กรุงไทยจับตาส่งออกปีนี้ร่วงหนัก โชคดีท่องเที่ยวฟื้น อุ้มศก.ไทยโต 3.4%

28 มี.ค. 2566 – เศรษฐกิจปี 2566 กำลังเผชิญความท้าทายที่ชัดเจนมากขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของเครื่องยนต์หลักจากการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวไปสู่ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่า Krungthai COMPASS ได้คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 โดยคาดว่าจะเติบโตได้ที่ 3.4% แต่การเปลี่ยนผ่านของแต่ละเครื่องยนต์หลักได้กระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวมมากกว่าที่เคยประเมินไว้ในเดือน ธ.ค. 2565 และมีความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น โดยภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการผลักดันให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตต่อเนื่องนั้น คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาถึงระดับ 27.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดไว้เพียง 22.5 ล้านคน แต่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะชะลอตัวผ่านการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสกลับมาหดตัวถึง -1.6% รุนแรงกว่าที่เคยประเมินไว้ว่าจะเติบโตได้เล็กน้อยที่ 0.7% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่องของธนาคารกลางทั่วโลก

และมีความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงมากกว่าคาด สะท้อนจากการปิดตัวลงของธนาคารพาณิชย์บางแห่งในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) จากการขาดสภาพคล่องเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการส่งออกสินค้าเป็นหลัก นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านท่ามกลางภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งต้นทุนทางการเงินและต้นทุนราคาสินค้า รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งยังคงเป็นความท้าทายที่ยังคงมีต่อเนื่อง

การท่องเที่ยวฟื้นตัวดันเศรษฐกิจไทยให้โตเร่งขึ้น

การท่องเที่ยวเติบโตชัดเจนและมีแนวโน้มดีกว่าที่เคยประเมินไว้ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวเร็วกว่าคาด นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้นถึงเดือนละ 2 ล้านคน ในช่วงเดือน ม.ค. และ ก.พ. 2566 เป็นผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวชัดเจน โดยจำนวนเที่ยวบินเดือน ม.ค.-ก.พ. ฟื้นตัวมาสู่ระดับ 71.9% เมื่อเทียบกับปี 2562 เป็นผลจากเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ฟื้นตัวมาที่ระดับ 61.4% ของปี 2562 หรือขยายตัว 69% เทียบกับจำนวนเที่ยวบินเฉลี่ยในปี 2565 นอกจากนี้อัตราการเข้าพักแรมทั่วประเทศในเดือนม.ค. 2566 ปรับดีขึ้นต่อเนื่องมาสู่ระดับ 71.4% เมื่อเทียบกับความสามารถในการรองรับทั้งหมด ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ชัดเจนของภาคการท่องเที่ยวและเป็นเครื่องยนต์หลักที่จะช่วยให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตได้ต่อเนื่อง

Krungthai COMPASS ประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเข้าไทยมากถึง 27.1 ล้านคน สูงกว่าประมาณการเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 22.5 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวหลายสัญชาติที่ฟื้นตัวเร็วโดยเฉพาะยุโรปที่มีแนวโน้มฟื้นตัวไปถึงระดับ 80% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 ซึ่งสูงกว่าประมาณการเดิมที่คาดไว้เพียง 50% ประกอบกับนักท่องเที่ยวชาวจีนทยอยเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นจนกลายมาเป็น Top 5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงต้นปี และคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ส่งผลให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 1.7% ของจีดีพี จากทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อหัวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ภาคการท่องเที่ยวมีความเสี่ยงด้านบวกที่อาจฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด (Best case) โดยจำนวนนักท่องเที่ยวอาจเติบโตเร่งขึ้นเร็ว เนื่องมาจากความต้องการท่องเที่ยวของนักเดินทางที่ถูกอัดอั้นมานานถึง 3 ปี นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ซึ่งมีโอกาสทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวอาจเติบโตได้เร่งขึ้นกว่ากรณี Base case ที่ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการเดินทางของจีนที่อาจทำให้นักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและมากกว่าคาด Krungthai COMPASS คาดว่าในกรณี Best case นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 อาจเพิ่มสูงถึง 29.6 ล้านคน และจะสร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวมากถึง 1.4 ล้านล้านบาท

การส่งออกสินค้าหดตัว ฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจ

ส่งออกสินค้าของไทยหดตัวหนักในช่วงไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มหดตัวต่อในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยการหดตัวในไตรมาสที่ผ่านมาเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวทำให้ความต้องการสินค้าลดลงสะท้อนจากการส่งออกด้านปริมาณที่หดตัว โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง และ อัญมณีและเครื่องประดับ ประกอบกับมาตรการ Zero-COVID ของจีนได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าบางประเภท เช่น เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ และยางพารา เป็นต้น สำหรับการส่งออกในปีนี้มีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีทิศทางที่ปรับดีขึ้นบ้าง โดยข้อมูลล่าสุดในเดือน ม.ค. การส่งออกหดตัว -4.5%YoY น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ธ.ค. -14.6%YoY โดยสินค้าที่มีทิศทางดีขึ้น เช่น ยางพารา และเครื่องใช้ไฟฟ้า หลังจากการผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID ของจีน และอุปสงค์ของสินค้าบางชนิดกลับมาเพิ่มขึ้น หลังจากทิศทางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวน้อยกว่าคาด สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของโลกที่ทยอยปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับเปราะบาง ขณะที่ สินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์ที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 7.2% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดกำลังเผชิญกับวัฏจักรขาลงทำให้หดตัวสูงถึง -21.2%YoY ในเดือน ม.ค. และมีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่อง

Krungthai COMPASS ประเมินว่า การส่งออกปีนี้มีแนวโน้มหดตัว -1.6%YoY จากอุปสงค์ของสินค้าในตลาดโลกที่ยังอ่อนแอโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

ส่งออกมีความเสี่ยงอาจหดตัวมากกว่าคาดจากความต้องการสินค้าเปลี่ยนไปสู่ภาคบริการมากขึ้นหลังจากยุคโควิด และเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การส่งออกสินค้าของไทยเคยเติบโตได้ดีในปี 2564 ส่วนหนึ่งจากอานิสงส์ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดทยอยคลี่คลาย ความต้องการสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าที่มีอายุการใช้งานได้นานจึงเริ่มลดลงหลังจากมีการเร่งใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าไปมากในช่วงก่อนหน้านี้ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าหลายประเทศในเอเชียหดตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปี 2565 โดยเฉพาะไต้หวันและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ สอดคล้องกับยอดคำสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์ของโลกที่แสดงถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังอยู่ในช่วงวัฏจักรขาลงซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อภาคการส่งออกอย่างน้อยครึ่งปี นอกจากนี้การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในหลายประเทศยังได้ซ้ำเติมให้ความต้องการจับจ่ายใช้สอยในด้านสินค้าเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาคบริการมากขึ้น

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่าในกรณีเลวร้าย (worse case) การส่งออกมีแนวโน้มหดตัวสูงถึง -6% อุปสงค์โลกที่แผ่วลงนอกจากจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าแล้วยังส่งผลกระทบต่อการลดระดับสินค้าคงคลังของผู้ผลิตลง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง