เปิดเส้นทาง 'NPS' ปรับโมเดลธุรกิจเพิ่มไลน์ 'จัดการ' พื้นที่อุตสาหกรรม บริการพลังงาน Go green ครบวงจร

ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการดำเนินโครงการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ floating solar farm จนได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดแบบผสมผสานป้อนโรงงานอุตสาหกรรมได้ติดอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS เตรียมปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และพร้อมเดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในปีหน้า ในฐานะบริษัทผู้ผลิตพลังงานสะอาด และบริหารจัดการอย่างครบวงจรให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สนใจจะลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสวนอุตสาหกรรม 304 ที่ปราจีนบุรี

นายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ NPS เปิดเผยว่า สามารถประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมายในการดำเนินโครงการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ floating solar farm ระยะที่ 1 ขนาด 60 MW ที่ อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี โดยมีแผนผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในช่วงไตรมาสที่ 4/2566 และอยู่ระหว่างการติดตั้งระยะที่ 2 ขนาด 90 MW โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในไตรมาสที่ 1/2567 จะทำให้บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโครงการ floating solar farm รวม 150 MW ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

“ปัจจุบัน NPS มีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 770 MW โดยเป็นการผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) จำนวน 433 MW และเมื่อรวมกับกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 150 MW จะทำให้บริษัทสามารถผลิตพลังงานสะอาดแบบผสมผสาน (Solar  Biomass Hybrid Power Generation) ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของลูกค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

Megatrends กำหนดทิศทางธุรกิจ

สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีอันทันสมัย ประกอบกับสัญญาประชาคมในการดำเนินธุรกิจที่ต้องใส่ใจต่อปัญหาโลกร้อน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ทิศทางการดำเนินธุรกิจพลังงานได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถไฟฟ้าหรือ EV ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การต้องพึ่งพาพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งระบบเก็บกักพลังงานที่ถูกลงจากดิจิทัลเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ทุกธุรกิจต้องขับเคลื่อนให้ทันกับแนวทางความต้องการของผู้บริโภคด้วย ซึ่งนายโยธินกล่าวว่า NPS มั่นใจว่าเดินมาถูกทางแล้วกับการพัฒนาและเพิ่มกำลังผลิตพลังงานสะอาด และเพื่อบริหารธุรกิจอย่างครบวงจร

NPS ยังได้ร่วมมือกับสวนอุตสาหกรรม 304 (304IP) จัดตั้งบริษัทบริหารจัดการสวนอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนา 304IP อย่างบูรณาการ พร้อมกับการเสริมศักยภาพหน่วยงานการตลาดและการขายพื้นที่ เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงเพิ่มการให้บริการเพื่อช่วยประสานงานให้การจัดตั้งโรงงานและการดำเนินงานของผู้ประกอบการใน 304IP เป็นไปอย่างราบรื่น

นับเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจที่เริ่มต้นจากการเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าเป็นหลักเพื่อขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และขายไฟฟ้าให้รายย่อยในภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การเป็นบริษัทผู้ให้บริการจัดหาพื้นที่เพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมพร้อมกับให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน

 นายโยธินกล่าวว่า การที่จำนวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มาลงทุนสร้างโรงงานผลิตสินค้าในสวนอุตสาหกรรม 304 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามสภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงกระแสการย้ายฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกไปประเทศจีน ไต้หวัน และประเทศในทวีปยุโรปมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ความต้องการไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นด้วย การปรับโครงสร้างธุรกิจในครั้งนี้ทำให้เรามั่นใจในการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะนอกจากการดูแลจัดหาพื้นที่ตั้งโรงงานตามโจทย์ของลูกค้าแล้ว ทาง NPS ยังป้อนพลังงานไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำดิบที่มีคุณภาพและเสถียรภาพแก่ลูกค้าอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรอีกด้วย ซึ่งวิสัยทัศน์และประสบการณ์ทั้งหมดจะเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนให้ NPS เติบโตไปได้อย่างมั่นคงในระยะยาว

โมเดลธุรกิจ..สู่ความยั่งยืน

      นายชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการและกรรมการบริหารความเสี่ยง NPS เปิดเผยเพิ่มเติมถึงการปรับโมเดลธุรกิจในครั้งนี้ ว่าสามารถสรุปได้คือ 1.ขยายบทบาท NPS เป็นผู้บริหารการตลาดและการขายพื้นที่ใน 304IP เพื่อขยายฐานลูกค้าอุตสาหกรรม 2.ปรับปรุงเครื่องจักรและระบบปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะเทคโนโลยีต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง สามารถให้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม 3.เพิ่มพลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอุตสาหกรรมด้วยการติดตั้ง floating solar farm 150 MW และปรับปรุงโรงไฟฟ้า 7, 8 เพื่อเพิ่มการใช้ Biomass แทนถ่านหิน 4.ปรับโครงสร้างการบริหารงาน เน้นธรรมาภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ 5.ขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก เช่น เหมืองถ่านหิน และโรงงานผลิตเอทานอลออกไป

      “มั่นใจว่า ลูกค้าอุตสาหกรรมที่เราตั้งเป้าไว้จะขยายตัวขึ้น เพราะเรามีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการที่จะทำเรื่องมาร์เก็ตติ้งเอง ทำเรื่องการขายพื้นที่เอง จะได้ดึงลูกค้าเข้ามาในนิคมฯ ซึ่งช่วงนี้เป็นจังหวะที่ดี เพราะว่าตอนนี้มีการย้ายถิ่นฐานการผลิตจากจีน จากไต้หวัน หรือแม้แต่ในยุโรปมาในเอเชีย มีเยอะ เพราะเรื่องของการกีดกันทางการค้าบ้าง ภาษีบ้าง เราก็ได้ประโยชน์จากตรงนั้นเยอะ ซึ่งจุดแข็งของเราคือ เราให้บริการที่ครบวงจร มีทั้งน้ำ มีไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพราะโลก Go green energy โรงงานที่เข้ามาหาเราเพราะเราสามารถให้พลังงานสะอาดกับเขา ไม่ใช่เฉพาะไฟฟ้า น้ำ แม้กระทั่งไอน้ำ เราผลิตมาจากกรีนเอนเนอร์จี เขาก็สามารถนำไปเคลมเป็นคาร์บอนเครดิตได้ หรือเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ในจุดนั้น นี่เป็นจุดขายของเรา” นายชายน้อยกล่าว

สำหรับเป้าหมายระยะยาว คือ การนำหุ้น NPS เข้าตลาดหลักทรัพย์ IPO ภายในปี 2567 ในฐานะของการเป็นบริษัทผู้ให้บริการพื้นที่และสาธารณูปโภคพื้นฐานครบวงจร และเป็นบริษัทผู้ให้บริการพลังงานสะอาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สามารถรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นบริษัทที่มีฐานลูกค้าอุตสาหกรรมที่่มีศักยภาพและมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

      ส่วนแนวทางการเติบโตของธุรกิจในอนาคตนั้น นายชายน้อยกล่าวว่า จะมีการพัฒนาโครงการโรงงานไฟฟ้า IPP ก๊าซธรรมชาติขนาด 560 MW พัฒนาโรงไฟฟ้า 12 แทนโรงไฟฟ้า 6, 11 เพื่อขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากน้ำยางดำ ขยายการผลิตโรงไฟฟ้า BEA และขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ รวมทั้งมีพื้นที่เชื่อมต่อกับแนวท่อก๊าซของ ปตท. เพื่อขยายกำลังผลิตไฟฟ้าในอนาคตตามความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

      โมเดลธุรกิจที่มีการวางแผนกลยุทธ์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง โดยมีจุดแข็งจากพื้นฐานธุรกิจดั้งเดิมเป็นจุดขาย สามารถพิสูจน์ทราบความสำเร็จและการเจริญเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตได้ ทั้งนี้เห็นได้จากผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2566 NPS โชว์รายได้จำนวน 5,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2565 ถึง 1,108 ล้านบาท หรือร้อยละ 24 โดยร้อยละ 66 ของรายได้ทั้งหมดมาจากลูกค้าอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลือมาจากการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. และผลจากการควบคุมคุณภาพและความชื้นของเชื้อเพลิงอย่างเข้มงวด อีกทั้งบริหารความเสี่ยงจากการผันผวนของราคาเชื้อเพลิงถ่านหินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิไตรมาส 1/2566 สูงถึง 619 ล้านบาท ..ฉะนั้น เส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืนของ NPS นับว่าน่าสนใจอย่างมองข้ามไม่ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

DAD ศึกษาปั้น “พลังงานสะอาด” เพิ่มทางเลือกป้อนศูนย์ราชการฯ

DAD เตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ “ก๊าซไฮโดรเจน” ผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ ขยายผลจากพลังงานแสงอาทิตย์ หวังความคุ้มค่าในระยะยาว

“อว. For EV” เดินหน้า 23 หน่วยงาน MOU “ศุภมาส” ประกาศขับเคลื่อนประเทศสู่ Go Green

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนนโยบาย อว. For EV ของ 23 หน่วยงานสังกัดกระทรวง อว. เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปเป็น EV HUB

ตีปี๊บแต่ไก่โห่! เศรษฐาชูผลงานประชุมอาเซียน-ออสเตรเลีย

นายกฯ สรุปผลสำเร็จการเดินทางร่วมประชุมอาเซียน-ออสเตรเลีย ไทยผลักดันความเชื่อมโยง และการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และสัญญาจะร่วมมือกับภูมิภาค

มช. เปลี่ยนการเผาเป็นพลังงานสะอาด พัฒนาชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทดแทนการใช้ถ่านหิน ลดมลพิษ เพิ่มโอกาสแก่ชุมชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ เดินทางไปยังอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่เพื่อสาธิตวิธีการใช้เครื่องต้นแบบ Torrefactor และ Pyrolyzer นำทีมโดย ศาสตราจารย์ ดร.นคร ทิพยาวงศ์