คมนาคม การันตี มี.ค.65 พร้อมให้บริการระบบตั๋วร่วมแตะรถไฟฟ้าสายสีม่วง-น้ำเงิน-แดงรถเมล์-เรือ-ทางด่วน สั่ง การบ้าน ทล.เพิ่มช่องทางลงทะเบียน M-Flow เพิ่มเติม
24 ธ.ค.2564-นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินตามแผนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วม ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ร่วมกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย จะนำบัตรเครดิต หรือเดบิต (Europay Mastercard and Visa : EMV) มาใช้ในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมในรถไฟฟ้ามหานคร MRT สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และรถไฟชานเมือง สายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่าจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการได้ภายในเดือน มี.ค.65 ซึ่งรองรับการใช้งานในรถโดยสารประจำทาง ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด, ระบบเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า และทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ด้วย
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าการพัฒนา และเปิดให้บริการระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ของกรมทางหลวง (ทล.) และ กทพ. โดย ทล. ติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบ M-Flow บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 จำนวน 4 ด่าน ได้แก่ ด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 และด่านธัญบุรี 2 แล้ว อยู่ในช่วงทดสอบเสมือนจริง และได้เปิดให้ผู้ใช้ทางลงทะเบียนสมัครสมาชิกระบบ M-Flow แล้ว เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2564 มีผู้ลงทะเบียนระบบ M-Flow สำเร็จ 20,363 คน จากจำนวนผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 25,244 คน รวมทั้งได้ให้สิทธิพิเศษสำหรับผู้ลงทะเบียนสมัครใช้งานระบบ M-Flow จำนวน 1 แสนสิทธิแรก สามารถวิ่งผ่านทางฟรี 2 เที่ยว ขณะนี้ยังมีสิทธิคงเหลือจำนวน 79,637 สิทธิ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธ.ค.64)
สำหรับลูกค้า M-Pass ที่ลงทะเบียนใช้บริการผ่านระบบ M-Flow และเลือกชำระเงินด้วยบัญชี M-Pass ผ่านช่องทางที่กำหนดจะได้รับโบนัสค่าผ่านทาง 100 บาท ซึ่งคณะกรรมการบริหารเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง ทล. มีมติเห็นชอบให้มีการนำเงินค่าธรรมเนียมที่เก็บได้มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมให้สิ่งจูงใจในการใช้ระบบ M-Flow โดยการให้ส่วนลด 20%
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ใช้ระบบ M-Flow แล้ว ในส่วนของ กทพ. ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตั้งระบบ M-Flow ระยะที่ 1 บนทางพิเศษ (ทางด่วน) ฉลองรัช ที่ด่านนำร่อง 3 ด่าน (จตุโชติ สุขาภิบาล 5-1 และสุขาภิบาล 5-2) โดยได้ติดตั้งอุปกรณ์แล้วเสร็จบางส่วน และเริ่มดำเนินการติดตั้งโครงป้ายคร่อมช่องจราจร (Gantry) ที่ด่านนำร่องแล้ว คาดว่าจะจัดจ้างงานบริหารจัดการระบบฯ ได้ภายในเดือน ม.ค.2565 จากนั้นจะติดตั้ง และทดสอบระบบภายในเดือน ก.พ.-มี.ค.2565
นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินการ และมีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะเพื่อการดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วมของคณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมองค์กร และคณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและการจัดสรรรายได้ ดังนี้ ด้านเทคนิค
1. ให้ รฟม. จัดทำระบบตั๋วร่วมในรูปแบบผูกกับบัญชีที่ระบุตัวตนผู้โดยสาร (Account Based Ticketing :ABT) กลาง ตามแนวทางการพัฒนาของระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงในช่วงแรก และทำหน้าที่บริหารจัดการระบบตั๋วร่วมในช่วงการเปลี่ยนถ่ายระบบ หลังจากนั้นให้โอนถ่ายระบบไปยังหน่วยงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมกลาง
2 พัฒนามาตรฐานบัตร และหัวอ่าน (Reader) ในรูปแบบ ABT 3. ประเมินต้นทุนในการปรับปรุงระบบของผู้ให้บริการ (Operator) ต่างๆ, ด้านอัตราค่าโดยสารและนโยบาย 1. เส้นทางที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานที่กำกับดูแลโดยกระทรวงคมนาคม (รฟม./รฟท.) ให้เจรจาปรับใช้โครงสร้างอัตราตั๋วร่วม 2. เส้นทางที่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานให้พิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขสัญญา หรือประมูลให้สอดคล้องกับโครงสร้างอัตราใหม่ 3. เส้นทางที่อยู่ระหว่างการวางแผน และการศึกษา ให้ปรับปรุงและพิจารณาการวิเคราะห์ และวางแผนโครงการในอนาคต โดยคำนึงถึงโครงสร้างอัตราตั๋วร่วม 4. พิจารณาแนวทางในการจัดสรรรายได้ค่าโดยสาร และเก็บค่าบริหารระบบกลางในสัญญาต่างๆ 5. ติดตามการดำเนินการร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ให้เป็นไปตามกรอบข้อเสนอแนะคณะอนุกรรมการฯ
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 1.ให้ ทล. พิจารณาเพิ่มช่องทางลงทะเบียนระบบ M-Flow และพิจารณากำหนดแนวทาง วิธีการ ขั้นตอน และแบบฟอร์ม ให้กระชับ และสะดวกต่อการลงทะเบียนของผู้ใช้บริการมากขึ้น 2.ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกับ ทล. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ร่วมกับผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้บริการระบบ M-Flow เพื่อให้เข้ามาลงทะเบียนระบบ M-Flow มากยิ่งขึ้น 3.ให้ กทพ. ถอดบทเรียนการดำเนินงานของ ทล. เพื่อปรับปรุงแนวทางการลงทะเบียนระบบ M-Flow และการให้บริการให้ตอบโจทย์กับผู้ใช้บริการมากขึ้น 4.ให้ บมจ.ธนาคารกรุงไทย พิจารณาความเหมาะสมในการนำระบบ EMV มาใช้กับทางด่วนว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้ให้ กทพ. พิจารณาแผนการดำเนินงานการติดตั้งระบบ EMV และระบบ M-Flow ให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อมิให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับการเก็บค่าผ่านทางพิเศษไปสู่ระบบ M-Flow ทั้งหมด 5.ให้ สนข. ทบทวนร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ที่ได้มีการศึกษาไว้แล้วว่าสามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้หรือไม่ ก่อนนำเสนอ คนต. ในการประชุมครั้งต่อไป 6.ให้คณะอนุกรรมการฯ จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เกี่ยวกับปัจจัยแห่งความสำเร็จในการพัฒนาระบบตั๋วร่วม เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานให้เกิดเป็นรูปธรรม 7.จัดตั้งองค์กรกลางเพื่อบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ให้ศึกษาตัวอย่างจากประเทศที่ประสบความสำเร็จมาเป็นต้นแบบในการดำเนินงาน
8.ให้ สนข. ร่วมกับคณะอนุกรรมการฯ ศึกษามาตรฐานหลักเกณฑ์โครงการระบบขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (MRT Assessment Standardisation) ให้เหมาะสม และเป็นปัจจุบัน 9.ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปและ 10. ให้ สนข. และคณะอนุกรรมการฯ ดำเนินการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนเป็นระยะ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นายกฯอิ๊งค์' ควง 3 รมต. ช่วยน้ำท่วมเชียงราย ห่วงทะลักอีสาน สั่ง มท. เร่งดูแล
'นายกฯอิ๊งค์' ควง 'กลาโหม-คมนาคม-มหาดไทย' บินเชียงรายช่วยน้ำท่วม ก่อนถกกลางอากาศ เร่งอพยพคนพ้นพื้นที่เสี่ยงทันที สั่ง มท. กำกับใกล้ชิดอีสาน