'คลัง' ฟุ้งจัดเก็บ 7 เดือนแจ่มธนาคารโลกแนะขึ้น VAT

“คลัง” ฟุ้งจัดเก็บรายได้ 7 เดือน ปีงบประมาณ 2566 เกินกว่าเป้าหมาย 8.9% มั่นใจทั้งปีผลงานฉลุย แจงมาตรการอุ้มราคาน้ำมันคุมเงินเฟ้ออยู่ มองทั้งปีกดเหลือไม่เกิน 3% ด้าน “ธนาคารโลก” แนะปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า หนุนขึ้น VAT – ขยายการจัดเก็บภาษีที่ดิน – ขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา – ลดเงื่อนไขการลดหย่อน ช่วยปั้มรายได้ภาครัฐรองรับการเติบโตระยะยาว

30 พ.ค. 2566 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศาในงานเปิดตัวรายงานเรื่อง “การประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย : การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน” จัดโดยธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ พบวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และข้อขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยในภาวะที่ยากลำบากดังกล่าว ต้องยอมรับว่ารายได้ของภาครัฐก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน มีผลสำคัญต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นจะต้องมีมาตรการผ่อนปรนทางด้านภาษี เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 สำหรับรายบุคคลและภาคธุรกิจ ดังนั้นจึงเป็นปัญหากับรายได้ของรัฐบาลในช่วงปี 2563-2564

ทั้งนี้ ในภาวะที่ยากลำบากดังกล่าว รัฐบาลจำเป็นต้องรับมือกับการป้องกันโควิด-19 ด้วยการกระตุ้นให้ประชาชนฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาการบริโภคภายในประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไป ซึ่งตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าโควิด-19 จะยืดเยื้อนานแค่ไหน การบริหารจัดการทั้งหมดจึงค่อนข้างลำบาก เพราะต้องรับมือกับทั้ง 2 ส่วน แต่ก็เป็นสิ่งที่โชคดีว่าประชากรส่วนมากของไทยได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง และรัฐบาลได้เริ่มกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการออกมาตรการต่าง ๆ อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่ง รวมถึงมีการดึงเทคโนโลยีเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้

โดยหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มดีขึ้น ภาคธุรกิจและรายได้ของรัฐบาลเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ การจัดเก็บรายได้มีการฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2565 และคิดว่าในปีงบประมาณ 2566 ภาพรวมการจัดเก็บรายได้จะดีขึ้นกว่าช่วงโควิด-19 อย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลก็ตาม โดยภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-เม.ย. 66) สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.4% และสูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 8.9% ทำให้มั่นใจว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2566 จะทำได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน

นายอาคม กล่าวอีกว่า หลังจากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างทั่วถึงในระยะถัดไป คือ การเพิ่มสวัสดิการให้กับประชากรกลุ่มเปราะบาง การส่งเสริมการลงทุนในอนาคต โดยกระทรวงการคลังจะต้องผลักดันนโยบายการคลังเชิงรุก ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องเดินหน้านโยบายการเงินที่รอบคอบต่อไป และบริการจัดการเศรษฐกิจมหภาคให้เข้มข้นมากขึ้น ประสานนโยบายให้ทั่วถึง

นอกจากนี้ มีประเด็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งพิจารณา คือ ราคาพลังงานที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้วางมาตรการช่วยเหลือที่ตรงเป้า ผ่านการอุดหนุนเงินในวงกว้าง แต่ต้องยอมรับว่าการอุดหนุนใช้งบประมาณค่อนข้างเยอะ แต่ก็สามารถรักษาระดับราคาขายและรักษาอัตราเงินเฟ้อได้ ผลที่เกิดขึ้น คือ คาดว่าในปี 2566 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 3% อย่างแน่นอน ส่วนในอนาคตนโยบายการอุดหนุนต่าง ๆ จะต้องถอนตัวออกมา เพราะในระยะปานกลางรัฐบาลมุ่งหวังที่จะใช้นโยบายการคลังแบบรัดเข็มขัด โดยได้มีการกลับมาทบทวนและวางกรอบนโยบายการคลังระยะปานกลาง ปี 2567-2570 โดยในปี 2567 ตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณ 3% และลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ที่คาดว่าจะลดลงจาก 61.78% ในปี 2568 เป็น 61.25% ในปี 2570 และตามรายงานของธนาคารโลกที่นำเสนอเรื่องการปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า เมื่อนำแต่ละวิธีมารวมกันจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ของรัฐให้ดีขึ้นราว 3.5%

นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีความเท่าเทียมและยืดหยุ่นมากขึ้นได้โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ การเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ และการใช้นโยบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและนโยบายที่เกี่ยวกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยธนาคารโลกพร้อมให้การสนับสนุนการปฏิรูปทางการคลังของประเทศไทยเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้
ซึ่งในระยะยาว การรับมือกับภาระทางการคลังที่จะเกิดจากการใช้จ่ายที่จำเป็น พร้อมกับบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่มีความยั่งยืนนั้น จะต้องอาศัยการจัดเก็บรายได้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ผ่านการปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า อาทิ การขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และยกเลิกการยกเว้นต่าง ๆ การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและลดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีและการหักค่าใช้จ่าย การขยายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยให้มีการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการปฏิรูปเหล่านี้จะส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมและเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บรายได้ภาครัฐเพื่อรองรับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการปฎิรูปด้านภาษีมีผลต่อผู้มีรายได้น้อยและคนยากจนสามารถรับการทดแทนโดยนโยบายและมาตรการช่วยเหลือทางสังคมต่าง ๆ ซึ่งยังส่งผลให้สถานะทางการคลังของรัฐบาลดีขึ้นด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชป. ซัดรัฐบาล 'เศรษฐา' หมดสภาพ ขาดความเชื่อมั่น

“ชนินทร์” ปชป. ซัดรัฐบาล “เศรษฐา” หมดสภาพ ขาดความเชื่อมั่น ประจานไร้น้ำยา และจริยธรรม เหตุประมาณการ GDP ถูกปรับลด เตือนรากหญ้าตาย รายใหญ่ไปไม่รอด ประเทศหายนะ

'เวิลด์แบงก์' หั่นจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 3.4%

“เวิลด์แบงก์” หั่นจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 3.4% ชี้การฟื้นตัวยังตามหลังประเทศอื่นในอาเซียน ส่งออกชะลอ ลุ้นท่องเที่ยว-บริโภคเอกชนช่วยประคอง ห่วงหนี้สาธารณะพุ่งกดดันการลงทุนภาคสาธารณะและเอกชน

ธนาคารโลกเคาะจีดีพีไทยโต 3.9% ห่วงอลวนการเมืองถ่วงลงทุนภาครัฐชะงัก!

“ธนาคารโลก” เคาะเศรษฐกิจไทยปี 2566 โตสะพรั่งที่ 3.9% อานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้นตัว ส่งออกยังอ่วมพิษเศรษฐกิจโลกชะลอ มองฟื้นตัวได้แต่ยังรั้งท้ายอาเซียน ห่วงการเมืองไม่นิ่งถ่วงลงทุนภาครัฐชะงัก ระบุมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานทำนโยบายการคลังเข้าสู่สมดุลล่าช้า บิดเบือนกระบวนการเงินเฟ้อ