโลกหดตัว ทำให้มีการนำเข้าลดลง

ทั้งนี้ แม้การส่งออกจะลดลง แต่สินค้าสำคัญหลายตัว ยังคงส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ข้าว เพิ่ม 72.3% ไขมันจากพืชและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เพิ่ม 124% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 50% ผลไม้สด เพิ่ม 2.5% โดยทุเรียนสด เพิ่ม 53.3% มะม่วงสด เพิ่ม 21.9% มังคุดสุด เพิ่ม 821% ส่วนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 7.6% ยางพารา ลด 37.6% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ลด 4.8% น้ำตาลทราย ลด 2.3% ไก่แปรรูป ลด 2.2% อาหารสัตว์เลี้ยง ลด 11%

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ที่กลับมาเพิ่ม 9.2% อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด เพิ่ม 72.3% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เพิ่ม 16.4% หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่ม 44.9% เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เพิ่ม 47.1% ส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ลด 21.2% ผลิตภัณฑ์ยาง ลด 8.2% อัญมณีและเครื่องประดับ ลด 3.8% เม็ดพลาสติก ลด 30% เคมีภัณฑ์ ลด 17.6%

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ ภาพรวมยังคงลดลง โดยตลาดหลักลด 5.3% เช่น สหรัฐฯ ลด 4.7% จีน ลด 11.4% ญี่ปุ่น ลด 9.2% CLMV ลด 11.1% แต่อาเซียน 5 ประเทศ เพิ่ม 2.3% สหภาพยุโรป เพิ่ม 2.2% ตลาดรอง ลด 3.1% เช่น เอเชียใต้ ลด 4.3% ทวีปออสเตรเลีย ลด 7.2% รัสเซียและกลุ่ม CIS ลด 46.4% แต่ตะวันออกกลาง เพิ่ม 23.7% ทวีปแอฟริกา เพิ่ม 14.7% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 1.5% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 6.1% และตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 17.4% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 18.6%

ทางด้านการค้าชายแดนและผ่านแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในตัวเลขการส่งออกรวม เดือนม.ค.2566 การค้ารวมมีมูลค่า 146,166 ล้านบาท ลดลง 3.68% แยกเป็นการส่งออก มูลค่า 71,670 ล้านบาท ลดลง 6.44% และนำเข้า มูลค่า 68,499 ล้านบาท ลดลง 0.61% โดยส่งออกชายแดน ไปมาเลเซีย กัมพูชาและเวียดนาม ลดลง แต่ส่งออกไปสปป.ลาว เพิ่มขึ้น และการส่งออกผ่านแดนไปจีน สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น แต่เวียดนาม ลดลง

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ได้มีการหารือกับภาคเอกชนในกลายกลุ่มสินค้า ประเมินเหมือนกันว่าการส่งออกในข่วงครึ่งปีแรก 2566 จะชะลอตัว และลดลง แต่ครึ่งปีหลัง การส่งออกจะกลับมาขยายตัวดีขึ้น และยังมั่นใจว่าเป้าหมายการส่งออกที่ตั้งไว้ที่ 1-2% จะยังคงใช้เป็นเป้าในการทำงาน โดยจะเพิ่มกิจกรรมบุกเจาะตลาดที่มีโอกาสมากขึ้น เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ CLMV รวมถึงตลาดจีน ที่มองว่ามีโอกาสส่งออกสูง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่วาว่า การนำเข้าในเดือนม.ค.2566 มีมูลค่า 24,899.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.5% โดยปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น มาจากการนำเข้าน้ำมันที่สูงขึ้น โดยมีมูลค่า 5,262 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 84% หรือคิดเป็นสัดส่วน 21% ของมูลค่าการนำเข้ารวม และมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค.2565 ที่ 77 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นเฉลี่ย 80.48 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนม.ค.2566 และมีการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบสัดส่วนประมาณ 60% ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกในระยะต่อไป

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมาตั้งแต่เดือนก.ย.2565 ทำให้การส่งออกตั้งแต่ต.ค.2565 จนถึงม.ค.2566 ชะลอตัวลงตาม และคาดว่าจะลดลงต่อเนื่อง ในไตรมาส 1 ส่วนไตรมาส 2 ยังมีปัจจัยที่ไม่รู้อีกเยอะมาก ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน ยุโรป สงครามจะยืดเยื้อหรือไม่ ค่าเงินเป็นยังไง แต่เชื่อว่าจะดีกว่าไตรมาส 1 และคาดว่าครึ่งปีหลังจะดีขึ้น โดยตอนนี้ ปัญหาเรื่องการขนส่ง ค่าระรางเรือ ไม่มีแล้ว ตู้มีเพียงพอ ค่าระวางกลับสู่ระดับปกติ และต่ำกว่าก่อนโควิด-19 ก็มี ส่วนค่าเงินบาท ตอนนี้ 35 บาทบวกลบ ก็เป็นตัวช่วยให้ส่งออกมีแต้มต่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า การส่งออกในเดือนม.ค.2566 ที่ขยายตัวติดลบ 4.5% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน นับจากเดือนต.ค.2565 ที่ลบ 4.4% พ.ย.2565 ลบ 6% และธ.ค.2565 ลบ 14.6% และมีมูลค่าต่ำสุดในรอบ 23 เดือน ส่วนการนำเข้าที่สูงขึ้น ทำให้ยอดขาดดุลการค้ามีมูลค่า 4,649.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นยอดขาดดุลที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ภูมิธรรม' ถกทูตเช็ก ชวนลงทุน EEC พร้อมดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ตลาดยุโรป

ภูมิธรรมหารือทูตเช็ก ชวนลงทุน EEC ดันซอฟต์พาวเวอร์ มวยไทย อาหารไทย พร้อมเร่งเจรจา FTA ไทย-อียู สร้างรายได้ให้ประเทศ

พาณิชย์ตรวจเข้ม การขนย้ายมันสำปะหลังและสินค้าเกษตรที่ควบคุม เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่เกษตรกร

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตามที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ได้มีนโยบายให้กรมการค้าภายใน

สนค. เผยอาเซียนเนื้อหอม แนะเร่งเตรียมพร้อมทุกมิติ ดึงลงทุนในไทย

สนค. เผยว่า FDI ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยปี 2565 ไทยมีมูลค่า FDI เป็นอันดับที่ 5 ของภูมิภาคอาเซียน หดตัวร้อยละ 31.5 ขณะที่มูลค่า FDI ของภูมิภาคอาเซียนขยายตัวร้อยละ 4.6 ซึ่งแนวโน้มการลงทุนในไทยยังมีทิศทางที่ดีจากการขยายตัวถึงร้อยละ 72 ของยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2566 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ พร้อมแนะให้เร่งส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก ลดอุปสรรค ขยายคู่ FTA

“นภินทร“ หนุน ASEAN BAC ไทย ขับเคลื่อนการค้าดิจิทัล ยกระดับอาเซียนรับการค้ารูปแบบใหม่ ย้ำ

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมการหารือของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ASEAN BAC