
28 ส.ค. 2566 – ด้วยหนี้สะสมจำนวนมหาศาลกว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.ต้องเร่งเดินหน้าแผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2566-2570 หรือแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อมุ่งเน้นการวางแผนธุรกิจเพื่อหารายได้จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ โดยเฉพาะการใช้ระบบทางคู่ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งภายใต้แผนนี้ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน, ยุทธศาสตร์ที่ 2 พลิกฟื้นธุรกิจหลัก อาทิ ขยายการขนส่งสินค้าในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ, บริการจัดหาขบวนรถโดยสารเพื่อลดการขาดทุน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาและสร้างรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งระบบราง โดยจะเร่งสร้างรายได้จากการบริหารสัญญาเช่าทรัพย์สินและขยายธุรกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้ รวมถึงพัฒนารูปแบบการสร้างรายได้เสริม (Non-core), ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับรูปแบบธุรกิจสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระบบราง โดยต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานระบบทางคู่, ยุทธศาสตร์ที่ 5 ปฏิรูปองค์กรให้สอดคล้องกับการฟื้นฟู และ ยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนาระบบรางด้วย BCG Model และนวัตกรรมสีเขียว
เร่งพัฒนาที่ดินเพิ่มรายได้
ทั้งนี้ ภายใต้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวนั้น ภายหลังจากดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการ รฟท.ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ รวมไปถึงการจัดตั้งบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด หรือ SRTA บริษัทลูก เพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ อนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการ รฟท. ระบุว่า การพัฒนาที่ดินเป็นหนึ่งในภารกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับการรถไฟ แต่ด้วยความที่ รฟท.ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง จึงต้องตั้งบริษัทลูกขึ้นเพื่อเป็นผู้พัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพซึ่งมี 28 แปลง
โดยพื้นที่ที่จะเร่งดำเนินการคือใน พื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ซึ่งอยู่รอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ขณะนี้ได้มีการศึกษาวางผังแม่บท (Master Plan) การพัฒนาจะนำร่องพัฒนาพื้นที่แปลง A, แปลง E และแปลง G ก่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจ้างบริษัทที่ปรึกษา คาดว่าจะสรุปผลศึกษาได้กลางปี 2566 และนำเสนอบอร์ด SRTA จากนั้นจะทำเรื่องขอเช่าพื้นที่ต่อจาก รฟท.ตามขั้นตอน ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี 2567
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนกันยายน 2566 ทางผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นได้เชิญผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่มีความสนใจในการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาดูพื้นที่ ดูแผนงานที่ รฟท.กำลังพัฒนา ได้แก่ แปลง A แปลง E รวมถึงพื้นที่แปลงบางซื่อทั้งหมด เนื่องจากที่ผ่านมา รฟท.เคยไปเป็นโรดโชว์มาครั้งหนึ่ง ทางผู้ประกอบการญี่ปุ่นให้ความสนใจในลักษณะของความร่วมมือ คือ กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงที่ดิน และการขนส่งของรัฐบาลญี่ปุ่น
“การศึกษาแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่ย่านบางซื่อแบบบูรณาการ จำนวน 2,325 ไร่ โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ซึ่งแบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2565, ปี 2570 และปี 2575 (ตามลำดับ) ประเมินวงเงินลงทุนไว้กว่า 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าการพัฒนาพื้นที่แปลง A+E+G ออกประมูลพร้อมกันจะมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 6 หมื่นล้านบาทแน่นอน โดยมีแนวคิดในการรวมแปลง A มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท และแปลง E มูลค่า 4.6 หมื่นล้านบาทเข้าด้วยกัน เพราะอยู่ติดสถานีบางซื่อและมีศักยภาพสูง เพื่อจูงใจนักลงทุน” อนันต์ กล่าว
อนันต์ กล่าวว่า ส่วน พื้นที่บริเวณสถานีแม่น้ำ พื้นที่ขนาดใหญ่ 277 ไร่ ติดแม่น้ำ รฟท.มีเป้าหมายพัฒนาให้เป็นไฮไลต์จุดใหม่ของกรุงเทพมหานครที่ผสมผสานกับพื้นที่สีเขียว แต่พื้นที่นี้มีข้อจำกัดในเรื่องทางเข้า-ออก ต้องหารือกับทางกรมธนารักษ์ในการเปิดพื้นที่ของกรมธนารักษ์ที่อยู่ในโซนเดียวกันเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ
พื้นที่ขอนแก่น มีพื้นที่ประมาณ 128 ไร่ และ 80 ไร่ที่ขอนแก่นสำหรับการพัฒนาเชิงพาณิชย์เหมือนกัน เร็วๆ นี้จะมีที่ธนบุรี 21 ไร่ กำลังทำอยู่ และมีกาญจนบุรี ทางหัวหินต่อสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว มี 2 ส่วน ในส่วนของสนามกอล์ฟยังไม่ได้ดำเนินการ ยังอยู่ระหว่างการเขียนแผนงาน และส่วนของโรงแรมเซ็นทรัล หัวหิน ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีที่ดินบริเวณ พื้นที่มักกะสัน ซึ่งเดิมเป็นโรงงานซ่อมรถไฟ แต่ล่าสุดมีแผนที่จะย้ายไปอยู่ที่เขาชีจรรย์ จ.ชลบุรี
“เราต้องการเร่ง 28 แปลงนี้ให้เกิดการเช่าพื้นที่และมูลค่าการก่อสร้างในพื้นที่อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนฟื้นฟูที่เร่งหารายได้จากทรัพย์สินที่มีอยู่ ซึ่งการรับรู้รายได้ในปัจจุบันกว่า 3 พันล้านบาท เก็บจริงจะมีรายได้ประมาณสองพันกว่าๆ เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาก็มีหลายบริษัทที่ขอยื่นขยายเวลา และต้องยอมรับว่าหลายๆ แปลงยังพัฒนาไปไม่ได้ เช่น พื้นที่บางซื่อแปลนชั้นในก็จะมีสัญญาเดิมอยู่ส่วนหนึ่ง” อนันต์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าหาก รฟท.สามารถส่งต่อการดำเนินงานให้ SRTA ได้เร็ว SRTA จะสามารถนำที่ดินนั้นๆ ไปพัฒนาได้เร็ว และสามารถสร้างรายได้ให้ รฟท.ได้เร็วด้วยเช่นกัน โดยที่ดินแปลงใหญ่นั้นจะมีการศึกษา ประเมินมูลค่าวงเงินลงทุน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับศักยภาพและปัจจัยที่แตกต่างกันไปของที่ดินแต่ละแปลง ส่วนรายได้ที่ รฟท.จะได้รับเป็นส่วนของผลตอบแทนในการลงทุนที่จะประเมินตลอดอายุสัญญา หลักๆ จะอยู่ประมาณ 30% ของมูลค่าการลงทุน ซึ่งจะทยอยจ่ายเป็นรายปี ดังนั้นหากเปิดประมูลได้เร็ว รฟท.จะรับรู้รายได้เร็ว
เดินหน้าทางคู่เฟส 2
ดังนั้น นอกจากเร่งแผนการพัฒนาที่ดินเพื่อสร้างรายได้แล้ว การปรับปรุงและพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง อนันต์ กล่าวว่า ในปี 2567 รฟท.จะเร่งเดินหน้าโครงการทางคู่ ระยะที่ 2 ซึ่งจะช่วยเติมเต็มในส่วนที่ขาดไปของ รฟท.ทั้งหมด รวมถึงผลักดัน โครงการก่อสร้างทางรถไฟแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) เส้นนี้สร้างยากมากเนื่องจากต้องผ่านทุ่งใหญ่นเรศวร ดังนั้นจึงต้องปรับแบบใหม่และขออนุมัติคณะรัฐมนตรี หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อได้ทุกภาค เพราะปัจจุบันระบบรางเหนือใต้ครบแล้ว แต่ขาดเพียงการเชื่อมตะวันออกตะวันตก หากสำเร็จจะเพิ่มศักยภาพในด้านการขนส่งระบบรางให้กับประเทศ
“การพัฒนาทางคู่นั้นช่วยเพิ่มศักยภาพในด้านการแข่งขัน เป้าหมายอันดับแรกคือการเพิ่มความเร็วเฉลี่ยของรถโดยสารจากปัจจุบันประมาณ 55-60 กม./ชม. อัปขึ้นไปได้ประมาณ 100 กม./ชม. และรถสินค้าประมาณ 25-35 กม./ชม. เพิ่มเป็น 55-60 กม./ชม. ทำให้ระยะเวลาการเดินทางจากต้นทางกรุงเทพฯ ไปปลายทางลดลง ประหยัดเชื้อเพลิงค่อนข้างสูง ต้นทุนลดลง” อนันต์ กล่าว

สำหรับแผนการลงทุนในปี 2567 นั้น อนันต์ กล่าวว่า แผนลงทุนหลักๆ ของปีหน้าแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ทางคู่เฟส 2 จะเป็นกลุ่มปรับขยายจากหนองคาย จากขอนแก่นขึ้นไปหนองคาย ซึ่งเส้นทางนี้ต้องรีบดำเนินการเนื่องจากเป็นเส้นทางสายใหม่ การก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ รวมถึงการแก้ปัญหาคอขวดระหว่างปากน้ำโพไปเด่นชัย นอกจากนี้ต้องเร่งสร้างทางคู่ในส่วนของอีสานตอนใต้ คือ เชื่อมตั้งแต่นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ เพื่อต่อไปที่อุบลราชธานี ถือเป็นทางเดี่ยว ส่วนทางใต้ก็ได้มาครึ่งทาง ก็คงจะลงไปที่ทุ่งสง ซึ่งหลังจากที่ล่าสุดเราประชุมกับรถไฟมาเลเซียก็มีความเป็นไปได้ รถไฟมาเลเซียก็ให้ความสนใจที่จะใช้โครงข่ายรางของเราในการขนส่งสินค้าระหว่างมาเลเซียผ่านไทยเข้าไปลาวและออกไปจีน
นอกจากนี้ รฟท.กำลังมองที่จะขยายธุรกิจไปในกลุ่มของการขนส่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการจับมือกับพันธมิตรบริษัทขนส่งสินค้า หรือกลุ่มโลจิสติกส์ โดยมีแนวคิดจะทำระบบรางให้เป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม ซึ่งต้นปีหน้าจะได้เห็นโปรดักต์ที่เราจะทำเรื่องวัสดุหีบห่อ โดย รฟท.จะมีการบริหารจัดการ จัดส่งวัสดุหีบห่อทางรถไฟผ่านแอปพลิเคชัน มั่นใจ รฟท.สามารถบริหารจัดการได้ง่ายและไม่ต้องลงทุน เรามีไปรษณีย์ไทยอยู่หัว ท้ายเรามีแกร็บ จะสามารถขยายได้ ปีหน้าจะมีโปรดักต์เหล่านี้ซึ่งกำลังดำเนินการ เรียกว่า เอสอาร์ทีเอ็กซ์เพลส ซึ่งได้เริ่มทดลองแล้วในเส้นทางภาคใต้
อนันต์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการพัฒนาระบบรางทั้งรถไฟความเร็วสูง ระบบทางคู่ รวมถึงการหารายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้นยังไม่สามารถล้างหนี้ได้ เนื่องจาก รฟท.มีหนี้ค่อนข้างเยอะ ติดลบประมาณปีละเกือบหมื่นล้าน แก้หนี้ 2 แสนล้านบาทนั้นคงเป็นเรื่องยาก แต่การพัฒนาระบบรางและรถไฟความเร็วสูงสองเส้นทางเป็นจุดหนึ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่พัฒนาในพื้นที่ของ รฟท.คนเดียว แต่พื้นที่รอบข้าง หน่วยงานรอบข้างก็จะได้ประโยชน์จากจุดนั้น รวมถึงต้องมองบริบทของการขยายรถไฟความเร็วสูงต่อจากโคราชไปหนองคายเพื่อต่อกับจีนด้วย ตอนนี้คงไม่ได้มองบริบทเดียวในการขนส่งผู้โดยสาร บริบทของการเริ่มที่จะมาสนับสนุนขนส่งสินค้าต้องมีบทบาทเพิ่มมากยิ่งขึ้น เราก็พยายามผลักดันเรื่องนี้เพื่อเสนอแผนให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา
ตอนนี้ระบบรางเองทั้งประเทศเรามีส่วนร่วมในมาร์เก็ตอยู่ไม่เกิน 2% ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ถนน สิ่งที่จะตามมาคืออุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนของเราเป็นอันดับหนึ่งของโลก เพราะเราใช้ระบบรางน้อย สิ่งที่ดำเนินการมาทั้งหมดเราคาดหวังว่าเราจะเข้ามาเสริมตรงนี้ให้เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการเดินทางมากยิ่งขึ้น เรื่องของโปรดักต์ใหม่ๆ ต้องดำเนินการ ระยะเวลาการเซอร์วิสที่จะดีมากๆ ยิ่งขึ้นกับแผนโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลได้ลงทุนให้
ดังนั้น รฟท.มีแผนที่จะขยายขอบเขตการขนส่งสินค้า ประกอบกับ กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ มีการพัฒนาร่วมกับเอกชนในการกำหนดแผน เพื่อพิจารณาร่วมกันในการเดินเส้นทางรถไฟต่อไปในพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญ โดยรัฐบาลได้เตรียมแผนเอาไว้ซึ่งใกล้เคียงกับแผนของการรถไฟฯ หากแผนเหล่านี้ได้รับการอนุมัติจะเพิ่มทางรถไฟไปอีกไม่กี่กิโล ก็สามารถเชื่อมโยงกับทางรถไฟหลักของ รฟท.ได้ และจะเห็นโอเปอเรเตอร์หรือเอกชนที่มีศักยภาพอยู่มาใช้ระบบรางมากยิ่งขึ้น อันนี้คือเป้าหมายสูงสุดของ รฟท.ที่จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนไปสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รฟท.เพิ่มขบวนรถพิเศษ 12 ขบวนสาย ’เหนือ-อีสาน‘ รับคนเดินทางช่วงปีใหม่
รฟท. แจ้งเพิ่มขบวนรถพิเศษ 12 ขบวน สายเหนือ-อีสาน รองรับคนเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ เน้นความปลอดภัย ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง เปิดจองตั๋ว 28 พ.ย.นี้ พร้อมตั้งศูนย์ปลอดภัยฯ รองรับการเดินทางของประชาชน
โยงเก่ง! ‘สมชัย’ หนุนออกข้อสอบจองตั๋วรถไฟ ตอบไม่ไปเงินดิจิทัลไม่ออก
สมชัย บอกออกเป็นข้อสอบ ONET ปีนี้น่าจะได้ ทะเบียนบ้านอยู่ลำปาง แต่ทำงานอยู่ปราณบุรี หากต้องการกลับบ้านช่วงสงกรานต์ปี 2567 เพื่อไปใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท
เช็กด่วน รฟท.แจ้งหลักเกณฑ์ผู้โดยสารจองตั๋วล่วงหน้า 90 วัน
‘การรถไฟฯ’ แจ้งขยายเวลาเปิดจองตั๋วล่วงหน้า 90 วัน นำร่องขบวนรถชุด 115 คัน จำนวน 8 ขบวน เริ่มให้บริการวันที่ 20 พ.ย. 2566 เป็นต้นไป
รฟท. เร่งทางคู่สายใหม่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’ ลุ้นเปิดใช้ปี 71 ปิดตำนาน 60 ปี ที่รอคอย
‘การรถไฟฯ’เร่งสร้างทางคู่สายใหม่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’มูลค่า 8.5 หมื่นล้าน คืบหน้า 3% เดินหน้าเวนคืนที่ดินครบ 100% ก.พ. 67 ส่วน ‘อุโมงค์แม่กา’เชื่อม 2 จังหวัด เสร็จแล้ว 17.8% คาดทั้งโครงการเสร็จพร้อมเปิดใช้ในปี 71 จุดพลุ 60 ปีที่รอคอย เชื่อมต่อการเดินทาง ลดต้นทุนโลจิสติกส์ หนุนการท่องเที่ยว
แทนตำรวจรถไฟ 'รฟท.' เคาะงบ 34 ล้านดูแลความปลอดภัยผู้ใช้บริการ
บอร์ด รฟท. เคาะงบ 34 ล้าน จ่ายเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความปลอดภัยผู้โดยสารรถไฟ หลังตำรวจรถไฟถูกยุติบทบาท รฟท. การันตีผู้โดยสารอุ่นใจในการใช้บริการ ได้มาตรฐานเหมือนเดิม ลุยติดตั้งกล้องCCTV เสริมมาตรการดูแลความปลอดภัย