"ออมสิน" ปรับพอร์ตสินเชื่อเพื่อโลก ปักหมุดNet Zeroทั้งระบบในปี 2050

12 ก.ย. 2566 – จากสภาวะเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของโลก “ธนาคารออมสิน” ธนาคารเพื่อการออมของประชาชน ที่ได้ขยายไปสู่การให้สินเชื่อเพื่อภาคธุรกิจรายย่อย ล่าสุดได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในการปรับพอร์ตใหม่นำธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมการธนาคารออมสิน นำโดย นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้มีมติอนุมัติ “แผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” หรือ Net Zero Emissions Roadmap ใน 3 Scope ภายในปี 2050 ประกอบด้วย Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมันและ LPG, Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า และ Scope 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการทำธุรกิจธนาคาร เช่น การให้สินเชื่อและการลงทุน

โดยในอีก 7 ปีข้างหน้าตั้งเป้า Net Zero สำหรับ Scope 1 และ 2 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธนาคารจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ขณะที่ Scope 3 ที่เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าและการลงทุน ธนาคารจะดำเนินการคู่ขนานจนสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมลงได้มากกว่า 50% ภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050

สำหรับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ต้องจัดการเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 คือ 1.72 ล้าน tCO2e โดย Scope 1 ที่ 15,308 tCO2e ขณะ Scope 2 ที่ 32,194 tCO2e การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า และ Scope 3 ที่ 1.68 ล้าน tCO2e การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากการให้สินเชื่อ

ทั้งนี้ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินธุรกิจของธนาคารออมสินกว่า 97% มาจากการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าและการลงทุน (Scope 3) ซึ่งมีการจัดเก็บและคำนวณได้จากวิธีการตามมาตรฐาน Science-Based Target Initiative ที่เป็นสากล โดยนับจากนี้ไปธนาคารได้กำหนดแผนงดการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจเชื้อเพลิงถ่านหินและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (No Coal and Coal Related Business) และเริ่มการใช้ ESG Score ในการประเมินคุณสมบัติด้าน ESG ของลูกค้าวงเงินสินเชื่อ 500 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งผลคะแนน ESG Score จะถูกนำมาประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ 

โดยธนาคารจะมอบส่วนลดดอกเบี้ย หรืออนุมัติเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้เป็นพิเศษกว่าลูกค้าทั่วไป เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับว่าธนาคารออมสินเป็นผู้ริเริ่มนำเอา ESG Score มาใช้ประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อเงื่อนไขพิเศษเป็นธนาคารแรกของประเทศ โดยธนาคารได้จัดกลุ่มธุรกิจที่จะสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1. Exclusion List หรือ ธุรกิจที่ไม่สนับสนุน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง เช่น ธุรกิจถ่านหินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน 2. Negative List หรือ ธุรกิจที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ โดยหลีกเลี่ยงการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่มีคะแนน ESG Score ในระดับต่ำมาก โดยธนาคารจะเข้าทำ Positive Engagement กับลูกค้าเพื่อช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาในการปรับปรุงดำเนินงานด้านความยั่งยืน รวมทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งระบบ

และ 3. Positive List หรือ ธุรกิจที่ให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ ผ่านการกำหนดสิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ส่งเสริม BCG ธุรกิจ EV และ Supply Chain หรือกิจการบริษัทที่มีคะแนน ESG Score ในระดับสูง จะลดวงเงินดอกเบี้ย ให้สินเชื่อในกรอบวงเงินที่สูงกว่าบุคคลทั่วไป เป็นต้น

สำหรับ “เกณฑ์การประเมิน ESG Score” ได้แก่ “E” แผนการจัดการก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมาย Net Zero/Carbon Neutral การลดการปล่อยของเสีย มลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม พัฒนาความสามารถในการผลิต การใช้พลังงานหมุนเวียน และการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด

“S” การจัดการความปลอดภัยในการทำงาน การพัฒนาและมีส่วนร่วมกับชุมชน การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน การพัฒนาทรัพยากรบุคคล การจัดการด้านแรงงาน เตรียมความพร้อมต่อการขาดแคลนแรงงาน และมีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนด้านแรงงาน คุณภาพสินค้า และ “G” นโยบายการต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างเป็นธรรมนอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ และโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดโดยติดตั้ง Solar Rooftop ภายในสำนักงานใหญ่และ 900 สาขาภายในปี 2568 ผลักดันการเปลี่ยนจากใช้รถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์อีวีในธุรกิจธนาคาร และติดตั้งจุดชาร์จรถยนต์อีวี เปลี่ยน 100% ในกรุงเทพฯ ภายใน 3 ปี ต่างจังหวัดภายใน 5 ปี รวมถึงการปลูกป่าทดแทนป่าเสื่อมโทรมและการอนุรักษ์ป่า เพื่อเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนที่สำคัญ และช่วยพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบ เป็นต้น

โดยเป้าหมายใน “ปี 2030” จะต้องไม่มีบริษัทที่ทำธุรกิจถ่านหินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในสินเชื่อและการลงทุน, 35% สินเชื่อโครงการไฟฟ้า เป็นพลังงานสะอาด, 40% สินเชื่อบริษัทจดทะเบียนต้องกำหนดเป้าหมาย Net Zero 2050, มีใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด, การปลูก อนุรักษ์ป่ารวม 50,000 ไร่ ในปี 2033 และมีการประกาศนโยบายเพิ่มเติม คือ ไม่ลงทุนเพิ่มในบริษัทจดทะเบียนที่ทำธุรกิจ Oil & Gas (การลงทุนหุ้นและหุ้นกู้) และให้บริษัทจดทะเบียนกำหนดเป้าหมาย Net Zero 2050

ขณะที่+*เป้าหมายใน “ปี 2040” ต้องไม่มีบริษัทจดทะเบียนที่ทำธุรกิจ Oil & Gas, 60% สินเชื่อโครงการไฟฟ้าเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด และ 100% บริษัทจดทะเบียนกำหนดเป้าหมาย Net Zero 2050 ส่วนการประกาศนโยบายเพิ่มเติมออมสินจะไม่ให้สินเชื่อเพิ่มในบริษัทจดทะเบียนที่ทำธุรกิจ Oil & Gas ไม่ให้สินเชื่อเพิ่มในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เชื้อเพลิงฟอสซิล และไม่ให้สินเชื่อเพิ่มในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้รับรอง Green Building และบรรลุตามเป้าหมายใน “ปี 2050” เป็น Green & Clean Portfolios คือเป็นพลังงานสีเขียวและสะอาดทั้งหมด

สำหรับ“กลยุทธ์สู่การเป็น Net Zero” ในธุรกิจธนาคาร ออมสินวาง 8 กลยุทธ์ ประกอบด้วย 1.จัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก โดยคำนวณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของธนาคาร 2.ตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนและท้าทาย 3.สนับสนุน Sustainable Finance เช่น Green loan สนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

4.ปรับพอร์ตธนาคาร โดยยุติการสนับสนุนเงินทุนให้กับธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนสูง และเพิ่มการลงทุนในกลุ่ม Green & sustainability 5. Engagement กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยการสื่อสารเป้าหมาย Net Zero สนับสนุนการลดผลกระทบจาก Climate Chang 6.ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีมาตรการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานสะอาด 7. Partnership ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้าน Climate Change และ 8.การมีส่วนร่วมของพนักงาน โดยการให้ความรู้ สนับสนุนการปฏิบัติที่ยั่งยืนในการทำงาน

นอกจากนี้ออมสินยังมี “โครงการด้านสิ่งแวดล้อม” จัดสรรงบประมาณสำหรับธนาคารออมสินภาคทั่วประเทศ ได้แก่ การจัดการแก้ไขปัญหาขยะ จัดการน้ำ การติด Solar power system การป้องกัน ลดปัญหาภัยธรรมชาติ ตัวอย่างโครงการ เช่น ติดตั้งโซลาร์เซลล์ส่องสว่างพื้นที่ชุมชน ระบบพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับประปาหมู่บ้าน ธนาคารขยะเพื่อชุมชนต้นแบบ SDG Station เป็นสถานีจัดการขยะอินทรีย์ มีเครื่องอัดก้อนขยะรีไซเคิล และอัดปุ๋ยเม็ด ปุ๋ยแท่ง เครื่องสับย่อยขยะ เครื่องร่อนมูลไส้เดือน เครื่องผลิตก๊าซชีวภาพ 500 กรัมต่อวัน ปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง เพื่อจัดการใบไม้และกิ่งไม้ ปุ๋ยที่ผลิตได้นำไปปลูกผักอินทรีย์และจำหน่ายสร้างรายได้ มีโรงเรือนปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนเพื่อทำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนแบบราง

การจัดการเศษอาหาร ใบไม้และกิ่งไม้ ปุ๋ยที่ผลิตได้นำไปปลูกผักอินทรีย์และจำหน่ายสร้างรายได้ มีการทำโรงเรือนปลูกผักอินทรีย์จำนวน 4 เรือน เพื่อนำปุ๋ยหมักที่ได้มาปลูกผักอินทรีย์นำมาแบ่งปันให้กับเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาและจำหน่ายสร้างรายได้ ผลผลิตจากฟาร์มสู่โต๊ะอาหารและระบบปลูกผักผสมผสานระบบโซลาร์เซลล์ เป็นการขยายผลในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปลูกผักอินทรีย์โดยนำเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้ามาใช้ในการปลูกผัก ได้แก่ ระบบสูบน้ำเพื่อรดน้ำแปลงปลูกผักและระบบไฟฟ้าแสงสว่าง โดยโครงการนี้ได้เริ่มขยายผลงานพัฒนาสู่พื้นที่อื่นๆ แล้ว

นอกจากนี้ ยังมี “โครงการธนาคารปูม้า” ซึ่งมีชาวประมงเข้าร่วมโครงการถึง 2,706 ราย ประโยชน์จากโครงการนี้เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เพิ่มรายได้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและยังมีโครงการบ้านปลารักษาทะเลไทย วางปะการังเทียม รวมระยะทาง 5,725 เมตร ประโยชน์จากโครงการนี้ในด้านสิ่งแวดล้อม จะได้ปะการังสมบูรณ์และประเภทสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ในด้านเศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มรายได้ประมงพื้นเมือง และด้านสังคม เป็นการใช้เวลาร่วมกันของครอบครัวชาวประมงพื้นบ้าน ทำให้ครอบครัวมีความมั่นคง โดยจะมีผู้รับประโยชน์เป็นประชาชน 2,000 ครัวเรือนในพื้นที่ชายฝั่งทะเล อ.เมืองฯ จ.ปัตตานี

ทั้งนี้ การนำองค์กรและภาคธุรกิจสู่สีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ แผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions Roadmap ที่ขณะนี้ออมสินได้เริ่มดำเนินการแล้ว และคาดว่าจะสามารถบรรลุได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2050 นี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ออมสิน' จับมือตำรวจร่วมแก้ไขหนี้นอกระบบ

นางจันทนา พุทธชัยยงค์ ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 2 นำทีมธนาคารออมสินในพื้นที่ร่วมออกบูธในกิจกรรม "ตลาดนัดแก้หนี้ กองบังคับการตำรวจนครบาล 5"

รัฐผนึกเอกชน จัดมหกรรมด้านพลังงานสุดยิ่งใหญ่! SustainAsia Week 2024

ภาครัฐจับมือภาคเอกชนจัดงานยิ่งใหญ่ SustainAsia Week 2024 มหกรรมพลังงานที่ยั่งยืนภายใต้แนวคิด “Low Carbon & Sustainable ASEAN Economy” ผนึกกำลังจัด 5 งานควบคู่กัน ระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคม 2567