เคาะแผน 3 ปีเอาสารสื่อสารลงดินประเดิมปี 65 โฟกัส 456 กม. ในกรุงเทพ

สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ กฟน. กฟภ. เเละ กทม. กำหนดแผนจัดระเบียบสายสื่อสาร 3 ปี แบ่งหน้าที่ชัดเจน ตั้งเป้าจัดระเบียบสายกรณีเร่งด่วนในพื้นที่ กทม. ปี 65 ระยะทางประมาณ 400 กม. ส่วนแผนการจัดระเบียบสายตามแผนตั้งเป้าปีละ 2,000 กม. ในต่างจังหวัด

20 ธันวาคม 2564 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (20 ธ.ค. 2564) สำนักงาน กสทช. ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนของ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อกำหนดแผนบูรณาการการจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันในการกำหนดแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศ รวมถึงการนำสายสื่อสายลงใต้ดิน ภายในระยะเวลา 3 ปี (2565-2567) แบ่งเป็น 1.การจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปี 2565 ระยะทาง 456 กิโลเมตร หลังจากนั้นดำเนินการส่วนที่เหลืออีก 936 กิโลเมตร 2.การจัดระเบียบสายสื่อสารตามแผนการจัดระเบียบสายสื่อสาร ซึ่งจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยได้กำหนดรายละเอียดเส้นทางจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสำหรับปี 2565-2567 ไว้รวมระยะทาง 6,000 กิโลเมตร หรือ ประมาณ ปีละ 2,000 กิโลเมตร และจะได้มีการหารือในรายละเอียดของแต่ละเส้นทางอีกครั้งหนึ่ง

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการหารือในหลักการจัดให้มีการใช้ผู้ให้บริการโครงข่ายเพียงรายเดียว (Single Last Mile) เป็นผู้ดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารเพื่อลดการซ้ำซ้อน อันจะเป็นประโยชน์ในการจัดระเบียบสายสื่อสารของประเทศ จากนั้นที่ประชุมยังเห็นชอบในการแบ่ง ภารกิจและอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน เพื่อใช้ศักยภาพของทุกหน่วยงานร่วมกันผลักดันให้แผนการจัดระเบียบสายสื่อสารประสบผลสำเร็จ ดังนี้ 

การไฟฟ้านครหลวง : กำกับดูแลการพาดสายสื่อสาร กำหนดเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำกับการจัดระเบียบสายสื่อสาร ในพื้นที่รับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวง

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค : กำกับดูแลการพาดสายสื่อสาร กำหนดเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำกับการจัดระเบียบสายสื่อสาร ในพื้นที่รับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

กรุงเทพมหานคร : อำนวยความสะดวกการจราจรในพื้นที่การจัดระเบียบสายสื่อสาร และประสานงานกับตำรวจ ดูแลและอนุญาตการใช้พื้นที่ทางเท้า รวมถึงการทำความเข้าใจกับประชาชน

และ สำนักงาน กสทช. : กำหนดเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานงานกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และกำกับการจัดระเบียบสายสื่อสาร

รักษาการเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณในการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสาร สำนักงาน กสทช. ได้ขอความอนุเคราะห์ให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่าย ตามภารกิจหน้าที่ โดย การไฟฟ้านครหลวง รับผิดชอบในเรื่องค่าอุปกรณ์แขวนสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รับผิดชอบในเรื่องค่าอุปกรณ์แขวนสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าในพื้นที่ต่างจังหวัด กรุงเทพมหานคร รับผิดชอบในเรื่องการจัดหาพื้นที่ในการพักสายสื่อสารที่รอการกำจัดซาก และการอำนวยความสะดวกในการจัดระเบียบสายสื่อสาร ส่วนสำนักงาน กสทช. รับผิดชอบเรื่องค่ารื้อถอนสายสื่อสาร และค่ากำจัดซากสายสื่อสาร

ตามแผนการที่ได้ร่วมกันกำหนดขึ้นในวันนี้ รวมถึงการแบ่งภารกิจหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน พร้อมทั้งความร่วมมือของทุกหน่วยงานน่าจะทำให้การดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารที่จะเริ่มดำเนินการตามแผนในปีหน้า ประสบผลสำเร็จได้เป็นอย่างดี ซึ่งข้อสรุปที่ได้จากการประชุมในวันนี้ สำนักงานฯ จะรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบถึงความคืบหน้าต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซุ้มประตู'มังกร' แลนด์มาร์กใหม่ไชน่าทาวน์

ซุ้มประตูจีน ถือเป็นแลนด์มาร์กแสดงอาณาเขตของไชน่าทาวน์หรือพื้นที่ของชุมชนชาวจีนทั่วโลก แน่นอนว่า ในประเทศไทยมีชุมชนชาวจีนอยู่แทบจะทุกพื้นที่ เกิดไชน่าทาวน์ขึ้นในหลายจังหวัด

ถนนทรุด! หลุมใหญ่กว้าง 10 เมตร ปิดสะพานเกษะโกมล ซ่อมด่วน

เกิดเหตุถนนทรุดตัว บริเวณคอสะพานเกษะโกมล ถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กทม. เป็นหลุมขนาดใหญ่กว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 5 เมตร และลึก 3 เมตร เจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจรชั่วคราว

เข็มเหล็ก จับมือ กทม. เครือข่ายมหาวิทยาลัย เสริมความปลอดภัยด้วย “FLEXITREE” ค้ำยันต้นไม้ใหญ่ ลดความเสี่ยง-อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ถ.วิทยุ

บริษัท เข็มเหล็ก จำกัด ร่วมกับสำนักงานเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สมาคมรุกขกรรมไทย และมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ (กลุ่มบิ๊กทรี) ติดตั้งค้ำยันต้นไม้ FLEXITREE BY KEMREX