ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับฟื้นตัว 5 เดือนติด แนะผู้ประกอบการโฟกัสสินค้ารักษ์โลก

ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเดือน ม.ค.67 มูลค่า 696.96 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 21.53% ฟื้นตัว 5 เดือนติด หากรวมทองคำมีมูลค่า 1,166.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 59.09% เผยแนวโน้มส่งออกยังดี แต่ต้องจับตานโยบายการเงินคู่ค้า ผลกระทบสงคราม เลือกตั้งสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีน แนะผู้ประกอบการโฟกัสสินค้ารักษ์โลก ตรวจสอบที่มาได้ เหตุผู้บริโภคสนใจ หลายประเทศคุมเข้ม ล่าสุดเซ็นสมาคมอัญมณีแห่งฮ่องกง รับรองมาตรฐานตรวจสอบ FeiCui และคอรันดัม

11 มี.ค. 2567 -นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน ม.ค.2567 มีมูลค่า 696.96 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.53% ฟื้นตัวต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวดีขึ้น ภาวะเงินเฟ้อโลกที่เริ่มชะลอตัวลง และกระทรวงพาณิชย์มีการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือด้านการค้าอัญมณี แสวงหาคู่ค้ารายใหม่ ส่งผลให้มีการส่งออกได้เพิ่มขึ้น และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,166.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 59.09%

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 10.71% อิตาลี เพิ่ม 0.42% ฮ่องกง เพิ่ม 62.17% เยอรมนี เพิ่ม 21.97% อินเดีย เพิ่ม 66.18% เบลเยียม เพิ่ม 82.11% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 8.04% กาตาร์ เพิ่ม 903.39% ญี่ปุ่น เพิ่ม 17.29% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 7.65%  

ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 30.18% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 35.99% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 6.70% พลอยก้อน เพิ่ม 4.78% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน 10.10% พลอยเนื้ออ่อนจียระไน เพิ่ม 29.25% เพชรก้อน เพิ่ม 215.75% เพชรเจียระไน เพิ่ม 5.93% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 17.12% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า เพิ่ม 11.87% และทองคำ เพิ่ม 194.17% ซึ่งเป็นการส่งออกไปเก็งกำไร จากราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

นายสุเมธกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2567 แม้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว เศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัว แต่ยังอาจเผชิญความท้าทายอีกหลายประการ ทั้งนโยบายการเงินที่ตึงตัวนานกว่าที่คาด สงครามอิสราเอลและฮามาสอาจขยายวงและมีประเทศผู้นำในภูมิภาคเข้ามาร่วม การเลือกตั้งสำคัญที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ ทำให้เกิดการแบ่งขั้วและกระทบห่วงโซ่การผลิต ล้วนเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

สำหรับการขับเคลื่อนการส่งออกในปีนี้ มีข้อแนะนำผู้ประกอบการ ต้องไม่ลืมการโฟกัสในเรื่องสินค้ารักษ์โลกและที่มาสินค้าที่โปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะไม่เพียงแต่ผู้บริโภคที่ให้ความสนใจ หลายประเทศเริ่มมีมาตรการตรวจสอบและกฎระเบียบเข้ามาควบคุม เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญต่อช่องทางออนไลน์ที่ไม่เพียงต้องใช้งานง่าย สะดวก มีความน่าสนใจ และเลือกแพลตฟอร์มที่เข้าถึงผู้บริโภคแล้ว ยังต้องมีการผนวกลูกเล่นจากเอไอ เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมกับลูกค้าที่กำลังให้ความสนใจเทคโนโลยีนี้ด้วย เพราะการทำตลาดไม่ใช่แค่การผสานทั้งออนไลน์และการขายหน้าร้านอีกแล้ว แต่ต้องสามารถยกระดับประสบการณ์ทางการตลาดไปอีกขั้น จึงมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและก้าวไปข้างหน้าได้

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด GIT ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับสมาคมอัญมณีแห่งฮ่องกง ในการร่วมกันรับรองมาตรฐานการตรวจสอบหยก FeiCui และคอรันดัม ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และร่วมกันโปรโมตมาตรฐานพลอยสีของไทย ซึ่งจะช่วยในการค้าขายหยก FeiCui และคอรันดัม ระหว่างไทย-จีน ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และส่งเสริมให้การซื้อขายขยายตัวได้เพิ่มขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘รัฐบาล’ โอ่ประสบความสำเร็จ ขับคลื่อนการส่งออก ‘อัญมณี–เครื่องประดับ’

โฆษกรัฐบาล เผย รัฐประสบความสำเร็จ ขับคลื่อนการส่งออกอัญมณี – เครื่องประดับ เติบโตต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มาถูกทาง เห็นผลเป็นรูปธรรม